×

EXCLUSIVE: เปิด 5 เหตุผลฉุดตลาดหุ้นไทยดิ่งเหว ทำนิวโลว์ครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 3 ปี ผ่านมุมมอง ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

09.10.2023
  • LOADING...
ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

ตลาดหุ้นไทยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 ตุลาคม) ยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ปิดการซื้อ-ขายที่ 1,438.45 จุด ลดลง 14.10 จุด หรือ 0.97% ด้วยมูลค่าการซื้อ-ขายที่ 40,928.28 ล้านบาท ซึ่ง SET Index ที่ปิดในระดับดังกล่าวถือเป็นจุดต่ำสุดใหม่ครั้งที่ 2 ในรอบเกือบประมาณ 3 ปี ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 SET Index ปิดที่ระดับ 1,447.30 จุด ลดลง 22.16 จุด ติดลบ 1.51% ถือเป็นระดับต่ำสุดใหม่ครั้งแรกในรอบประมาณเกือบ 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 

 

ทั้งนี้ หากคำนวณตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไปแล้วกว่า 1.66 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2565 ที่ซื้อสุทธิไปกว่า 2 แสนล้านบาท

 

จึงเกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีความหวังเชิงบวกว่า หลังการมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จากการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดหุ้นไทยที่ดิ่งลงต่อเนื่องประเมินว่า มาจากเหตุหลัก 5 ข้อที่ถือเป็นปัจจัยลบที่กดดัน ดังนี้ 

 

  1. ตลาดหุ้นไทยยังขาดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะสร้างความสนใจและดึงดูดกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ให้เข้ามาลงทุน แม้จะมีหุ้นใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ยังเป็น Sector เดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค เช่น ประเทศเวียดนาม ที่มีการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศขึ้นมา เช่น VinFast Auto Ltd. บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากเวียดนาม เข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

อีกทั้งหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว ภาพรวมยังมีผลประกอบการที่ออกมาที่การเติบโตต่ำ สร้างความผิดหวังให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ

 

  1. Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำไปยังตลาดต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาจดทะเบียนและยังสามารถสร้างผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างโดดเด่น เช่น หุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

  1. นักลงทุนมีความกังวลจากนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลไทยที่จะต้องใช้วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเป็นทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากรวมก่อหนี้เพื่อนำมาดำเนินนโยบาย ก็จะเป็นภาระทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งความกังวลนี้ยังสร้างผลกระทบให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงค่อนข้างหนัก และยังกดดันให้ Fund Flow ไหลออกมาเพิ่มเติมด้วย

 

  1. นโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่สร้างความสับสนให้นักลงทุนคนไทยและชาวต่างชาติ แม้ว่าล่าสุดกระทรวงการคลังจะไม่มีนโยบายพิจารณาภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) และกระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายพิจารณาภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gains Tax) ซึ่งเป็นภาพบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ยังมีนโยบายในด้านการประกาศจัดเก็บภาษีการลงทุนต่างประเทศของคนไทย ซึ่งมีความไม่เชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

 

  1. เครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญคือ ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นความหวังว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นและช่วยฟื้นเศรษฐกิจของไทย ล่าสุดกำลังประสบปัญหาความไม่เชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หลังเกิดเหตุการณ์เด็กชายอายุ 14 ปียิงในศูนย์การค้ากลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้มีชาวต่างชาติเสียชีวิตจำนวน 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายราย โดยเฉพาะที่มีชาวจีนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมจากภาคการส่งออกที่กำลังหดตัวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว

 

“ประเมินตอนนี้นักลงทุนคงต้องการรอดูความชัดเจนของแหล่งที่มาของการใช้เงินเพื่อดำเนินนโยบาย Digital Wallet ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพื่อนำมาประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางภาระการคลัง รวมถึงนโยบายด้านการเก็บภาษีการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหากเรื่องพวกนี้มีความชัดเจน ภาพของตลาดหุ้นไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้บ้าง”

 

อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นรายตัวในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายเดินทางเข้ามาไทยเพื่อใช้บริการ เนื่องจากทั้ง BH กับ BDMS มีการรักษาที่มีคุณภาพที่ดีและมีราคาค่าบริการที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลในภูมิภาค อีกทั้งยังมีหุ้นออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีโอกาสเติบโตได้

 

หวังความชัดเจน Digital Wallet ฟื้นตลาดหุ้น

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า SET Index ที่ปรับตัวลดลงมาทำจุดต่ำใหม่ต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัยลบกดดันที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง กดดันให้นับจากต้นปี 2566 SET Index ติดลบไปถึง 14% ถือเป็นตลาดหุ้นแห่งหนึ่งของโลก Underperform เปรียบเทียบกับดัชนี MSCI Asia ex Japan ที่ติดลบมีดังนี้

 

  1. ที่มาของแหล่งเงินที่จะใช้ในการทำ Digital Wallet ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน และกังวลว่าจะมีการกู้เงินเพิ่มจนมีผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง

 

  1. ดอกเบี้ยของทั่วโลกและไทยที่อยู่ในระดับที่สูงกดดันภาพการลงทุนในตลาดหุ้น

 

  1. ประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ถูกปรับลดการขยายตัวของ GDP ลงอย่างต่อเนื่อง

 

  1. เหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอนถือเป็นปัจจัยลบภาคการท่องเที่ยว ยิ่งเพิ่มความน่ากังวลเพิ่มเติมอีก จากเดิมที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหันมาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงของ Golden Week

 

โดยระยะสั้นประเมินว่าตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคมนี้จะมี Downside ได้อีกหากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาสนับสนุน โดยประเมินว่าจะมีแนวรับแรกที่ 1,420 จุด และจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,400 จุด 

 

ขณะที่ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้มีดังนี้ 

 

  1. ที่มาของแหล่งเงินที่จะใช้ในการทำ Digital Wallet ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในสัปดาห์นี้

 

  1. ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หากออกมาส่งสัญญาณว่าจะเริ่มคงดอกเบี้ย ปัจจัยตัวเลขของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะออกมาก็จะเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้นไทย

 

โดยในกรณีที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวดีขึ้นประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะมี Upside แรกอยู่ที่ 1,480-1,500 จุด และ Upside ต่อไปที่ 1,550 จุด แต่ยอมรับว่า SET Index สิ้นปีนี้จะไปไม่ถึงเป้าหมายที่บริษัทฯ เคยให้ไว้ที่ระดับ 1,630 จุด ด้วยปัจจัยลบกดดันที่กล่าวไว้ 4 ข้อข้างต้น

 

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Digital Wallet ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 ซึ่งขอรอดูรายละเอียดของข้อมูลอีกครั้ง โดยเบื้องต้นประเมินว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 มีโอกาสฟื้นตัวดี จึงมีโอกาสที่ SET Index ในปี 2567 จะปรับตัวขึ้นไปได้ถึงระดับ 1,600-1,700 จุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X