วันนี้ (30 กรกฎาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข แนวร่วมบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand) เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการกระจายวัคซีน Pfizer ที่เข้ามาในวันนี้
ด้าน นพ.ปุณณพัฒน์ ทวีพรภูริพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติ 4 ข้อคือ
- นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้ประชาชนคนไทยทุกคน
- ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสจำนวนเท่าใด และยังเหลือบุคลากรที่ยืนยันจะรับ Pfizer เป็นจำนวนเท่าใด
- นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีน โดยระบุยี่ห้อและล็อตต่างๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชนและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต
- มีความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ แก่ประชาชน ด้วยการรายงานความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนพร้อมหลักฐานยืนยันอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความไม่มั่นใจ โดยข้อมูลที่สื่อสารจากแต่ละแผนกของหน่วยงานราชการ ควรเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้เนื้อหาในหนังสือยังระบุว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ภายในประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าวันละ 1 หมื่นรายและผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 4 พันราย นับเป็นหนึ่งในวิกฤตทางสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยได้ประสบมา
ณ เวลานี้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนล้วนเหนื่อยล้าท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วงและเต็มไปด้วยความเสี่ยง บุคลากรจำนวนมากไม่อาจกลับบ้านเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายเดือน ด้วยกังวลว่าจะนำเชื้อโรคไปสู่ครอบครัว บุคลากรหลายท่านต้องขึ้นเวรติดต่อกันแม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ หลายท่านติดเชื้อโควิดหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกันกับประชาชนทุกท่านที่ล้วนตกอยู่ภายใต้ความลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แม้ว่าบุคลากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีน Sinovac แล้วครบ 2 เข็ม แต่ทว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาทวีคูณมากขึ้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวัคชีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลตาน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น
จากข้อมูลปัจจุบันในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า บุคลากรติดเชื้อโควิด มากกว่า 2,000 ราย ขณะเดียวกัน บุคลากรอีกนับหมื่นรายต้องกักตัวเพื่อตรวจเชื้อช้ำ ซึ่งลดทอนอัตรากำลังในขณะที่ระบบต้องการบุคลากรมากที่สุด
การประกาศของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ระบุว่า สหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีน Pfizer ให้กับประเทศไทยจำนวน 2.5 ล้านโดส โดยจะมีการนำเข้าล็อตแรกมากกว่า 1.5 ล้านโดสภายในเดือนนี้ และมีกลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรด่านหน้าผู้สูงอายุ และผู้มีความเสี่ยงเป็นหลัก จึงเป็นเหมือนหลักประกันให้แก่บุคลากรด่านหน้าให้พอคลายความกังวลใจได้ว่าจะเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงานน้อย
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนในการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเนื้อหาในเอกสารราชการหลายฉบับ ทำให้ประชาชน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เกิดความวิตกว่าการกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามความจำเป็น หรือว่าจำนวนวัคซีน Pfizer ที่ได้รับมาอาจไม่ถูกจัดสรรให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ต้องการ
จึงขอวิงวอนให้ทางกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มอย่างถี่ถ้วน จัดสรรวัคชีนอย่างยุติธรรมให้ผู้ที่สมควรได้รับ รวมถึงเปิดเผยแผนการ และจำนวนการจัดสรรวัคซีน Pfizer ในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรด่านหน้า ซึ่งกำลังรับศึกอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวันโดยไม่ทราบชะตากรรม เพื่อความโปร่งใสและการกระจายวัคซีนให้ถึงมือผู้ควรได้รับตามความเสี่ยงและความจำเป็น
พร้อมกันนี้ทางตัวแทนได้แนบรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน 62,000 รายชื่อที่ลงผ่านแคมเปญ change.org/vaccineWeTrust รวมทั้งที่แสดงพลังผ่าน #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจภาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังรับหนังสือจากทางตัวแทนว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในปัญหาสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วงเช้าวันนี้วัคซีน Pfizer ได้เดินทางถึงประเทศไทย การกระจายวัคซีนดังกล่าวจะเน้นที่กลุ่มแรกซึ่งเป็นภารกิจดูแลแพทย์ และพยาบาลที่เป็นบุคลากรด่านหน้า รวมไปทั้งเจ้าหน้าที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกส่วน
โดยยืนยันว่าการกระจายวัคซีนมีระบบที่ดีโปร่งใสตรวจสอบได้ คันแรกวัคซีนจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 และจะถูกส่งต่อให้กับบุคลากรด้านหน้า และจัดลำดับความสำคัญลงมาเป็นกลุ่มที่ทำงานเสี่ยงกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มผู้ตั้งครรภ์และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณตัวแทนบุคลากรที่เดินทางมาเรียกร้องและเป็นเสียงสะท้อนให้กับบุคลากรท่านอื่นๆ โดยใช้วิธีสันติ ยืนยันว่าต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหน้าติดเชื้อระบบสาธารณสุขก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้ ทุกรายชื่อไม่มีการตกสำรวจ