×

5 แนวทางจัดการปัญหาค้ามนุษย์ #โรฮิงญา จากคนไทย อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2022
  • LOADING...
5 แนวทางจัดการปัญหาค้ามนุษย์ #โรฮิงญา จากคนไทย อดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) กัณวีร์ สืบแสง คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ ซึ่งติดตามปัญหาชาวโรฮิงญามากว่า 10 ปี รวมถึงการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องในหลายประเทศ ชี้ให้เห็นว่า คำตอบที่สังคมอยากได้จากรัฐบาล ว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้วต่อเรื่องขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ในไทย และทำไมข้าราชการตำรวจระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนขบวนการดังกล่าวต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเกรงกลัวต่ออำนาจมืดที่มองไม่เห็น หรือที่บัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสถานะผู้ลี้ภัยว่า ‘การประหัตประหาร’

 

กรณีที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ถามกระทู้สดเรื่องความคืบหน้าและการดำเนินการของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งโยงถึงเรื่องที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้ที่ถูกหางเลขจากการปฏิบัติหน้าที่ในการ Crackdown ขบวนการค้ามนุษย์ชาติพันธ์ุโรฮิงญา จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และเปิดโปงธุรกิจมืดราคาแสนล้านที่มีความเชื่อมโยงในหลายระดับจากล่างสู่บน แต่มีชีวิต ลมหายใจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเป็นเดิมพัน จนทำให้ตัว พล.ต.ต. ปวีณต้องขอลี้ภัย ณ ประเทศออสเตรเลีย อยู่จนปัจจุบัน

 

“เกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวโรฮิงญาถึงยอมเสี่ยงชีวิต นั่งเรือผ่านมหาสมุทรจากพื้นที่ไกลโพ้น ทั้งจากแม่น้ำนาฟ ที่เรือประมงหลายลำต้องล่องไปรับจากประเทศไทย ลอยเรือรออยู่ที่ทะเล การล่องเรือประมงลำเล็กๆ ซึ่งแท้จริงแล้วจุดหมายปลายทางไม่ได้อยู่ภาคใต้ของไทยหรอก แต่เหตุใดจึงถูกชักลากมาขึ้นฝั่งไทยจากเกาะสอง ภูมิภาคตะนาวศรี สู่ฝั่งไทย? และการนั่งเรือประมงลำเล็กๆ ดังกล่าว หลายๆ ครั้งมีการยืนยันว่าไม่ได้ “ล่องฝ่ามหาสมุทรตลอดเวลาที่ต้องใช้เขตแดนทะเลระหว่างประเทศ แต่หากเป็นการเลาะตะเข็บชายฝั่งของเมียนมามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเกาะสองแล้วค่อยลากออกไป! นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมได้ประสบด้วยตนเองตอนปฏิบัติหน้าที่ดูแลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมาทั้งหมดตอนทำหน้าที่กับสหประชาชาติ ดังนั้น คนที่เกี่ยวข้องควรหาข้อมูลมาเพิ่มเติม” กัณวีร์กล่าวถึงเรื่องนี้จากประสบการณ์ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ กับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

 

“โรฮิงญามาทำไม คุ้มเหรอกับการต้องเสียชีวิตระหว่างทาง คุ้มเหรอกับการเสี่ยงชีวิตลูกเด็กเล็กแดงนั่งในเรือที่อาจล่มได้ทุกนาทีเมื่อมีคลื่นลมแรง นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มโรฮิงญาที่เดินทางจากรัฐยะไข่มาทางรถผ่านเส้นทางสำคัญๆ ของเมียนมา ที่ต้องใส่เสื้อทหารเมียนมามาตลอดทางเพื่อปกปิดตนเอง และเข้าไทยผ่านเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และเข้าไทยผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งตอนหลังโดนจับเยอะ เลยเปลี่ยนเส้นทางผ่านลงทางตอนใต้สู่เกาะสอง ภูมิภาคตะนาวศรี และเข้าไทยผ่านจังหวัดระนอง

 

“คุ้มไหมทั้งต้องเสี่ยงชีวิตทุกคนในครอบครัว ทั้งต้องถูกจับและคุมขัง หลายครั้งถูกทรมาน และสุดท้ายส่งกลับสู่มือทหารเมียนมา”

 

เหตุผลการหนีออกมาชัดเจนอยู่แล้วคือ ‘หนีภัยการประหัตประหารจากประเทศต้นกำเนิด’ กลับไปดูค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ ที่มีผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่าล้านคนเบียดเสียดยัดเยียดในค่ายต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งน่าจะมี 5 ประเด็น พอจะเป็นข้อเสนอแนะให้เห็นถึงการจัดการปัญหา กล่าวคือ

 

  1. สาเหตุอาจมาจากความประสงค์ ต้องการหนีจากการประหัตประหาร จึงต้องเข้าร่วมกับขบวนการลักลอบนำพา แต่เมื่อถึงฝั่งไทย ถูกคุมขังอยู่ในค่าย ในป่าต่างๆ ถูกเรียกเงิน เรียกค่าไถ่ จึงเปลี่ยนจากการลักลอบสู่การค้ามนุษย์

 

  1. ไทยต้องยอมรับว่าขบวนการลักลอบและนำพา รวมทั้งขบวนการค้ามนุษย์มันใหญ่เกินกว่าไทยประเทศเดียวจะรับมือไหว แล้วต้องพยายามหากลไกต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเข้ามาสนับสนุนกลไกต่างๆ ที่เรามีอยู่ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

ต้องยอมรับว่าไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มากนะครับ เราได้ลงนามในอนุสัญญาเรื่อง Transnational Organized Crime (UNTOC) ในพ.ศ. 2543 และลงนามในพิธีสารเรื่องการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ใน พ.ศ. 2544 แต่ก่อนที่เราจะให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองใน พ.ศ. 2556 เราได้บัญญัติ พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ใน พ.ศ. 2551 เสียอีก รวมทั้งเรายังใช้กลไกในระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน โดยการตรากฎหมายร่วมเป็นอนุสัญญาอาเซียนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับภูมิภาคใน พ.ศ. 2558 ต้องขอชื่นชมจากใจจริงในฐานะนักกฎหมายระหว่างประเทศ

 

จะเห็นได้ว่าไทยมีทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐของไทยทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน มันน่าจะแก้ไขได้แล้ว แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน?

 

  1. เพราะช่องโหว่จากการลักลอกนำพา เปลี่ยนมาเป็นการค้ามนุษย์มันขาดไป ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยเราใช้ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2521 ในการจัดการ โดยส่วนใหญ่ต่อการลักลอบ เหมือนๆ กับการจัดการกับผู้ลี้ภัยในไทย คือ จับ ขัง และรอการส่งกลับ

 

  1. การยกระดับการจัดการปัญหาลักลอบนำพาให้สูงขึ้นมากกว่าการบริหารจัดการบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การพิจารณาปรับใช้และเป็นผู้นำของกระบวนการ Counter Migrant Smuggling ขององค์การโยกย้ายถิ่นฐานสากล (International Migration Organization-IOM) ไทยควรใช้โอกาสนี้เป็นผู้นำในระดับภูมิภาคโดยการหารือ Counter Migrant Smuggling ของ IOM ในอาเซียน รวมถึงการหารือแบบวิสามัญร่วมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากขบวนการนำพาให้เร็วที่สุด

 

  1. มองโอกาสออกนอกภูมิภาค โดยไทยต้องเป็นผู้นำ เพราะจะทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศมีมากขึ้นหากเรานำมากกว่าเป็นผู้ตาม! ตัวอย่างเช่น รายงานประจำปีของสหรัฐฯ เรื่อง Trafficking in Persons (TIP) ตอนนี้ไทยอยู่ใน Tier 2 Watchlist นั้น เราสามารถเปิดประเด็นเข้าร่วมอย่างจริงจังในการเป็นผู้นำด้านนี้ โดยดึงศักยภาพประเทศมหาอำนาจมาจัดการ โดยอยู่ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีที่ต้องมอนิเตอร์การจัดการภายในและบริเวณรอบข้างให้ได้ ผลักไทยให้อยู่ใน Tier 1 ของ TIP Report โดยใช้ศักยภาพของประเทศมหาอำนาจ และความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากที่สุด โดยไทยบริหารจัดการ

 

“ผมไม่ได้บอกว่าควรชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน โดยการนำต่างประเทศเข้ามาในไทยในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวมันใหญ่ (แต่ไม่ลึกลับหรอกครับ) กว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการรวมกลุ่มกันอย่างอาเซียนจะจัดการได้ เราควรดึงศักยภาพของประเทศมหาอำนาจมาช่วยจัดการ โดยมีข้อตกลงว่าไทยจะบริหารจัดการเรื่องภายในประเทศโดยไม่มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจ เรื่องนี้เป็นวาระแห่งโลก ไม่มีใครอยากมาหาผลประโยชน์จากเรื่องมนุษยธรรมหรอกครับ แต่เราต้องบริหารจัดการเรื่องมนุษยธรรมให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศให้ได้ต่อไป”

 

ภาพ: UNHCR แคมป์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X