SCB CIO แนะ 5 กลยุทธ์ลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตลาดขาขึ้นและลง ด้าน SCBS คาดการณ์เป้าหมายดัชนี SET ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด แนะจับตาหุ้น BBL, BJC, CPF, CBG และ MTC มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ส่วนธนาคารจูเลียส แบร์ แนะนำ Private Equity สามารถมีไว้ในพอร์ตได้สูงถึง 20% เป็นโปรดักต์ที่รองรับความผันผวนของตลาดได้ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา Defining News Opportunities: Investment Outlook 2022 ที่จัดให้สำหรับลูกค้า SCB Private Banking ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งสัญญาณว่าอาจจะชะลอตัวลงในการประกาศตัวเลขของเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารปรับตัวลดลง ราคาบ้านลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงถึง 2 เท่า จากเดิมกู้ 30 ปี อยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ต่อปี ซึ่งราคาค่าเช่าบ้านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับราคาบ้าน ด้านค่าแรงงานต่อชั่วโมงเริ่มปรับตัวลดลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ถูกลง ประกอบกับปัจจุบันที่ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าลดลงทำให้ต้นทุนต่ำลง จึงสะท้อนว่าสินค้าต่างๆ จะมีการขึ้นราคาที่ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดว่าการประชุมในเดือนกันยายนอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% และในปีนี้ปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่วนปีหน้าอาจจะหยุดขึ้น เพราะภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ราคาน้ำมัน แม้ว่าในระยะสั้นจะปรับตัวลดลง แต่กำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC มีสำรองการผลิตที่ลดลง แม้ราคาปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากนัก รวมถึงการลงทุนในด้านการขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆ เม็ดเงินที่ลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ราคาพลังงานอาจจะลดลงไม่ได้มากนัก รวมถึงซัพพลายที่ขาดแคลนในปีนี้ ประเทศในกลุ่ม OPEC ผลิตได้น้อยกว่าโควตาที่ได้รับ ทำให้มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิต จึงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอาจเป็นไปได้ว่าเพียงระยะเวลาสั้น ไม่ใช่การลดลงแบบถาวร
ส่วนประเทศในแถบยุโรป มองว่าอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ผ่านจุดสูงสุด เนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก และอยู่ในภาวะวิกฤตพลังงานพอสมควร แม้จะแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ แล้วก็ตาม แต่ต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากรัสเซีย ซึ่ง GDP ของประเทศแถบยุโรปมีโอกาสเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยก่อนประเทศอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุด อาจจะมีโอกาสสูงกว่า 7% เนื่องจากราคาสินค้าต่างๆ กำลังขอปรับขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ภาคประชาชนยังอยู่ในจุดที่เปราะบาง ค่าแรงที่หักด้วยเงินเฟ้อ คือค่าครองชีพเท่ากับติดลบ ดังนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง เพราะหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมประชาชนมากขึ้นไปอีก ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าไม่ได้ก่อให้เกิดเงินทุนไหลออกจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ เหมือนสหรัฐฯ แต่คาดว่า กนง. มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ประมาณ 0.25% โดยในปีนี้จะปรับขึ้นประมาณ 3 ครั้ง ส่วนปีหน้าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง
ศรชัยกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ภาวะการลงทุนที่มีความผันผวนจะมีการลงทุนอย่างไรให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งตลาดขาขึ้นและลง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลยุทธ์การลงทุน ดังนี้
- การสร้างกระแสเงินสดในพอร์ตลงทุน โดยการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหุ้นกู้เอกชนประเภท Investment Grade เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้อีกไม่มากนัก รวมทั้งการลงทุนในกองทุนรีท เพื่อรับผลตอบแทนจากเงินปันผล เนื่องจากธุรกิจโรงแรมเริ่มกลับมาคึกคัก นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ราคาห้องพักเริ่มกลับไปในราคาปกติก่อนช่วงเกิดโควิด
- กระจายความเสี่ยงไปสู่โปรดักต์ใหม่ๆ ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับตลาด เช่น การลงทุนใน Private Assets เช่น Private Equity, Private Debt และ Private Real Estate เป็นการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเป็นการลงทุนระยะยาว และมีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนหุ้นในตลาด และช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้
- หุ้นกู้อนุพันธ์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสด เช่น การนำตราสารหนี้มารวมกับอนุพันธ์ เพื่อสร้างตราสารอนุพันธ์ ข้อดีคือ สามารถออกแบบเพื่อสร้างกระแสเงินในระดับสูงได้ คุ้มครองเงินต้นได้ เช่น Shark-Fin หรือ Inverse Floater เป็นต้น ส่วนประเภทไม่คุ้มครองเงินต้น ได้แก่ KIKO (Knock-in Knock-out) ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงในรูปของกระแสเงินสด
- การลงทุนระยะยาวผ่านสินทรัพย์ประเภท Thematic Themes เป็นการลงทุนที่มองข้ามระยะสั้นที่มีความผันผวน เป็นการมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มในการเติบโตดีในอนาคต เช่น Healthcare, E-Commerce และ Green Energy ประเภท EV Car เป็นต้น
- การนำสินทรัพย์มาสร้างผลตอบแทนผ่าน Wealth Lending Products ประเภท Property Backed Loan หรือ Lombard Loan โดยการนำหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินว่างเปล่า มาเป็นหลักประกันเงินกู้ดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ เพื่อนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีสู้กับเงินเฟ้อ ภายใต้การดูแลของทีมที่ปรึกษาการลงทุนของธนาคาร เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยผลตอบแทนสำหรับความเสี่ยงระดับกลางอยู่ที่ประมาณ 7-8% ต่อปี
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า โลกกำลังกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีกว่าประเทศอื่นมากนัก จากตัวเลข GDP เชื่อว่าไทยยังอยู่ในกลุ่มที่เป็นบวกได้ค่อนข้างดี โดยมอง GDP อยู่ที่ประมาณ 2-3% ในปีนี้ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิเคราะห์ GDP ไทยอยู่ที่ 2.8% และสถาบันในประเทศส่วนใหญ่ประมาณการไว้ที่ 3% ขึ้นไป
ดังนั้น จึงเห็นว่าไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง ซึ่งภาพเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นมีความต่างกัน นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีก็จะไม่ลงทุน จริงๆ แล้วในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีควรเป็นจังหวะที่ต้องลงทุน เพราะว่าตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ชี้นำเศรษฐกิจ โดย SCBS ได้ประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์สิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 1,650 จุด โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 นี้ ตลาดหุ้นไทยและหุ้นโลกมีโอกาสเป็นจุดต่ำสุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้นับเป็นจังหวะที่ดีที่มีของดีราคาถูกเป็นโอกาสที่มีให้เลือกลงทุนมากที่สุด โดยควรมองหาหุ้นที่เริ่มฟื้นตัวและเริ่มมีกำไร โดย SCBS ขอแนะนำ 5 บริษัทที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ หุ้น BBL, BJC, CPF CBG และ MTC เนื่องจากหุ้น BJC หรือ Big C ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ, หุ้น CPF กลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งได้รับประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และหุ้น CBG ขายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นช่วงการฟื้นตัวของธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง ต้นทุนวัตถุดิบแพ็กเกจจิ้งเริ่มถูกลง
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นอาจจะมีความผันผวน เพราะการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV มีประมาณ 30% ของรายได้ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ ที่ประเทศดังกล่าวหลีกเลี่ยงในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์ขาด แต่มองว่าการลงทุนหุ้น CBG เป็นจังหวะที่น่าจับตา และปีหน้าคาดว่าภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มยังเป็นขาขึ้นอยู่ ส่วนหุ้น MTC ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำสุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและมีความกังวลเรื่องหนี้เสีย แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ดอกเบี้ยเริ่มคงที่ น่าจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นของ MTC
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ถึงแม้จะปรับตัวลดลง แต่ไม่มากเท่ากับตลาดหุ้นของสหรัฐฯ หรือตลาดหุ้นในเอเชีย ตลาดหุ้นไทยยังถือว่า Outperform กว่าตลาดอื่นๆ เนื่องจากมีหุ้นในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศอยู่มากพอสมควร ซึ่งหุ้นในกลุ่มเหล่านี้เป็นบวกกับตลาดหุ้น เนื่องจากมีผลประกอบการและปัจจัยพื้นฐานดี ต่างจากภาคเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับภาคการบริโภคและการส่งออก ซึ่งไม่ได้มีสัดส่วนที่ใหญ่ในตลาดหุ้น การลงทุนในตลาดหุ้นจะวิเคราะห์จากธุรกิจ แต่เศรษฐกิจจะวิเคราะห์จากภาพรวมของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ
ส่วนผลตอบแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ ท่องเที่ยว และขนส่ง ส่วนที่เหลือขาดทุนแต่ไม่ได้ลึกมาก ถ้าดูค่าเฉลี่ยของไทยส่วนใหญ่ขาดทุนไม่ถึง 10% แต่จะมีที่เกิน 10% อยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม นั่นหมายความว่าตลาดหุ้นไทยลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ขาดทุนมากว่า 20% อย่างไรตาม อยากให้โฟกัสที่เซ็กเตอร์ที่มีผลต่อเงินเฟ้อ เช่น กลุ่มพลังงาน อาหาร ธนาคาร และประกัน ซึ่งหุ้นกลุ่มเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีหากดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
โดนัลด์ ไรซ์ Head of Funds Specialist Asia ธนาคารจูเลียส แบร์ กล่าวว่า ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันบัตรและการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นลบทั้งคู่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความผันผวนจากความไม่แน่นอนของเงินเฟ้อ นำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้สินทรัพย์ประเภท Traditional Asset มีความผันผวนสูง ดังนั้น เราจึงมีโปรดักต์ที่สามารถรองรับความผันผวนของตลาดได้ คือ การลงทุนใน Private Equity ที่ในปัจจุบันมีความนิยมลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักลงทุนสถาบัน เช่น ฟันด์ต่างๆ หน่วยงานที่คอนเซอร์เวทีฟทางด้านการลงทุน และธุรกิจ Wealth ที่บริหารเงินให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ก็เลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private Equity ซึ่งสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 5-10% และสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนได้ถึง 20% ในพอร์ตโฟลิโอ
ทั้งนี้ ในพอร์ตการลงทุนควรจะมี Private Equity เพื่อเป็นการกระจายพอร์ตการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนใน Traditional Asset และทำให้สามารถเข้าถึงบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแต่อยู่นอกตลาด ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐฯ บริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ลดลง เนื่องจากมีเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เข้ามาควบคุมมากขึ้น ในขณะที่บริษัทที่เป็น Private Company มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ เหล่านี้ และอยู่ในช่วงของการเติบโตในอัตราที่สูง จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี
“จากประสบการณ์ 20 ปีในการลงทุนผ่าน Private Equity อย่างมืออาชีพ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและชำนาญในการเข้าไปช่วยต่อยอดธุรกิจ ทั้งเทคนิคทางด้านการเงินและการบริหาร เพื่อทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ จากการระดมทุนของ Private Equity ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” ไรซ์กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนใน Private Equity ได้แก่ 1. ความผันผวนของตลาด แม้จะน้อยกว่าการลงทุนใน Traditional Asset 2. กฎระเบียบการลงทุนมีความแตกต่างจาก Traditional Asset 3. ความไม่แน่นอนของผลตอบแทน เนื่องจากในช่วงแรกอาจจะต้องระดมเงินเข้าไปก่อน แต่หลังจากบริษัทเริ่มทำกำไรได้ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี 4. ข้อมูลการลงทุนไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นระยะ จะไม่สม่ำเสมอเท่ากับการลงทุนในหุ้นทั่วไป และ 5. เป็นการลงทุนระยะยาวที่มีสภาพคล่องต่ำ