ทบทวน 5 นโยบายเศรษฐกิจเด่นของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย หลังทั้งสองพรรคซึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประกาศจับมือกันร่วมตั้งรัฐบาลกับอีก 7 พรรคการเมือง
นโยบายเศรษฐกิจเด่นพรรคก้าวไกล
ในเอกสารที่ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคก้าวไกลอธิบายถึงสวัสดิการทุกช่วงวัย ตั้งแต่สวัสดิการการเกิด สวัสดิการการเติบโต สวัสดิการการทำงาน และสวัสดิการผู้สูงอายุ
1. สวัสดิการวัยทำงาน ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงได้รับการคุ้มครองทั้งด้านสวัสดิภาพในการทำงาน มีสวัสดิการในการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระยะแรก โดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่
- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท
- นโยบายทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้ค่าล่วงเวลา (OT)
- แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
- ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ
- แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด มีระบบจัดหางาน
- คูปองเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาทต่อปี
โดยพรรคก้าวไกลประเมินว่า ต้องใช้วงเงินประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินที่รัฐจะต้องสมทบให้กับประกันสังคมถ้วนหน้าและคูปองเสริมทักษะ
2. หวยใบเสร็จ เป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริม SMEs เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง และทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยโครงการอื่นๆ ดังนี้
- การบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs
- การหักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี
- หวยใบเสร็จซื้อของร้านค้ารายย่อย โดยทั้งคนซื้อและคนขายได้หวยลุ้นรวยเงินล้าน
- ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ซื้อจาก SMEs
- โควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SMEs ในห้างใหญ่
- คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น
- ทุนแสนตั้งตัว 200,000 ราย และทุนล้านตั้งตัว 25,000 ราย
- จัดตั้งสภา SMEs ทุกจังหวัด
3. นโยบายลดการผูกขาด เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ช่วยลดปัญหาการผูกขาดอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค และเกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า และการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะ Virtual Bank
4. เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี เพื่อเพิ่มธุรกิจถูกกฎหมายหรือเศรษฐกิจโปร่งใส ได้แก่ อาชีพให้บริการทางเพศถูกกฎหมาย, ปลดล็อกเซ็กซ์ทอยและหนังผู้ใหญ่, ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า, คาสิโนของรัฐถูกกฎหมาย และเปิดคาสิโนออนไลน์ของรัฐ
โดยพรรคก้าวไกลอธิบายว่า เนื่องจากกลุ่มเศรษฐกิจสีเทาอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างผิดกฎหมายมานานแล้ว การทำให้ถูกกฎหมายจะช่วยทำให้รัฐสามารถเข้าไปควบคุมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ และยังเป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศอีกด้วย
5. คืนที่ดินประชาชน 10 ล้านไร่ ภายใต้นโยบายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อช่วยให้มีการออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนที่มีสิทธิในที่ดินที่ควรได้ ทำให้มีความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเอง เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนจากนโยบายรัฐได้ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้
- กองทุนพิสูจน์สิทธิ 1 หมื่นล้านบาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร
- เปลี่ยนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม
- เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที
- ตั้งธนาคารที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน
- เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
โดยพรรคก้าวไกลคาดการณ์ว่าจะใช้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทเป็นเงินสมทบกองทุนพิสูจน์สิทธิในที่ดิน (ใช้ในครั้งเดียว)
นโยบายเศรษฐกิจเด่นพรรคเพื่อไทย
1. นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท
และเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพ โดยทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
พรรคเพื่อไทยอธิบายว่า นโยบายนี้ไม่ต้องใช้วงเงินงบประมาณ แต่จะต้องสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตสูง ในระดับที่เพียงพอให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งใช้การบริหารระบบงบประมาณภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ลดขนาดของรัฐราชการ แต่เพิ่มผลิตภาพและสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง
2. นโยบายหวยบำเหน็จ
เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกลไกการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ลุ้นเงินรางวัล และยังได้รับเงินทุกบาททุกสตางค์คืนตอนอายุ 60 ปี สำหรับวงเงินที่ต้องใช้ในนโยบายนี้ พรรคเพื่อไทยประเมินไว้ที่ 800 ล้านบาท พร้อมทั้งระบุว่า ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจะสูงกว่างบประมาณที่ใช้
3. เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน
ใช้จ่ายใกล้บ้านในระยะ 4 กิโลเมตร ภายใต้นโยบายเงินสกุลดิจิทัลและ Digital Wallet เพื่อประชาชน เพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ
และนโยบายบล็อกเชนสัญชาติไทย เพื่อสร้างประโยชน์ทางด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ รวมถึงระบบการชำระเงิน สำหรับที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ พรรคเพื่อไทยระบุว่า จะใช้การบริหารราชการปกติของรัฐในการสนับสนุนให้เอกชนกับภาครัฐพัฒนาระบบบล็อกเชนขึ้น เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เกิดรายได้เข้ารัฐ รวมถึงการคอร์รัปชันที่ลดน้อยลง ส่งผลให้รัฐสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้ดีขึ้น
4. นโยบายด้านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)
เพื่อประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านการสร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น และหาดใหญ่ ด้วยความพร้อมทางด้านมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐาน ที่พร้อมขับเคลื่อน Startup และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชนด้วยกุญแจ 3 ดอก ดังนี้
- กุญแจดอกที่ 1 ‘กฎหมายธุรกิจชุดใหม่’ เป็นการปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจของ Startup และ SMEs ในทุกมิติ รวมถึงดึงเงินของนักลงทุนต่างชาติเข้าแก้ไขปัญหาด้านใบอนุญาตต่างๆ ปัญหาแรงงาน การนำเข้า-ส่งออก และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
- กุญแจดอกที่ 2 ‘สิทธิประโยชน์ใหม่’ ให้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีนำเข้า จะไม่แพ้ที่ใดในโลก
- กุญแจดอกที่ 3 ‘ระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่’ โดยการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนทำงานใหม่ และระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนได้
- นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนและส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ โดยพรรคเพื่อไทยประเมินว่า วงเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินนโยบายอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และอีก 8 พันล้านบาทต่อปี ผ่านการบริหารงบประมาณปกติ
นอกจากนโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสายแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีนโยบายด้านการคมนาคมอื่นๆ อีก เช่น นโยบายติดแอร์ให้รถไฟชั้น 3 ทุกขบวน พร้อมปรับปรุงสภาพภายในให้ทันสมัย, นโยบายยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเดินทางไป-กลับประจำได้อย่างแท้จริง และนโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: