บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 24 ธันวาคมนี้ ด้วยราคาหุ้น IPO ที่กำหนดไว้ 28 บาทต่อหุ้น โดย KEX เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 17.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO
การขายหุ้น IPO ของ KEX ได้รับความสนใจมาตั้งแต่บริษัทประกาศแผนเมื่อต้นปี ฉะนั้นจึงเป็นที่คาดหวังกันมากว่าเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วจะขึ้นแท่นหุ้น IPO ที่โดดเด่นประจำปี 2563 ด้วย 5 ปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
สถาบันจองหุ้นล้น
ในการจัดสรรหุ้น IPO ไม่เกินจำนวน 300 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการจัดสรรหุ้นดังนี้
- จำนวน 100 ล้านหุ้น จัดสรรให้นักลงทุนรายบุคคล
- ผู้มีอุปการคุณ 50%
- นักลงทุนทั่วไป 50%
- จำนวน 200 ล้านหุ้น จัดสรรให้นักลงทุนสถาบัน
- Cornerstone Investor ประมาณ 85 ล้านหุ้น ยอดจองล้น 10 เท่า
- นักลงทุนสถาบัน ประมาณ 110 ล้านหุ้น ยอดจองล้น 23 เท่า
ความต้องการที่เกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเมื่อ KEX เข้าซื้อขายในซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วจะได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุน
ทั้งนี้ KEX กำหนดราคาหุ้น IPO ที่ 28 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ 33 เท่า ใกล้เคียงกับธุรกิจขนส่งพัสดุในระดับภูมิภาคที่มีค่า P/E ที่ 20-30 เท่า
ขณะที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ในแต่ละปี
กำไรโตต่อเนื่อง-คุม Cost ได้ดี
KEX แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 292.09 ล้านบาท ลดลง 18.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 358.73 ล้านบาท
ขณะที่งวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,030.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 900.2 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 14,688.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโซเชียลคอมเมิร์ช (Social Commerce) และอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งบริษัทได้จัดส่งพัสดุมากกว่า 202 ล้านชิ้น
ส่วนต้นทุนขายลดลง 1.86% มาอยู่ที่ 12,249.97 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12,482.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการขายลดลง 24.45% มาอยู่ที่ 180.26 ล้านบาท จากค่าโฆษณาที่ลดลงและเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้โฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ในงวด 9 เดือนปีนี้ อัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ 7% เทียบกับธุรกิจเดียวกันในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิในช่วง 5-9%
เบอร์ 1 ในกลุ่มจัดส่งพัสดุด่วน
KEX เป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนอันดับ 1 ในประเทศไทย โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- บุคคลส่งถึงบุคคล (C2C) คิดเป็น 53.9% ของรายได้รวม
- ธุรกิจส่งถึงบุคคล (B2C) คิดเป็น 44.3% ของรายได้รวม
- ธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B) คิดเป็น 1.7% ของรายได้รวม
KEX ให้บริการจัดส่งพัสดุแบบครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกประเภท และมีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง มีจำนวนรถรับพัสดุมากกว่า 25,000 คัน และ ณ สิ้นงวด 9 เดือนปีนี้ KEX จัดส่งพัสดุเป็นจำนวนเฉลี่ยทั้งสิ้นกว่า 1.2 ล้านชิ้นต่อวันทำการ
โตตามอีคอมเมิร์ซ
KEX ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า ปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของธุรกิจคือ การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ และมองภาพรวมตลาดโดยอ้างอิงข้อมูลจาก Frost & Sullivan พบว่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ช่วงปี 2563-2467 จะมี Compound Annual Growth Rate (CAGR) อยู่ที่ 26.7% เทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2562) อีคอมเมิร์ซไทยมี CAGR อยู่ที่ 22.2%
ทั้งนี้ส่วนแบ่งยอดขายปลีกออนไลน์จากยอดขายปลีกรวมของประเทศไทยในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 5.2% เทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 3.7% ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ มีสัดส่วนดังกล่าวที่สูงมาก โดยจีนอยู่ที่ 27.5% ญี่ปุ่น 9% สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 18.3% สหรัฐอเมริกา 15.2% และเกาหลีใต้ 26.7%
เกาะเทรนด์ ‘หุ้นเทค’
แม้ Core Business ของ KEX คือธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน แต่ทีมบริหารรวมถึงที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า KEX มีความเป็นหุ้นเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน สะท้อนจากการนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่ม Productivity ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ผันผวนผลตอบแทนอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า