ปี 2022 ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในปีที่นักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนและการดิ่งลงของตลาดการเงินการลงทุน ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบคงหนีไม่พ้นเรื่องของการปรับนโยบายทางการเงินทั่วโลก จากผ่อนคลายมาสู่ตึงตัวเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ขณะนี้นักลงทุนกำลังเผชิญกับยุคใหม่ของการลงทุน ซึ่งต้นทุนอัตราดอกเบี้ยดูเหมือนจะคงอยู่ในระดับสูงเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากขึ้นสำหรับนักลงทุน การคัดสรรหุ้นโดยมองข้ามเรื่องของมูลค่าที่สูงกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมทั้งเลือกหุ้นที่ไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีงบดุลที่อ่อนแอ กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนอาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
เมื่อภาพใหญ่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลสำหรับนักลงทุนทุกคนที่จะกลับมาปรับปรุงกลยุทธ์ของตัวเองอีกครั้ง และนี่คือ 5 ปณิธานสำคัญ ที่อาจช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับการลงทุนในปี 2023
1. หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีหนี้จำนวนมาก
บริษัทใดก็ตามที่มีหนี้จำนวนมากจะเผชิญกับต้นทุนในการชำระคืนหนี้ที่สูงขึ้น ท่ามกลางช่วงเวลาของการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว
สำหรับบางบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอน เช่น สาธารณูปโภค และบุหรี่ สามารถที่จะทนทานต่อการมีหนี้ได้สูงกว่าบริษัทที่มีธุรกิจแบบวัฏจักร ซึ่งผลประกอบการมักจะผันผวนมากกว่า เช่น ค้าปลีก และสื่อ
หนึ่งในวิธีการประเมินอัตราส่วนหนี้ของบริษัทต่างๆ คือการนำหนี้ทั้งหมดลบด้วยเงินสดที่มีอยู่และหารด้วยสินทรัพย์สุทธิ หากตัวเลขออกมาสูงกว่า 100% ถือเป็นสัญญาณอันตราย เว้นแต่ว่าธุรกิจนั้นจะมีความมั่นคงสูงมาก
อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญคือ อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย คำนวณได้จากการนำกำไรจากการดำเนินงานหารด้วยต้นทุนทางการเงินทั้งหมด หากตัวเลขออกมาต่ำกว่า 3 ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก หากไม่ใช่ธุรกิจที่ Defensive อย่างมาก
2. มองหาความได้เปรียบในการแข่งขัน
การเติบโตของอัตรากำไรเป็นสิ่งที่จะทำได้ยากยิ่งขึ้นท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว มีเพียงแค่บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ชัดเจนและมีความยั่งยืน ถึงจะสามารถสร้างการเติบโตของอัตรากำไรได้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้แตกต่างไปจากทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศของเศรษฐกิจที่สดใสเอื้อให้บริษัทที่มีคุณภาพต่ำยังสามารถสร้างกำไรเติบโตได้
สำหรับการประเมินความได้เปรียบในการแข่งขันอาจทำได้ง่ายๆ ในเบื้องต้นจากการพิจารณาบริษัทที่สร้างผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงกว่า 10% ติดต่อกันหลายปี โดยต้องพิจารณาด้วยว่าบริษัทนั้นๆ มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่สูงเกินไป นอกจากนี้ สามารถพิจารณาจากอำนาจในการกำหนดราคา ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความซื่อสัตย์ของลูกค้า
3. อย่ายอมจ่ายในราคาที่สูงเกินจริง
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหมายความว่านักลงทุนจะให้มูลค่าหุ้นต่างๆ ต่ำลง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ ‘อัตราคิดลด (Discount Rates)’ สูงขึ้น ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) ของกระแสเงินสดในอนาคตของแต่ละบริษัทลดลง
แน่นอนว่าแนวทางในการประเมินมูลค่ามีหลากหลาย แต่ควรใช้แนวทางเดียวกันสำหรับประเมินหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสิ่งที่สำคัญมากคือการมองหาส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety)
4. เตรียมพร้อมที่จะลงมืออย่างรวดเร็ว
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมาหุ้นหลายตัวซื้อขายกันที่ระดับใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดใหม่ในเดือนมกราคม ก่อนจะดิ่งลงอย่างหนัก
การดิ่งลงของราคาหุ้นจะกลายเป็นโอกาสในการซื้อสำหรับนักลงทุนระยะยาว ดังนั้น มันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะถือเงินสดไว้บ้างท่ามกลางความผันผวน ขณะเดียวกันนักลงทุนควรประเมินและติดตามหุ้นที่อาจจะราคาสูงกว่ามูลค่า แต่หลังจากนี้อาจจะน่าสนใจท่ามกลางตลาดขาขึ้น
5. มองภาพระยะยาว
การมองโลกแง่บวกเป็นสิ่งที่หาได้ยากในกลุ่มนักลงทุนที่กำลังเผชิญกับตลาดหุ้นที่ผันผวนหนัก อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่เป็นวัฏจักรโดยธรรมชาติ หุ้นที่ขึ้นได้ก็สามารถลดลงได้ หลังจากนั้นก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
นักลงทุนที่สามารถมองข้ามความผันผวนในระยะสั้นจะได้รับผลตอบแทนจากการถือครองหุ้นที่ดีในระยะยาว
อ้างอิง: