เป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ที่เกมกีฬาทั่วโลกต้องถูกสั่งให้หยุดแบบไม่มีข้อแม้ ด้วยเจ้าไวรัสมหาภัยอย่างโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระดับไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับยุคสงครามโลกเมื่อร่วม 100 ปีที่แล้ว ซึ่งถึงแม้ว่า ณ เข็มนาฬิกากระดิกนี้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้กีฬากลับมาเริ่มต้นแข่งขันได้อีกครั้ง แต่ดูเหมือนเราทุกคนจะต้องยอมรับว่ากีฬาคงจะไม่กลับมา ‘เหมือนเก่า’ ได้ในเร็วๆ นี้
ระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่มนุษย์จะเอาชนะโควิด-19 ได้ เราคงจะได้เห็นการปรับตัวกันมากมายที่จะเกิดขึ้นในวงการกีฬา ซึ่งพอจะเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว จึงอยากรวบรวมเอามาฝากให้พอเห็นไอเดียว่า New Normal ของเกมกีฬานับจากวันนี้เป็นต้นไปจะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง
- เสียงเชียร์จำลอง
ปัญหาใหญ่ของเกมกีฬาในเวลานี้คือ การที่แฟนๆ จะไม่สามารถเข้ามาชมการแข่งขันในสนามได้ และสำหรับการแข่งขันที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก แต่ไม่มีแฟนบอลปรากฏในสนาม ถือเป็นฝันร้าย เพราะนอกจากภาพจะไม่สวยงามแล้ว ‘เสียง’ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน
ว่าแล้วสถานีโทรทัศน์กีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Fox (และสถานีอื่นๆ) จึงพยายามหาทางออกและคิดถึงการใช้เสียงเชียร์ปลอม (Fake Crowd Noise) คลอไปในระหว่างการถ่ายทอดสด โดยเสียงเชียร์นั้นจะมีหลายสถานการณ์ เช่น เสียงเฮ เสียงโห่ ไปจนถึงคำสบถทั้งหลายที่อาจจะถูกใส่ลงไปด้วย
ขณะที่ในเยอรมนีที่ฟุตบอลบุนเดสลีกากำลังจะกลับมาในสุดสัปดาห์นี้ สโมสรที่กำลังทดสอบแอปพลิเคชันที่เรียกว่า myApplause แฟนๆ จะสามารถเลือกได้ว่าพวกเขาต้องการจะส่งเสียงเชียร์, ส่งเสียงโห่, ปรบมือ, ร้องเพลง หรือเป่าปาก ในช่วงเวลาต่างๆ ในเกม
นั่นหมายความว่า สมมติหากทีมบุกมาได้สวย แต่จบสกอร์ไม่ลง คุณก็ยังกด CLAP เพื่อปรบมือให้กำลังใจได้ หรือกรรมการแจกใบเหลืองมั่ว ก็กด WHISTLE เพื่อเป่าปากได้
เรียกว่าถึงจะไม่ได้เข้าไปในสนาม แต่ก็ยังมีส่วนร่วมได้ เข้าท่าดีเหมือนกันนะ
- กองเชียร์จำแลง
หลายคนน่าจะพอได้เห็นข่าวทีมกีฬาที่มีการผลิตคัตเอาต์เป็นรูปแฟนบอลจำนวนมากไปติดตั้งไว้ในสนามแข่ง เหมือนในสนามเบสบอลที่ไต้หวัน หรือที่พีกกว่าอย่างทีมฟุตบอลในเบลารุสใช้หุ่นจำลอง (ก็หุ่นลองเสื้อนั่นแหละ) ใส่เสื้อผ้าหลากหลายทีมประจำการบนอัฒจันทร์ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศได้
แต่ที่เยอรมนี (อีกแล้ว) พวกเขาไปไกลกว่านั้น เมื่อทีม ‘สิงห์หนุ่ม’ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัก ซึ่งอยู่อันดับ 4 และมีลุ้นไปแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาลหน้า ปิ๊งไอเดียแจ่มๆ ด้วยการเปิดให้แฟนบอลจ่ายเงินเพื่อซื้อคัตเอาต์รูปตัวเองไปติดตั้งในสนามโบรุสเซียปาร์ก เรียกว่า ‘Pappkamerad’
โดยแฟนบอลที่อยากมีรูปตัวเองในสนามก็ให้จ่ายเงินราว 19 ยูโร แล้วจะได้มีรูปตัวเองขนาดใกล้เคียงตัวจริงไปติดตั้งอยู่บนอัฒจันทร์ โดยตอนนี้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 4,500 คน และยังมีออร์เดอร์เข้ามาอีก 12,000 คน
งานนี้ไม่ใช่ได้แค่แฟนบอลที่ได้แสดงออกถึงความรักและการส่งกำลังใจผ่านป้ายคัตเอาต์ของตัวเอง แต่ยังช่วยกิจการโรงพิมพ์ในท้องถิ่นที่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย
“เมื่อคุณเข้ามาในสนาม อย่างน้อย 3-4 วินาทีแรก คุณแยกไม่ออกหรอกว่านั่นไม่ใช่คนจริงๆ” มาร์คัส ตูราม บุตรชายนักเตะในตำนาน ลิลิยอง ตูราม เล่าถึงประสบการณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่งที่อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นแฟนๆ ในสนาม
แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวจริงก็ตาม
(ส่วนในการถ่ายทอดสด บรรดาลีกต่างๆ กำลังคิดถึงการใส่ CG เข้าไปใน Wide Shot เพื่อให้ดูเหมือนสนามเต็ม)
- Sporting Goods ใหม่ๆ
ถึงจะมีการตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดแค่ไหน แต่ทุกคนรู้ดีว่าควรจะ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ ในทุกขั้นตอน ซึ่งร่วมถึงนักกีฬาเองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
ว่าแล้วก็เลยทำให้มีการออกมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่จะซ้อมต้องใส่หน้ากาก (Mask) หรือใส่ผ้าคลุมที่ปิดปากได้ (Snood) เพื่อฝึกซ้อมเฟสแรก (ช่วงที่ยังห้ามมีการสัมผัส)
แล้วหน้ากากแบบไหนที่นักกีฬาระดับพรีเมียร์ลีกใช้?
มันต้องเป็นหน้ากากที่ออกแบบมาเฉพาะอยู่แล้ว! ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีข่าวว่าหลายสโมสรได้ติดต่อเพื่อขอซื้อหน้ากากสุดล้ำที่เรียกว่า Altitude Mask N95 ซึ่งเป็นหน้ากากที่ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องนักกีฬาในยุคโควิด-19 โดยเฉพาะ
หน้ากากนี้ทำมาจากซิลิโคนเป็นหลัก มีฟิลเตอร์กรองอากาศ N95 ที่ป้องกันการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี แถมยังมีวาล์วเปิด-ปิดได้อีก 6 ระดับ ทำให้หายใจไม่อึดอัด เรียกว่าใส่ซ้อมฟุตบอลได้ไม่มีเป็นลม
หลังจากนี้เชื่อได้ว่า จะมีอุปกรณ์กีฬาเพื่อรองรับยุคโควิด-19 ออกมาอีกเยอะมาก เช่น ชุดสูทป้องกันเต็มรูปแบบ ถุงมือปลอดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งมันไม่ได้จำเป็นแค่สำหรับนักกีฬาระดับอาชีพ แต่จำเป็นสำหรับนักกีฬาบ้านๆ ทั่วไปที่ต้องการออกกำลังกายแบบไม่ต้องกังวลใจด้วย
- วิถีปฏิบัติใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสนามกีฬาไม่ใช่สถานที่ที่สะอาดที่สุด คราบเหงื่อไคล น้ำลาย เสมหะ เลือด อะไรไม่รู้เต็มไปหมด ลามไปถึงห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว เก้าอี้ ที่นั่ง ฯลฯ เพราะคนมาเล่นกีฬาไม่ได้มาโรงพยาบาล เรื่องความสะอาดนี่เป็นสิ่งที่คำนึงถึงน้อยมาก ถ้าไม่เลวร้ายจริงๆ
แต่หลังจากนี้การจะเล่นกีฬา ความสะอาดต้องมาเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะสาธารณูปโภคต่างๆ ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ เก้าอี้ ไปจนถึงพื้นสนาม จะต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น เวทีมวย สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล จะมีพื้นที่แค่ไหนก็ต้องทำความสะอาด มีการพ่นฆ่าเชื้อทุกจุด
แน่นอนว่าก่อนเข้ามาเล่นกีฬาก็ต้องมีการตรวจเช็กอุณหภูมิด้วย บางที่จะมีการ ‘ฆ่าเชื้อ’ ก่อนเข้าสถานที่ และต่อไปนี้ขวดน้ำของใครของมันเด็ดขาด (ใครชอบฉกขวดน้ำเพื่อนไปกินต้องเลิกนิสัยนี้!)
ถึงมันอาจจะดูโอเวอร์ไปบ้างที่จะต้องทำความสะอาดกันในระดับนั้น แต่เพราะโควิด-19 มันทำให้เรารู้ว่า หากประมาทนิดเดียวก็เกมโอเวอร์ได้ ดังนั้น นี่จะเป็นพฤติกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การจับมือ การฉลองร่วมกัน เป็นต้น พวกนี้ก็ต้องงด
อีกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นแล้วคือ การฝึกซ้อมแบบทางไกลผ่านระบบ Zoom ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และสามารถจะเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อหากมีการระบาดระลอก 2 หรือ 3 หรือ 4 ซึ่งมันอาจจะไม่ถึงกับเหมือนปกติ แต่อย่างน้อยด้วยเทคโนโลยีก็ทำให้การฝึกซ้อมแบบนักกีฬาอาชีพยังพอทำได้อยู่แบบวัดผลได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าถ้านักกีฬาอาชีพทำได้ คนทั่วไปก็ทำตามได้เช่นกัน (ตอนนี้ก็เริ่มมีเทรนเนอร์แบบออนไลน์แล้วนะ!)
- เปลี่ยนไปแข่ง Esports
ในช่วงแรกที่โควิด-19 ทำให้เกมกีฬาทั่วโลกต้องหยุดชะงัก เราได้เห็น ‘โอกาส’ ใหม่ๆ ของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ในการเปลี่ยนเวทีแข่งขันจากสนามจริงไปสนามแข่งในเกมอย่าง Esports แทน และดูเหมือนว่ามันจะเข้าท่าไม่น้อย
ที่ได้รับความนิยมมากคือ กีฬาที่มีเกมค่อนข้างดีมากๆ อย่างฟุตบอล ที่มี FIFA20 และ PES2020 ซึ่งมีนักฟุตบอลลงสนามแข่งขันกันเพียบ โดยเฉพาะในรายการที่มันมากคือ รายการของพรีเมียร์ลีกที่แฟนๆ ทั้งโลกได้ลุ้นระทึกกันระหว่าง ดีโอโก โชตา กองหน้าตัวแทนทีมวูล์ฟส์ กับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ แบ็กขวาดาวเด่นของลิเวอร์พูล ที่มันไม่แพ้เกมในสนามจริง
หรือเกมรถแข่ง F1 ซึ่งทางด้าน FIA มองการณ์ไกล มีการจัดการแข่งขัน Virtual GP อยู่แล้ว ก็เลยอาศัยจังหวะนี้เอานักขับจริงๆ มาแข่งกับนักกีฬา Esports และปรากฏว่า โคตรมัน เราได้เห็นนักขับดังๆ อย่าง ชาร์ลส์ เลอแกลร์ก เข้าป้ายเป็นอันดับ 1 ของการแข่งขันด้วย
แม้กระทั่งเทนนิสเองก็มีการแข่งแบบ Esports ในรายการ Mutua Madrid Open Virtual Pro
ดังนั้น Esports จึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับนักกีฬาและแฟนกีฬา ที่จะชดเชยในเวลาที่ไม่มีกีฬาจริงๆ ดู
อ้างอิง:
- https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-8290407/App-fans-send-cheers-jeers-sofas-stadiums.html
- https://sports.yahoo.com/joe-buck-pretty-much-done-003327445.html
- https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-8274421/Coronavirus-UK-state-art-protective-face-mask-Premier-League-clubs-talks-use.html
- https://edition.cnn.com/2020/05/09/football/bundesliga-borussia-monchengladbach-fans-cutout-spt-intl/index.html
- https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/borussia-monchengladbach-fans-pay-for-cardboard-cut-outs-charity-coronavirus-10911
- https://www.theweek.in/news/sports/2020/04/18/how-covid-19-is-likely-to-impact-sports-in-future.html
- https://www.ea.com/games/fifa/fifa-20/stay-and-play-cup#about
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum