×

ย้อนรำลึก 5 บทเรียนสำคัญจาก Spider-Man ทั้ง 3 เวอร์ชัน ที่ย้ำเตือนให้ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ได้เรียนรู้ความหมายของการเป็น ‘ฮีโร่’

07.01.2022
  • LOADING...
Spider-Man

*หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ Spider-Man (2002), Spider-Man 2 (2004), The Amazing Spider-Man 2 (2014), Spider-Man: Homecoming (2017) และ Spider-Man: Far from Home (2019)

 

แม้ว่าภาพยนตร์ชุด Spider-Man ทั้ง 3 เวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็น Tobey Maguire, Andrew Garfield และ Tom Holland จะถูกตีความ สร้างสรรค์ และนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมข้อหนึ่งที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของภาพยนตร์ทั้ง 3 เวอร์ชัน เห็นจะเป็นเรื่องราว Coming of Age ของเด็กหนุ่มอย่าง ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ที่ต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความผิดพลาด ความผิดหวัง และการสูญเสีย ที่ทำให้ปีเตอร์และผู้ชมทุกคนได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

 

THE STANDARD POP พาแฟนๆ ของเพื่อนบ้านที่แสนดี สไปเดอร์แมน มาร่วมย้อนรำลึกถึง 5 บทเรียนสำคัญจากภาพยนตร์ Spider-Man ทั้ง 3 เวอร์ชัน ที่ย้ำเตือนให้ปีเตอร์ได้เรียนรู้ความหมายของการเป็น ‘ฮีโร่’ กันอีกครั้ง 

 

ภาพ: IMDb 


 

 

“ปีเตอร์ ช่วงนี้แหละที่ผู้ชายจะเปลี่ยนเป็นคนที่เขาจะเป็นไปตลอดชีวิต เลือกเดินดีๆ นะหลาน แฟลช ทอมป์สัน อาจจะสมควรเจ็บตัว แต่เพียงเพราะหลานเล่นงานเขาได้ ก็ไม่ได้แปลว่าหลานมีสิทธิ์ทำแบบนั้น จำไว้นะ พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”

 

ดูเหมือนว่าประโยคข้างต้นที่ ลุงเบน (Cliff Robertson) กล่าวกับ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Tobey Maguire) ในภาพยนตร์ Spider-Man (2002) จะเป็นประโยคที่อธิบายความหมายของการเป็น ‘ฮีโร่’ ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พลังเหนือมนุษย์ในทางที่ถูกต้องคอยช่วยเหลือผู้คนแม้จะไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน และยังต้องแลกมากับชีวิตแสนธรรมดาที่เขาไม่อาจจะมีได้ ซึ่งคำพูดประโยคนี้ยังเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้ปีเตอร์ได้ยึดมั่นในยามที่ตนเองรู้สึกไขว้เขวกับการเป็นสไปเดอร์แมนอีกด้วย

 


 

 

 

เรียกว่าชีวิตการเป็นเพื่อนบ้านที่แสนดีของปีเตอร์จะทำให้ชีวิตของเขาต้องพบเจอกับมรสุมมากมาย จนทำให้ชีวิตของปีเตอร์ชุลมุนวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในการทำงาน เวลาเรียน การถูกหนังสือพิมพ์ Daily Bugle โจมตีในแง่ร้าย ลามไปจนถึงเวลาส่วนตัวของเขาที่ไม่สามารถไปดูการแสดงละครเวทีของ เอ็มเจ (Kirsten Dunst) หญิงสาวที่เขาแอบชอบได้ จนทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาค่อยๆ ห่างเหินมากขึ้น 

 

ทั้งหมดนี้จึงเริ่มส่งผลให้จิตใจของปีเตอร์สั่นคลอนลงเรื่อยๆ และนำไปสู่การที่ปีเตอร์ตัดสินใจทิ้งชุดสไปเดอร์แมน เพื่อกลับไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาในที่สุด

 

กระทั่งวันหนึ่งปีเตอร์ต้องเดินทางไปหาป้าเมย์ (Rosemary Harris) เพื่อช่วยขนของย้ายบ้าน ตอนนั้นเองที่ เฮนรี่ เด็กหนุ่มข้างบ้านที่มาช่วยป้าเมย์ขนของ จึงได้ถามปีเตอร์ถึงการหายตัวไปของสไปเดอร์แมน จนทำให้เขาเริ่มทำตัวไม่ถูกว่าควรจะตอบเด็กหนุ่มตรงหน้าอย่างไร ทันใดนั้นป้าเมย์จึงเข้ามาร่วมวงสนทนา พร้อมเล่าเรื่องราวของเฮนรี่ที่หลงใหลในสไปเดอร์แมนให้ปีเตอร์ฟัง  

 

“บนโลกนี้มีน้อยคนที่จะเหาะไปทั่ว ช่วยชีวิตคนแก่ๆ อย่างป้า และเด็กๆ อย่างเฮนรี่ต้องการฮีโร่ คนที่กล้าหาญ เสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น เป็นแบบอย่างให้พวกเราทุกคน ทุกคนรักฮีโร่ ผู้คนเข้าแถวรอเขา เชียร์เขา ร้องเรียกชื่อเขา หลายปีจากนั้นพวกเขาจะได้เล่าว่าตัวเองยืนรอกลางฝนเป็นชั่วโมงๆ เพื่อแค่จะได้เห็นคนที่สอนให้พวกเขารู้จักอดทน 

 

“ป้าเชื่อว่าเราทุกคนมีฮีโร่อยู่ในตัวกันทั้งนั้น ที่ทำให้เราซื่อสัตย์ ทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เรามีศักดิ์ศรี และสุดท้ายทำให้เราตายได้อย่างภาคภูมิ แม้ว่าบางครั้งเราจำเป็นต้องแน่วแน่ ยอมละทิ้งสิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของเรา แม้แต่ความฝันของเรา สไปเดอร์แมนทำสิ่งนั้นเพื่อเฮนรี่ เขาถึงสงสัยว่าสไปเดอร์แมนหายไปไหน เขาต้องการสไปเดอร์แมน”  

 

สิ่งที่ป้าเมย์เล่าให้ปีเตอร์ฟังนั้นได้กระตุกความคิดให้เขาเข้าใจว่า สไปเดอร์แมนไม่ได้ทำหน้าที่แค่ช่วยเหลือผู้คนจากภัยอันตรายเท่านั้น แต่การเสียสละของปีเตอร์ได้ส่งมอบแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กๆ อีกหลายคนที่อยากจะเติบโตขึ้นเป็นคนที่กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และพร้อมจะเสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเช่นเดียวกับสไปเดอร์แมน ซึ่งเรื่องราวของเฮนรี่ที่ชื่นชมในสไปเดอร์แมนจึงช่วยผลักดันปีเตอร์ที่กำลังไขว้เขวว่าควรจะเดินไปทางไหนต่อ ได้ค้นพบเหตุผลในการเป็นสไปเดอร์แมนอีกครั้ง  

 


 

 

 

‘ความสูญเสีย’ คือสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากพบเจอ แต่ความเป็นจริงมันก็คือสิ่งที่เราทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะกับ ‘ฮีโร่’ ที่มักจะต้องเผชิญหน้ากับภัยอันตรายและต่อกรกับเหล่าร้ายตลอดเวลา 

 

เช่นเดียวกับเรื่องราวในภาพยนตร์ The Amazing Spider-Man 2 (2014) เมื่อปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Andrew Garfield) ต้องเผชิญหน้ากับสองตัวร้ายสุดแกร่งอย่าง อิเล็กโตร (Jamie Foxx) และ กรีน ก็อบลิน (Dane DeHaan) จนสามารถเอาชนะและช่วยเหลือผู้คนได้สำเร็จ แต่เขากลับต้องสูญเสีย เกว็น สเตซี (Emma Stone) แฟนสาวผู้เปรียบเสมือนที่พักพึ่งทางใจแห่งเดียวไป การสูญเสียครั้งนั้นได้สร้างบาดแผลทางใจแก่ปีเตอร์อย่างหนัก และกลายเป็นตราบาปที่ทำให้เขาไม่สามารถกลับมาสวมชุดสไปเดอร์แมนได้อีก 

 

แต่ในท้ายที่สุดคนที่เข้ามาช่วยเยียวยาจิตใจและฉุดให้เขาลุกขึ้นมาสวมชุดสไปเดอร์แมนได้อีกครั้งก็ยังเป็นหญิงสาวที่เขารักมากที่สุดอย่างเกว็น ผ่านการปราศรัยของเธอ ที่แม้จะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้ภายในงานจบการศึกษา แต่ทุกถ้อยคำของเธอกลับเป็นเหมือนข้อความที่เธอเขียนขึ้นเพื่อส่งมอบ ‘ความหวัง’ ให้แก่ปีเตอร์ 

 

“มันเป็นเรื่องง่ายที่ใจเราจะมีความหวังในวันที่ฟ้าสวย แต่มันจะมีวันที่มืดหม่นรอเราอยู่ข้างหน้า วันที่เรารู้สึกเหมือนตัวคนเดียว และนั่นคือเวลาที่ความหวังคือสิ่งสุดปรารถนา ไม่ว่ามันจะอยู่ลึกสักแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะเคว้งคว้างเพียงใด คุณต้องสัญญากับฉันว่าคุณจะกอดความหวังไว้ให้แน่น ให้มันมีชีวิต เราปวดร้าวเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ความปรารถนาของฉันคือให้คุณเป็นความหวัง ผู้คนต้องการสิ่งนั้น และแม้ว่าคุณล้มเหลว มันก็คือชีวิตที่ดีที่สุดแล้ว 

 

“เมื่อหันมองรอบตัวตอนนี้ มองดูทุกคนที่ทำให้เราเป็นเรา ฉันรู้เรารู้สึกเหมือนกับกำลังบอกลา แต่เราจะนำส่วนเล็กๆ ของกันและกันไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งที่เราจะทำต่อไป เพื่อเตือนใจเสมอว่าเราคือใคร และเราควรเป็นใคร” 


 

  

 

 

เชื่อว่าเราทุกต่างมีไอดอลหรือคนที่เราเคารพนับถือ ที่คอยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเติบโตเป็นคนดีขึ้นแบบเดียวกับคนคนนั้น เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Tom Holland) เด็กหนุ่มผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับ โทนี สตาร์ก หรือ ไอรอนแมน (Robert Downey Jr.) หนึ่งในเสาหลักของทีม Avengers 

 

และหนึ่งในบทเรียนครั้งสำคัญที่ผลักดันให้ปีเตอร์ได้เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ฮีโร่’ มากยิ่งขึ้น คือเหตุการณ์ที่ปีเตอร์ขัดคำสั่งของโทนี เพื่อพยายามจับกุม วัลเจอร์ (Michael Keaton) และพรรคพวกด้วยพลังของตัวเอง โดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อน จนทำให้สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ ก่อนที่โทนีจะเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที และนำมาสู่บทสนทนาที่โทนีตัดสินใจยึดชุดสไปเดอร์แมนคืน 

 

“คุณไม่เข้าใจ นี่คือทั้งหมดที่ผมมี ผมไม่มีอะไรเลยถ้าไม่มีชุดนี้”

 

“ถ้านายไม่มีอะไรเลยถ้าไม่มีชุด นายก็ไม่ควรมีมัน”

 

บทสนทนาสั้นๆ ที่โทนีกล่าวในฉากนี้ได้ย้ำเตือนให้ปีเตอร์ (และผู้ชม) ได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ‘ฮีโร’ ไม่ได้เป็นเพียงบุคคลที่มี ‘พลังพิเศษ’ เพื่อช่วยเหลือ ‘ผู้คน’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันมาพร้อมกับ ‘ความรับผิดชอบ’ และ ‘ความสูญเสีย’ ที่จะตามมา หากฮีโร่คนนั้นเลือกใช้พลังของตนเองอย่างไม่รอบคอบและทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งตัวโทนีที่เคยช่วยเหลือผู้คนมาแล้วมากมายและเคยทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง จึงเข้าใจรสชาติของ ‘ความสูญเสีย’ เป็นอย่างดี

 

แม้ว่าในท้ายที่สุดปีเตอร์จะขัดคำสั่งของโทนีอีกครั้งด้วยการพยายามหยุดยั้งวัลเจอร์ด้วยตัวคนเดียวและไม่มีชุดสไปเดอร์แมนสุดไฮเทค แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้เขาได้เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ฮีโร’ อย่างแท้จริงในที่สุด


 

 

หลังจากปีเตอร์ต้องเผชิญกับความกดดันที่ผู้คนรอบข้างต่างคาดหวังให้เขาเป็นไอรอนแมนคนต่อไป จนทำให้เขาตัดสินใจมอบ อีดิธ แว่นตาของโทนี ให้แก่ มิสเตริโอ (Jake Gyllenhaal) โดยที่ไม่รู้เลยว่ากำลังถูกหลอกใช้ และส่งผลให้เพื่อนๆ ของเขาตกอยู่ในอันตราย 

 

ในช่วงเวลาที่ปีเตอร์กำลังเผชิญหน้ากับทางตัน (อีกครั้ง) แฮปปี้ (Jon Favreau) เพื่อนที่คอยช่วยเหลือโทนีมาตลอดจึงเข้าใจความรู้สึกที่ปีเตอร์กำลังแบกรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของผู้คนและความรู้สึกผิดที่ตัดสินใจผิดพลาด เขาจึงเลือกที่จะแบ่งปันเรื่องราวที่โทนีต้องเผชิญให้ปีเตอร์ฟัง เพื่อย้ำเตือนให้ปีเตอร์ได้เข้าใจว่าไม่มีใครที่สามารถเป็นไอรอนแมนได้นอกจากโทนี และไม่มีใครที่สามารถเป็นสไปเดอร์แมนได้นอกจากปีเตอร์เช่นกัน 

 

“นายไม่ใช่ไอรอนแมน นายไม่มีวันเป็นไอรอนแมน ไม่มีใครเทียบโทนีได้ แม้แต่ตัวโทนี โทนีเป็นเพื่อนสนิทของฉัน เขาเองก็สับสน เขาสงสัยทุกอย่างที่ตัวเองทำ เขามึนงงมั่วไปหมด แต่อย่างหนึ่งที่เขาทำและไม่เคยสงสัยเลยคือการเลือกนาย ฉันไม่คิดว่าโทนีจะทำอย่างที่ทำ ถ้าเขาไม่รู้ว่านายจะอยู่ที่นี่หลังจากที่เขาตาย ตอนนี้เพื่อนนายกำลังเดือดร้อน นายมีตัวคนเดียว ไม่มีเทคโนโลยี แล้วนายจะทำอย่างไรกับมัน”

 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising