×

5 ประเด็นร้อนการเมืองปี 2564 ที่ต้องจับตา

29.12.2020
  • LOADING...
การเมืองปี 2564

HIGHLIGHTS

  • THE STANDARD ในฐานะสื่อที่สังเกตการณ์ประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ มาตลอดปี 2563 นี่คือ 5 ประเด็นหลักทางการเมืองในปี 2564 ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปีนี้เป็นอย่างยิ่ง

ปี 2563 มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นับว่าเป็นจุดพีกแห่งปี คงหนีไม่พ้นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร ที่นำเสนอประเด็นข้อเรียกร้องที่เรียกว่าแหลมคมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ กลายเป็นมิติใหม่และใหญ่ของภาคส่วนในสังคมที่ต้องหันมาโฟกัสปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อหาทางออกของประเทศ 

 

การเคลื่อนไหวทั้งในส่วนของ ‘นักเรียน’ ที่ออกมาหลากหลายกลุ่ม และออกมาทุกภูมิภาค กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่ต้องบันทึกเป็นประวัติการณ์ครั้งใหญ่เท่าที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา

 

แต่ทว่าภายใต้บรรยากาศการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง มิติอื่นๆ ขององคาพยพทางการเมืองก็มีส่วนสร้างบรรยากาศให้ประชาชนต้องติดตามและตั้งคำถามไปพร้อมกันด้วย

 

การนำกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกหนในรอบ 2 ปีถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และปฏิกิริยาทั้งในส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงสังคมก็มีมิติที่ต่างออกไปเช่นเดียวกัน

 

THE STANDARD ในฐานะสื่อที่สังเกตการณ์ประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ มาตลอดปี 2563 นี่คือ 5 ประเด็นหลักทางการเมืองในปี 2564 ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปีนี้เป็นอย่างยิ่ง 

 

 

  1. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

ปีนี้ (2563) สำนักงบประมาณได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรรการบริหารงบประมาณรายจ่ายและการหักงบประมาณรายจ่าย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน อันเนื่องมาจากมีกระบวนการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ล่าช้าไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 

 

ทำให้ปีหน้า (2564) ประชาชนยังคงต้องติดตามดูกันต่อว่ากระบวนการตรากฎหมายงบประมาณจะล่าช้า ติดขัดอย่างปีที่ผ่านมาอีกหรือไม่ โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรในกลางปีหน้า 

 

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท โดยลดลงจากงบประมาณปี 2564 วงเงินประมาณ 185,900 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66

 

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตามเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณ เนื่องจากเป็นเผือกร้อนอย่างยิ่ง จากกระแสการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ก็คือการจับตาบทบาทของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรต่อการอภิปรายและการให้ความเห็นต่องบส่วนราชการในพระองค์ อันมีส่วนเกี่ยวพันกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

ซึ่งในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น มีการเพิ่มงบส่วนราชการในพระองค์ 16.88% โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรับลดในชั้นของกรรมาธิการ ไม่มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็น และไม่มีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติ จึงทำให้กลไกตั้งคำถามถึงประเด็นนี้ในปีที่ผ่านมายังคงอยู่ที่นอกสภาเท่านั้น 

 

 

  1. สนามเลือกตั้งท้องถิ่น คู่ขนานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

ปรากฏการณ์ที่สองที่ยังคงต้องให้ความสนใจตลอดทั้งปี 2564 คือ สนามเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ขนานไปกับบทบาทการทำงานของ ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน’ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่แต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 242/2563 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนเป็นกรรมการ มีอำนาจกำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ 

 

การเกิดขึ้นของคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 3 เดือน ก่อนที่จะมีการเห็นชอบให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ในระดับการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 

 

คณะกรรมการชุดนี้นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นการแต่งตั้งให้ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับติดตามขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เช่น ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้รับมอบหมายให้มาช่วยดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่พะเยา เชียงราย หนองบัวลำภู 

 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบสุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี 

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากโควตาพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นน้องชาย เนวิน ชิดชอบ รับผิดชอบบุรีรัมย์ สุรินทร์ 

 

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบระยอง จันทบุรี ตราด 

 

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับผิดชอบชลบุรี ฉะเชิงเทรา

 

นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบสงขลา

 

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับผิดชอบเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร

 

เมื่อมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เลี่ยงได้ยากที่จะไม่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการให้รัฐมนตรีแต่ละคนได้รับผิดชอบในจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของตนเองหรือของพรรคตนเอง ซึ่งอาจมีผลต่อบรรยากาศ​การเลือกตั้งท้องถิ่นในเชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในพื้นที่ 

 

ขณะที่ในปีหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีอยู่อีกหลายสนาม ไม่ว่าจะเป็นสนามใหญ่ที่รองลงมาจากสนามนายก อบจ. อย่างสนามนายกเทศมนตรี สนามนายกฯ เมืองพัทยา หรือกระทั่งสนามนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. และท้ายสุดก็คือสนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเวลานี้ก็ยังคงมีผู้ว่าราชการจากการแต่งตั้งคือ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ที่ยังรั้งเก้าอี้บริหารงานอยู่ 

 

ดังนั้นตลอดปีหน้านี้ยังคงต้องมีการจับตาต่อไปว่า รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งต่างๆ ใครจะพลั้งพลาด เผลอกระทำการใช้อำนาจให้คุณ ให้โทษต่อการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งจะนำมาสู่การร้องเรียนต่างๆ อีกมากมาย 

 

และจะกลายเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกหนหนึ่งว่า จะสามารถเพิ่มคะแนนความโปร่งใสและสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้อีกครั้งหรือไม่ 

 

ก่อนที่จะเดินไปสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งอาจมาถึงก่อนครบ 4 ปี เพราะอาจมีเหตุให้รัฐนาวาประยุทธ์ตัดสินใจคว่ำเรือแป๊ะ ปิดสภาปลวกจมปลัก ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพื่อกระชับอำนาจอีกหนก็เป็นได้

 

 

  1. จับตาการแก้ไชรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ

จนถึงเวลานี้ น่าจะเป็นที่ยุติแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระการพิจารณา ซึ่งเป็นวาระที่สองในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลและฝ่ายค้านจะออกหัวหรือก้อยอย หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเข้าชื่อโดยประชาชน หรือฉบับ  iLaw กว่า 1 แสนรายชื่อได้ถูกคว่ำไปก่อนแล้วในชั้นรับหลักการ 

 

ขณะเดียวกันต้องจับตาท่าทีของวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. ที่สื่อมวลชนตั้งฉายาส่งท้ายปี 2563 ให้ว่าเป็น ‘สภาปรสิต’ จะยอมไฟเขียวเปิดทางให้แก้ไขในทิศทางที่ลดอำนาจ บทบาทตัวเองตามที่กระแสสังคมส่วนหนึ่งเรียกร้องกันมาหรือไม่ 

 

และที่ต้องจับตาในปีหน้าคือการทำประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายประชามติฉบับใหม่ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร จะเปิดโอกาสให้มีการประชามติล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะมีแนวทางการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ไหม ยังต้องมาพะวงกับคำถามเรื่องบัตรเขย่งกันอีกครั้งหรือไม่ ที่สำคัญก็คือความ Free และ Fair ของการรณรงค์และการให้ความเห็น รวมถึงการนำเสนอข้อดีข้อเสีย จะทำได้เพียงใด จะถูกกำกับหรือจำกัดอย่างที่เคยเกิดขึ้นในคราวรณรงค์ประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จนมีผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ฐานฝ่าฝืนกฎหมายประชามติไปหลายราย 

 

ขณะที่ความปรองดองสมานฉันท์ในรูปแบบ ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ จะเกิดขึ้นได้ในรูปแบบใด สิ่งนี้ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องถัดไปของปีหน้าที่ยังต้องลุ้นกัน และอาจต้องลุ้นกันข้ามไปอีกหลายปีเลยทีเดียว

 

  1. จับตาผลลัพธ์ข้อเสนอและทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร 

ปรากฏการณ์ที่สี่ที่จะต้องจับตาคือผลลัพธ์ว่าจะออกหัวหรือก้อย สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร จะสามารถนำไปสู่การปฏิรูป หรือจะนำไปสู่การพลิกเกมการเมือง เพื่อให้เกิดการกระชับอำนาจยิ่งขึ้นกันแน่ และหากพลิกไปสู่การกระชับอำนาจ จะไปในทิศทางใด 

 

เพราะหากสำรวจข้อคิดเห็นต่างๆ ของผู้คนในสังคม อาจเป็นไปได้สองทางคือ ใช้วิธีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม ที่ยังมีโครงสร้างของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน จึงคาดการณ์ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขอำนาจของ ส.ว. จะไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน 

 

หรือจะเป็นวิธีการที่หลายคนพูดถึงและเคยถูกใช้เป็นทางเลือกที่วนลูปเป็นวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทยคือ ‘การรัฐประหาร’ คว่ำกระดาน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ยังต้องจับตากันต่อไป ภายใต้บรรยากาศการเคลื่อนไหวลงถนนของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจยกระดับขึ้นอีกในปีหน้า ตามที่แกนนำหลายคนได้ประกาศไว้ ขณะที่รัฐบาลก็ดูเหมือนจะไม่มีหนทางที่จะสร้างพื้นที่ให้มีการเจรจากันได้ 

 

และต้องจับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ยังคงยืนยันเดินหน้า ขณะที่ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เกิดขึ้นมาเป็นข้อเสนอต่อสาธารณะ ว่าท้ายที่สุดแล้วจะสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันหรือมีจุดแยกกันหรือไม่ อย่างไร

 

ขณะที่แกนนำในการเคลื่อนไหวหลายคนต้องเผชิญต่อคดีความในหลายข้อหา และอาจต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดี และมีความเสี่ยงในการถูกจำกัดอิสรภาพ ทำให้ต้องจับตาว่าจะสามารถมีแกนนำใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็น ‘ดาว’ ดวงใหม่ ภายใต้ความคิดที่พูดกันในกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ‘เราทุกคนคือแกนนำ’ หรือไม่ รวมถึงพลังของแนวร่วมจะสามารถนำพาข้อเรียกร้องไปสู่รูปธรรมอย่างไร

 

 

  1. จับตารัฐ กับ การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

ระหว่างที่บทความนี้ถูกเขียน (29 ธันวาคม) มีผู้ได้รับหมายคดีจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมแล้วมากถึง 37 ราย แต่เหมือนว่าการใช้มาตรา 112 ในฐานะกฎหมายที่มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ จะยังไม่มีทีท่าหยุดลงแต่อย่างใด หลังถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในรอบกว่า 2 ปี 

 

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎรซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และได้รับหมายเรียกรวม 2 ฉบับ ได้แสดงความเห็นว่า การใช้มาตรา 112 รัฐบาลมีจุดประสงค์ทางด้านการเมือง โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกลัวกฎหมายในข้อหานี้ แต่ยืนยันว่าจะไม่สามารถทำให้หยุดการชุมนุมได้ และยังเชื่อว่ารัฐบาลจนมุมแล้วถึงนำกฎหมายนี้มาบังคับใช้

 

ขณะที่เยาวชนอายุ 16 ปีซึ่งถูกตั้งข้อหาในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกันตัวจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกันนั้น มีความเห็นว่า การใช้กฎหมายข้อนี้กับคนจำนวนมาก หรือกับเด็ก ทำให้กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์น้อยลง และเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีคนที่เห็นต่าง เขาบอกว่า “ไม่รู้สึกกลัว” แต่โกรธและมีคำถามว่าทำไมการแสดงออกจึงตามมาด้วยการถูกคุกคามและถูกดำเนินคดีมาตรา 112

 

นี่เป็นเพียงความรู้สึกของคนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีส่งท้ายปี 2563 

 

แต่หากมองมิติการเคลื่อนไหวในปี 2564 ที่แกนนำยังคงเดินหน้า 3 ข้อเรียกร้อง จึงเชื่อว่าประเด็นที่จะแสดงออกน่าจะยังมีเนื้อหาที่อาจคาบเกี่ยวให้ฝ่ายรัฐอ้างดำเนินคดีมาตรา112 

 

ดังเช่นที่เราได้เห็นแล้วว่าเพียงการตอบ “จ้า” ในกล่องข้อความสนทนาส่วนตัวของเฟซบุ๊ก ก็เป็นเหตุให้ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา จนต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ต้องต่อสู้คดีมายาวนานนับ 4 ปีได้ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับกรณีของ พัฒน์นรี หรือ พัชนรี หรือ หนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกว่าที่จะขึ้นสู่ชั้นศาลให้ศาลยกฟ้องนั้น ต้นทุนชีวิตที่ต้องเสียไปมีค่าเพียงใดก็คงไม่อาจคำนวณได้

 

ปัญหาของการตีความในการใช้ตามมาตรา 112 รวมถึงการดำเนินคดีของตำรวจ ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ปีหน้าคงได้เห็นการถูกยกระดับกลับมาสู่การถกเถียงในหลากมิติมากขึ้นอีกหน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังจากการถูกใช้อย่างกว้างขวางในช่วงหลังการสลายการชุมนุมขบวนการเสื้อแดงเมื่อปี 2553 

 

สังคมส่วนหนึ่งมีการตั้งคำถามต่อการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ว่า “หมายเรียกถัดไปจะเป็นใคร และหมายสุดท้ายจะหยุดที่ใคร” หรือจะมีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ใหม่อย่างไรหรือไม่ ดังเช่นที่แวดวงวิชาการและภาคส่วนต่างๆ ได้เคยมีข้อเสนอ 

 

ทั้งหมดนี้คือประเด็นร้อนทางการเมืองที่ยังคงต้องติดตามกันในปี 2564

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X