ถึงจะเป็นเรื่องที่หลายคนคาดเอาไว้อยู่แล้ว แต่การเคลื่อนไหวของเรอัล มาดริด ในการ ‘สอบถาม’ ถึงความเป็นไปได้ที่ลิเวอร์พูลจะยอมปล่อยตัว เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวหรือไม่ ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากพอสมควร
เพราะมันเป็นการยืนยันถึงสิ่งที่มีการพูดคุยกันว่า ถ้าจะมีหนึ่งทีมที่มีโอกาสจะกระชากแบ็กขวาสุดยอด Creator พรสวรรค์ไปจากลิเวอร์พูล เรอัล มาดริด น่าจะเป็นทีมนั้นทีมเดียว
ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความเคลื่อนไหวตามมาวุ่นวายไปหมด เพียงแต่ในรายละเอียดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเดอะค็อป แฟนของลิเวอร์พูล หรือไม่ ก็มีสิ่งที่อยากให้ทำความเข้าใจในดีลนี้อยู่เล็กน้อย
1. ด้วยรักและเงื่อนไขผูกพัน
เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เกิดเมื่อปี 1998 ปัจจุบันอายุ 26 ปี แต่เขาเข้าร่วมอะคาเดมีของลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2004 หรือตั้งแต่อายุ 6 ขวบยังไม่ 7 ขวบดี
ถ้านับตามตัวเลขปี เทรนต์อยู่กับสโมสรแห่งนี้มาร่วม 21 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าเกือบทั้งชีวิตเลยทีเดียว
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจากทีมเยาวชนในอะคาเดมี สู่การได้รับโอกาสเลื่อนชั้นสู่ทีมชุดใหญ่ ฟูลแบ็กที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้เล่นในตำแหน่งปีกและกองกลางต่อสัญญาฉบับสโมสรมาแล้วหลายครั้ง โดยสัญญาฉบับล่าสุดมีการต่อเมื่อปี 2021 เป็นระยะเวลา 4 ปีด้วยกัน
สิ่งที่เทรนต์พยายามบอกกับทุกคนในช่วงก่อนหน้านี้ – ซึ่งเริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวกับอุปสรรคในการต่อสัญญาที่ล่าช้า – คือทุกครั้งที่มีการเจรจาในเรื่องนี้ ทุกอย่างจะทำในทางลับ ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ต่อสาธารณะ
หลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ เทรนต์ไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้อีก แต่มีการแสดงออกบางอย่างในระหว่างเกมกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซึ่งมีข่าวจากสเปนว่าเรอัล มาดริด มั่นใจว่าจะได้ตัวเขามาร่วมทีมด้วยการทำท่า ‘มือซุบซิบ’
นัยหนึ่งก็เหมือนบอกว่า “อย่าไปสนใจข่าวลือ”
แต่บางคนก็บอกว่าทำไมมันเหมือนท่าฉลองประตูของ จูด เบลลิงแฮม กองกลางซูเปอร์สตาร์เรอัล มาดริด ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน
2. แกมาทำอะไรเอาตอนนี้?
หนึ่งในเรื่องที่ยากจะเข้าใจที่ให้ความรู้สึกเหมือนดากานดา ที่จู่ๆ ไอ้ไข่ย้อยก็นัดมาบอกรักหลังเวลาผ่านมาเนิ่นนานจนต้องบอกไปว่า
“แกมาทำอะไรเอาตอนนี้?”
ปัญหาของการเจรจานั้นเกิดจากปัญหาภายในฝ่ายบริหารของลิเวอร์พูล โดยเฉพาะหลัง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ และ จูเลียน วอร์ด สองผู้อำนวยการสโมสร ลาออกไปในช่วงระยะเวลาห่างกันแค่ปีเดียว ทำให้เกิด ‘สุญญากาศ’ ในการทำงานขึ้นในฤดูกาล 2023/24
ลิเวอร์พูลไม่สามารถหาใครมาทดแทนได้ทัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เจอร์เกน คล็อปป์ อดีตผู้จัดการทีม ใช้คอนเน็กชันในการดึงตัว ยอร์ก ชมัดท์เค ที่รู้จักกันในวงการฟุตบอลเยอรมนี เข้ามารักษาการตำแหน่งนี้ โดยเนื้องานหลักคือการช่วยเจรจาเรื่องซื้อ-ขายผู้เล่นบางราย
แต่ชมัดท์เคซึ่งประจำตำแหน่งไม่นานถึงแค่สิ้นสุดตลาดรอบเดือนมกราคมปีที่แล้ว ไม่ได้ยุ่งกับเรื่องของการเจรจาต่อสัญญาฉบับใหม่ของนักฟุตบอลคนไหนเลย
นั่นเป็นเหตุทำให้เรื่องสัญญาใหม่ไม่ว่าจะเป็นของ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, โมฮาเหม็ด ซาลาห์ หรือ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ค้างเติ่งอยู่แบบนี้ โดยที่กว่าผู้อำนวยการสโมสรคนใหม่ ริชาร์ด ฮิวจ์ส (และการกลับมาของเอ็ดเวิร์ดส์ ในฐานะหัวหน้าของฮิวจ์สอีกที) จะสานต่อได้ก็ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
3. Business Model ต้นตอของปัญหา?
สิ่งที่น่าเห็นใจสำหรับทั้งฝ่ายของเทรนต์ (ซาลาห์และฟาน ไดจ์ค) กับฝ่ายของคนเจรจาด้วยอย่างฮิวจ์สคือ ‘นโยบาย’ ของลิเวอร์พูล
ถ้าลิเวอร์พูลเป็นสโมสรที่มี Resource ทางการเงินไม่อั้น พิมพ์แบงก์เองได้ การเจรจาจะจบลงอย่างง่ายดาย ด้วยการที่จับทุกคนต่อสัญญาใหม่ตามใจเลยว่าอยากจะได้ค่าตอบแทนระดับไหน เพราะถือว่าพิสูจน์ผลงานมาตลอดแล้วว่าเป็นคนสำคัญและเป็นผู้เล่นระดับเวิลด์คลาสที่ไม่ใช่จะหาคนแทนได้ง่ายๆ
แต่เพราะโมเดลการบริหารสโมสรของลิเวอร์พูลเน้นเรื่องของการบริหารอย่างยั่งยืน และมีกฎเหล็กบางอย่างที่ไม่สามารถแหกได้
- นักฟุตบอลที่อายุเกิน 30 ปีจะไม่ได้รับสัญญาระยะยาว และจะต้องถูกลดค่าตอบแทนตามสัญญาลง เพราะถือว่าอายุมากขึ้นมีแต่เสื่อมลงทุกวัน
- จะไม่มีนักฟุตบอลคนไหนได้รับค่าตอบแทนที่จะกระทบต่อเพดานค่าเหนื่อย (Wage Structure) ของสโมสร
ด้วยเหตุนี้ทำให้การเจรจาทุกอย่างยากไปหมด ติดล็อกเป็นเงื่อนตาย เพราะซาลาห์กับฟาน ไดจ์ค ปัจจุบันอายุ 32 และ 33 ปี สโมสรก็ไม่อยากให้สัญญาระยะยาว ขณะที่นักเตะเองก็อยากได้ค่าตอบแทนที่สะท้อน ‘คุณค่า’ (Value) ของพวกเขาเองที่มีต่อสโมสร มันเลยคุยกันไม่จบ
เช่นเดียวกับเทรนต์ ซึ่งความจริงเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ควรจะจัดการให้จบ เพราะอายุน้อยเพิ่ง 26 ปี และมีคุณค่ากับสโมสรมหาศาล ไม่ใช่แค่ในฐานะนักฟุตบอล แต่เป็นนักฟุตบอลท้องถิ่น เป็นสายเลือดของชาวเมืองที่มีคุณค่ามากกว่าแค่ผลงานในสนาม (และเทรนต์กับครอบครัวเองก็เป็นแบบอย่างที่ดี ช่วยเหลือสังคมตลอด)
แต่เจ้าตัวเองก็มองว่าคุณค่าของเขาต่อสโมสรนั้นมหาศาลเช่นกัน ต่อให้จะไม่ได้ต้องการตัวเลขเท่ากับซาลาห์หรือฟาน ไดจ์ค แต่ก็เป็นตัวเลขที่จะดันเพดานค่าเหนื่อยของสโมสร
ลองคิดย้อนกลับว่าถ้าเป็นตัวเราเอง ทำงานดี มีผลงานให้เห็น บริษัทชื่นชม แต่สุดท้ายได้ค่าตอบแทนที่ไม่สะท้อนถึงคุณค่าของเราเอง โดยที่เราก็ยังพอมีสิทธิ์เลือกได้ มี Offer จากบริษัทอื่นเข้ามา
แถมยังเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใครๆ ก็อยากไปด้วย ซึ่งก็เข้าทางบริษัทยักษ์ใหญ่เขาด้วย เพราะชอบอยู่แล้วในการคว้านักเตะมาแบบไม่ต้องเสียค่าตัว เพื่อจะเอาเงินมาจ่ายโบนัสพิเศษ Signing-on Fee หรือค่าเซ็นสัญญา ให้อย่างงาม ไม่ต้องมาถามอีกว่า “เห็นค่าของผมไหม”
ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร?
4. อ่านใจ
ถึงจะโดนถล่มหนักแค่ไหนจากแฟนๆ บางส่วนที่ตีความไปว่าเทรนต์ต้องการจะไปใจจะขาด การขยับตัวของเรอัล มาดริด นั้นมันต้องมาจากการวางแผนของพี่ชาย (ไทเลอร์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่เป็นเอเจนต์ให้น้อง) แน่ๆ
อันนั้นเบื้องลึกเบื้องหลังไม่มีใครรู้ดี มีแต่คนคาดเดา และอย่าลืมว่าสโมสรอย่างเรอัล มาดริด นั้นเก่งนักในเกมจิตวิทยาปั่นป่วนแบบนี้
แต่สิ่งที่เป็นจริงและเกิดขึ้นจริงก็คือ ‘เทรนต์ยังไม่ได้ประกาศว่าตกลงกับเรอัล มาดริดแล้ว และเตรียมจะย้ายไปสเปนหลังจบฤดูกาลนี้’ นั่นหมายถึงเทรนต์เองยังคงรอดูท่าทีในการเจรจากับลิเวอร์พูลอยู่เหมือนเดิม โดยที่แหล่งข่าวสายอังกฤษที่น่าเชื่อถือบอกว่าตอนนี้การเจรจาอยู่ ‘กลางทาง’
โอกาสยังเป็นไปได้ ทั้งจะมีการต่อสัญญาและไม่ต่อสัญญา
ลองคิดว่าถ้าหากเทรนต์อยากจะไปจริงๆ เขาสามารถที่จะประกาศข่าวตอนนี้เลยก็ได้ แต่ยืนยันว่าจะตั้งใจพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ให้ได้ในฤดูกาลนี้เป็นการสั่งลา ถ้าทำแบบนั้นใครจะไปว่าอะไรได้?
ในอีกความหมายคือเทรนต์ยังไม่ตัดสินใจ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างยิ่ง
ไม่ใช่แค่ในฐานะนักฟุตบอล
แต่ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง
อย่าลืมว่าแม้แต่ สตีเวน เจอร์ราร์ด โคตรคนโคตรกัปตันทีมผู้ยิ่งใหญ่ ก็เคยน้อยใจสโมสรที่ไม่ยอมต่อสัญญาให้ หลังพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเมื่อปี 2005 จนประกาศขอย้ายทีมและเกือบจะย้ายไปเชลซีอยู่รอมร่อ มาเปลี่ยนใจเอาในวินาทีสุดท้าย
เทรนต์เองก็ไม่แตกต่างกันในความเป็นสเกาเซอร์ ในความเป็น Local Lad Hero เรื่องนี้ เจมี คาร์ราเกอร์ นักเตะ ‘One-Club-Man’ คนล่าสุด (จนถึงตอนนี้) ของลิเวอร์พูล ก็เตือนใจไว้อยู่ เพราะสายสัมพันธ์ที่มีนั้นมันยากที่จะตัด ครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ก็อยู่ในเมืองนี้ และจะย้ายไปไหนสุดท้ายก็ต้องกลับมาที่นี่เหมือนเดิม
5. Legacy
ในอดีตมีนักเตะระดับสตาร์ของลิเวอร์พูล 2 รายด้วยกันที่เคยย้ายไปสวมเสื้อขาวจั๊วะของเรอัล มาดริด
คนแรกคือ สตีฟ แม็คมานามาน ปีกจอมเลื้อยขวัญใจเด็กหงส์ยุค 90 ที่เป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูลที่ย้ายออกไปแบบไม่มีค่าตัวตาม ‘กฎบอสแมน’ (Bosman Rule) หลังหมดสัญญากับทีมในปี 1999 (กฎเพิ่งบังคับใช้ครั้งแรกในปี 1995)
คนต่อมาคือ ไมเคิล โอเวน ที่ตัดสินใจอำลาแอนฟิลด์ในฤดูร้อน 2004 ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งผู้จัดการทีมจาก เชราร์ อุลลิเยร์ มาเป็น ราฟาเอล เบนิเตซ โดยย้ายไปด้วยค่าตัวสุดถูกแค่ 8 ล้านปอนด์ พร้อมกับได้ปีกที่ใช้การไม่ได้อย่าง อันโตนิโอ นูนเญซ เป็นของปลอบใจที่เรอัล มาดริด เขี่ยมาให้
แรงดึงดูดความโอโม่ชุดขาวของเรอัล มาดริด นั้นเป็นเรื่องที่นักฟุตบอลทุกคนเข้าใจได้ เรอัล มาดริด คือ Pinnacle ของวงการฟุตบอล ใครก็อยากไปทั้งนั้น โดยไม่เกี่ยวกับสถานะ ฟอร์ม หรือความสำเร็จในช่วงเวลานั้น แต่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และ Branding
และการได้เล่นท่ามกลางเหล่าดวงดารา ‘Galactico’ ทีมที่อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์
กรณีตัวอย่างล่าสุดคือ คีเลียน เอ็มบัปเป ที่เรอัล มาดริด ได้ตัวมาโดยไม่ต้องจ่ายค่าตัวให้ปารีส แซงต์ แชร์กแมง สักแดงเดียว ทั้งๆ ที่หากย้ายทีมแบบมีค่าตัวแล้ว ดาวยิงชาวฝรั่งเศสจะต้องเป็นนักฟุตบอลที่ค่าตัวแพงที่สุดในโลกแน่นอน
เทรนต์เองก็มีโอกาสจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้เหมือนกัน เพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะสุดยอดนักเตะของโลก ซึ่งจะเป็น ‘Legacy’ (ซึ่งเป็นคำพูดสำคัญของเทรนต์) ในอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจาก Legacy ในแบบของการเป็นฮีโร่ตลอดกาลของลิเวอร์พูล เดินตามรอยของเจอร์ราร์ด และอาจจะไปได้ไกลกว่าเพราะประสบความสำเร็จมากกว่าไปแล้ว
พูดถึงเรื่องนี้แล้วมีสิ่งที่ชวนคิดนิดหน่อย
ในปี 2015 ฉากสุดท้ายของเจอร์ราร์ดที่ต้องอำลาสโมสรไป เพราะสโมสรไม่ให้สัญญาที่สะท้อนคุณค่าในตัวของเขาที่มีต่อทีม ‘สตีวีจี’ จึงอดเป็นนักเตะที่รับใช้สโมสรเพียงแห่งเดียว เพราะต้องย้ายไปแอลเอ แกแล็กซี แทนในช่วงบั้นปลายชีวิตการเล่น
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ตำนานของเขามัวหมองแม้แต่น้อย เจอร์ราร์ดยังเป็นผู้เล่นที่แฟนทุกคนรักและเทิดทูนสุดหัวใจเสมอ
โดยที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ในช่วงเวลาหนึ่งเจอร์ราร์ดก็เคยถูกทาบทามให้ย้ายมาเรอัล มาดริด ด้วยเหมือนกันถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่ทุกครั้งจบลงด้วยการปฏิเสธไป
ขณะที่แม็คมานามานและโอเวนซึ่งไม่เคยได้ย้ายกลับมาลิเวอร์พูลอีกเลย แม้จะยังได้กลับมาแอนฟิลด์บ้างหลังเลิกเล่น แต่ก็ไม่เคยได้รับความรักจากแฟนๆ มากเท่าเจอร์ราร์ด หรือแม้แต่ ร็อบบี ฟาวเลอร์ ดาวยิงร่วมรุ่นที่ก็ไม่ได้อยู่รับใช้สโมสรตลอดชีวิตการเล่นเหมือนกัน
บางครั้งการจากลาก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แฟนบอลไม่เข้าใจ เหตุผลของแต่ละคนมันเข้าใจได้
แต่วิธีการของมันต่างหากที่อาจจะสำคัญมากกว่า