×

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ มอบ 5 แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแก่รัฐบาลใหม่ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีอาเซียน

08.05.2023
  • LOADING...
ศุภชัย เจียรวนนท์

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน ‘โค้งสุดท้ายเลือกตั้งสภาดิจิทัลฯ ฝากโจทย์พรรคการเมืองชู Digital Transformation พลิกประเทศสู่ยุค 5.0’ พร้อมชู 5 แนวทาง 7 ข้อเสนอแนะให้แก่รัฐบาลใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ, การเข้าถึงแหล่งทุน (Inclusive Capital), การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digital Transformation), การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change), โลกแบ่งขั้ว (Multi Polar)

 

“หากเราดูจากอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 40 อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารอยู่อันดับที่ 15 ของโลก รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษอันดับที่ 97 นอกจากนั้นด้านการลงทุนพบว่าต่างประเทศลงทุนด้านเทคโนโลยีเหลือเพียง 2% ของมูลค่ารวมอาเซียน ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก” ศุภชัยกล่าว

 

5 แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 5.0

ศุภชัยยังระบุอีกว่า เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในระดับโลก คือนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0 โดยสภาดิจิทัลฯ ได้เสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้าน ที่จะเสริมศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ได้แก่

 

  1. บูรณาการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม (Public-Private-Partnership) โดยการยกระดับการทำงานของภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล (E-Government) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และผสานความร่วมมือในประเด็นที่คาบเกี่ยวกันหรือทับซ้อนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดความโปร่งใส เร่งดึงคนเก่งและคนดีเข้าสู่การทำงานภาครัฐในระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันให้ไทยสามารถขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

 

  1. สร้างคนทักษะดิจิทัล ผ่านการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งเป้า 6% ของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีทักษะดิจิทัลขั้นสูงภายในปี 2570 เนื่องจากแม้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ในปัจจุบันคนไทยที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูง (เขียนโปรแกรมได้) ยังมีเพียง 7 แสนคน หรือ 1% ในขณะที่มาเลเซียมีมากถึง 16% ซึ่งระดับทักษะดิจิทัลของคนในประเทศย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ, การวิจัย พัฒนานวัตกรรม, การวางแผนการพัฒนาบุคลากร และการดึงดูดการลงทุน
     
    ดังนั้นการแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยควรปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) เริ่มจากการวางวิชาพื้นฐานในระดับเยาวชนด้วยหลักสูตรด้านเทคโนโลยีในการศึกษาภาคบังคับ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก รวมทั้งผลักดันให้เยาวชนไทย 7 ล้านคนมีคอมพิวเตอร์ที่มีการคัดกรองเนื้อหาที่ดี เพื่อให้เข้าถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

 

  1. สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เนื่องจากปัจจุบันเรายังเป็นเพียงผู้ใช้และเป็นตัวกลางซื้อขายเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนนโยบายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับ SMEs สามารถก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นและเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการดิจิทัลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร (Agro/Food Security Hub) จึงควรยกระดับการเกษตร มีการทำ Agro Industry Transformation โดยใช้เทคโนโลยีอย่าง Smart Farming, Food Tech และ Digitalization มาช่วยบริหารการเพาะปลูก รวมทั้งการปรับระบบซัพพลายเชน ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ไทยในระดับโลก โดยผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับ 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสร้าง Soft Power สินค้า บริการ ท่องเที่ยว ตลอดจนเตรียมพร้อมด้าน Digital Infrastructure สำหรับรองรับวิถีดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม

 

  1. ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 โดยยกระดับ R&D สร้างเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัทในไทย เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการทำ Digital Transformation ได้เร็วขึ้น และทำให้เกิดการจ้างงาน Digital & Tech Workforce ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ประเทศไทยมีโอกาสดึงดูดนักลงทุนระดับโลกด้วยความพร้อมทางภูมิศาสตร์และความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีอยู่ เทคสตาร์ทอัพนับเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงาน อีกทั้งจำนวนสตาร์ทอัพยังเป็นเสมือนกระจกสะท้อนความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุน รัฐจึงควรตั้งเป้าหมายดึงดูดกองทุนหรือนักลงทุนระดับโลก (Big Boy) อย่างน้อย 3 ราย
     
    ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยควรสร้าง 5 Innovation Center ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care / Health Tech อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าเป็น Regional Innovation Hub หรือแหล่งการลงทุนและศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของภูมิภาค เราจะต้องพัฒนาศักยภาพการเป็น Innovation Cluster สำหรับผู้ประกอบการและนักวิจัยไทย ตลอดจนผลักดันนโยบายเร่งด่วน เพื่อดึงดูดการลงทุนและผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น Global Talents และ Digital Nomads พร้อมทั้งเร่งยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม โดยประสานพลังภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ให้ต่อยอดขยายผลเกิดการใช้งานจริงได้ในระดับโลก

 

  1. สร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางจำนวน 1 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมภายในปี 2566 อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล (Digital Vaccine) ความปลอดภัย และความรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ปัญหาของประเทศทุกมิติ โดยการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบ Green Economy ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อให้ต้นทุนพลังงานถูกลง จึงจะเกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ทั่วถึง และยั่งยืน
     
    นอกจากนี้ รัฐควรผลักดันนโยบายที่สนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์คุณภาพของไทย โดยการสร้างอัตลักษณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมไทย ที่ผสมผสานทั้งสื่อ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน และควรสนับสนุนคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ด้วยการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เช่น เงินทุนสนับสนุน ทำให้ประเทศสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมที่ดีงามไปกับเทคโนโลยี ถือเป็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของชาติให้ออกสู่เวทีโลก

 

สรุป 7 ประเด็นสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลถึงรัฐบาลใหม่

โดยภายใต้ 5 ข้อเสนอข้างต้น ประธานสภาดิจิทัลฯ จึงได้สรุปเป็น 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

 

  1. กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์หรือวิชาคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี

 

  1. ส่งเสริมสื่อและคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมในช่วงไพรม์ไทม์ ด้วยการให้ Incentive 

 

  1. ตั้งเป้าเทคสตาร์ทอัพ 20,000 บริษัท เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเพิ่มแรงงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แตะ 1 ล้านคน

 

  1. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand / สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 5.0

 

  1. ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%

 

  1. สร้าง 5 ศูนย์นวัตกรรมระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care / Health Tech

 

  1. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย 

 

สุดท้ายศุภชัยยังกล่าวว่า ตนมองว่าสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการมากที่สุดเพื่อขับเคลื่อนสู่ยุค 5.0 คือการตั้งบอร์ดแห่งชาติ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ยกระดับการทำงานภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีในภูมิภาค

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising