×

จากกู้ 5 แสนล้าน สู่ปมดอกเบี้ยสูง ศึกรอบใหม่ ‘เศรษฐา-เศรษฐพุฒิ’

09.01.2024
  • LOADING...
5 แสนล้าน

ปรากฏการณ์ที่ดูเสมือนเป็น ‘ความไม่ลงรอย’ ระหว่าง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำประเทศ และ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้นำด้านเศรษฐกิจ

 

จุดเริ่มต้นของคานดีด-คานงัดมาจากการที่รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามที่รัฐบาลได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

 

โดยรัฐบาลให้เหตุผลในการออกกฎหมายกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตและฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นต้องเติมเงินลงกระเป๋าให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ

 

เมื่อรัฐบาลได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ จะมีการกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ก็มีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง ประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาทักท้วงว่าการดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 หรือไม่ ขณะเดียวกันอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินฝืดและเงินเฟ้อได้ด้วยเช่นกัน

 

การคัดค้านนโยบายรัฐบาลของผู้ว่าการ ธปท. เป็นที่จับจ้องของสังคมอย่างมาก เพราะความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความแข็งแรงของ ‘ขาเก้าอี้’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นไปได้

 

ผู้ว่าการ ธปท. มีหน้าที่อะไร

สำหรับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันคือ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 24 ต่อจาก วิรไท สันติประภพ ซึ่งตำแหน่งนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ว่าการ ธปท. นั้นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐศาสตร์และการธนาคาร มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและบริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ แม้โดยตำแหน่งจะต่ำกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก

 

ตำแหน่งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะตั้งกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอ โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ชื่อ เพื่อเสนอชื่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ครม. มีมติรับรองจึงจะทูลเกล้าฯ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

 

ปลดผู้ว่าการ ธปท. ไม่ใช่เรื่องง่าย

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นถึงการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกจากตำแหน่งว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’ พร้อมทั้งแนะนำ ‘นายกรัฐมนตรี’ ว่าควรรับฟังความเห็นของผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเชิงวิชาการและไม่มีอคติทางการเมืองแอบแฝง

 

ธีระชัยระบุอีกว่า หากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายใดต้องการจะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ควรทราบว่ามีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้อย่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 มาตรา 28/19 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 28/18 แล้ว ผู้ว่าการ ธปท. จะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อ

 

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 28/17
  4. ครม. มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่
  5. ครม. มีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

 

ดังนั้นตามข้อที่ 4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องพิสูจน์ให้ ครม. เห็นว่าผู้ว่าการ ธปท. มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่รวมถึงความเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบาย

 

ส่วนตามข้อที่ 5. นั้นคือต้องผ่านด่านคณะกรรมการ ธปท. เสียก่อน เฉพาะกรณีบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง ซึ่งยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะปลดผู้ว่าการ ธปท. ได้

 

“แต่ที่หนักกว่านั้นคือกระแสสังคมจะประณามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้นั้นว่าเข้าข่ายเป็นการลุแก่อำนาจ (Abuse of Power) และจะกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของสังคมโลกอย่างรุนแรง” ธีระชัยระบุ

 

แม้ปลดยาก แต่ปลดได้

แม้การปลดผู้ว่าการ ธปท. จะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นด่านหินที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งแล้ว 4 คน คือ ‘โชติ คุณะเกษม’ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 6 ถูกปลดโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในกรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร

 

หรือแม้แต่ ‘นุกูล ประจวบเหมาะ’ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 10 ถูกปลดในสมัย ‘สมหมาย ฮุนตระกูล’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย อาทิ นโยบายคุมเข้มสินเชื่อ และการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก

 

จากนั้น ‘กำจร สถิรกุล’ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 11 ถูกปลดในสมัย ‘ประมวล สภาวสุ’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยสาเหตุของการปลดมาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย

 

และคนล่าสุดคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 และไม่ระบุเหตุผล แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบายตั้งแต่เรื่องค่าเงินบาทที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล มีแนวคิดปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลต้องการให้ดูแล นอกจากนี้รัฐบาลต้องการให้ ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่ ธปท. กลับเข้มงวดนั่นเอง

 

ยุติข่าวลือปลดผู้ว่าการ ธปท.

จากนั้นวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เศรษฐาได้สงบเสียงลือการปลดผู้ว่าการ ธปท. ด้วยการเรียกเศรษฐพุฒิเข้ามาพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที ในการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและการเงิน

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การหารือร่วมกับผู้ว่าการ ธปท. นั้นพูดคุยกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมและนโยบายที่รัฐบาลกำลังจะทำ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อมูลข้อเสนอของ ธปท. จากนี้ก็จะมีการนัดพบปะหารือในลักษณะนี้เป็นประจำทุกเดือน ที่ผ่านมาได้มีการหารือเกี่ยวกับการออกดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ซึ่งผู้ว่าการ ธปท. ก็ให้คำแนะนำ โดยที่นายกรัฐมนตรีก็พร้อมรับและปฏิบัติ ดังนั้นจึงไม่เคยคิดที่จะปลดเศรษฐพุฒิออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. อย่างแน่นอน

 

“การหารือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน คุยกันด้วยดี และจะมีการพบกันอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่มีเลย และไม่มีแน่นอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

เป็นการยุติความขัดแย้งระหว่างผู้นำประเทศที่พ่วงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกับงบประมาณมหาศาล และทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ กับผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินและวินัยการคลังไม่ให้เงินฝืดเงินเฟ้อชั่วคราวประมาณ 3 เดือน

 

เงินเฟ้อแต่ดอกเบี้ยยังขึ้น ศึกรอบใหม่

เรื่องราวระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการ ธปท. กลับมามีประเด็นกันอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หรือ สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์บทความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 โดยนำเสนอพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่มีข้อความว่า ‘แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น – BBL แชมป์’ พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า “ผมไม่รู้ว่า ‘แบงก์ชาติ’ จะรู้สึกตงิดอะไรในใจบ้างไหม

 

“ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน ‘หัวใจ’ สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง” ข้อความบนเฟซบุ๊ก ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ระบุ

 

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจ SMEs 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกธนาคารปฏิเสธประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70%

 

“เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนสูงขึ้น ในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ธนาคารกำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอแต่หัวใจกลับแข็งแรง”

 

เนื้อหาบทความยังระบุว่า พอมาดูเหตุผลว่าทำไมธนาคารไทยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ยิ่งน่าเกลียด รู้ไหมว่ากำไรที่สูงลิ่วของธนาคารมาจากอะไร มาจาก ‘การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ’ หรือ NIM หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ธนาคารก็ขยับ ‘ส่วนต่าง’ ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของธนาคารไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อยๆ แต่ให้กู้แพงๆ ทำกำไรแบบง่ายๆ

 

ธนาคารที่กำไรจาก ‘ส่วนต่าง’ นี้มากที่สุดคือธนาคารกรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของธนาคารกรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่ธนาคารอื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2% แล้ว ที่มีคนกล่าวหาว่าธนาคารเป็น ‘เสือนอนกิน’ จึงไม่ใช่คำกล่าวหา หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์คือธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง ‘หัวใจ’ ถ้าการทำงานของ ‘หัวใจ’ ผิดปกติแบบนี้ รัฐบาลและธนาคารชาติไม่รู้สึก ‘เอ๊ะ’ อะไรบ้างหรือ จะไม่คิดทำอะไรบ้างเหรอ หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุถึงจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนว่า “ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อ”

 

นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาได้พูดคุยกับผู้ว่าการ ธปท. มาตลอด ซึ่งจุดยืนของตนชัดเจนคือไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ถือเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง นับตั้งแต่โควิดระบาด

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% ทำให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้หรือไม่

 

  • วันที่ 10 สิงหาคม 2565: กลับมาขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75%
  • วันที่ 28 กันยายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00%
  • วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25%
  • วันที่ 25 มกราคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ยต่อ 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.50%
  • วันที่ 29 มีนาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75%
  • วันที่ 31 พฤษภาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%
  • วันที่ 2 สิงหาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25%
  • วันที่ 27 กันยายน 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50%

 

ธปท. ชี้ ดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสมกับเศรษฐกิจ

ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ให้สัมภาษณ์ในรายการ เศรษฐกิจติดบ้าน ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จึงค่อยๆ ถอนนโยบายผ่อนคลายการเงิน ซึ่งดอกเบี้ย 2.50% เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยนิ่งๆ เป็นกลาง ไม่ผ่อนคลายหรือฉุดรั้ง เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่ยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการพิจารณาต้องดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินโดยรวม

 

ภูริชัยระบุว่า หากมีดอกเบี้ยต่ำอาจผ่อนคลายในการชำระหนี้ แต่อาจจูงใจให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ความจำเป็นต้องผ่อนคลายเศรษฐกิจเริ่มหมดไป แนวโน้มทั่วโลกจะมีดอกเบี้ยสูงขึ้น โลกจะโตด้วยความเข้มแข็งไม่ใช่หนี้

 

แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป เศรษฐกิจไม่โต

ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีต​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงการคลัง​ แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือนว่า ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป​ ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา​ 3 เดือนแล้ว​จากครั้งสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย​

 

แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว​ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์​มีกำไรมากเกินปกติกว่า​ 2.2​ แสนล้าน​บาท​ แต่ระบบเศรษฐกิจ​ไทยเติบโตต่ำเพียง​ 2.4% ในปี​ 2566 ประชาชนยากจนลง คนไม่มีงานทำ ขายของไม่ได้ ธปท. ​จึงควรหันมาดูแลประชาชน​ให้มากขึ้น

 

ศ.ดร.สุชาติ​ แสดงความคิดเห็นอีกว่า เหมือน ธปท. จะต้องการกดความเจริญเติบโตทางเศร​ษฐกิจ​ โดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย​จนสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบ​กว่า​ -​0.5% คิดเฉลี่ย 3 เดือนติดต่อกัน ต่ำกว่ากรอบ​เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation ​Targeting) 1-3% ที่ตกลงไว้กับรัฐบาล​ ความจริงทั้งผู้ว่าการ ธปท. และคณะกรรมการ​นโยบายการเงิน​ต้องแสดงความรับผิดชอบแล้ว

 

ขณะเดียวกัน ระบบสถาบันการเงินของไทย​ก็ค่อนข้างผูกขาด​ พอ ธปท.​ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ​ธนาคารพาณิชย์ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากๆ​ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นน้อยๆ ขยาย​ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread)​ ในโอกาสต่อไปข้างหน้า​คณะกรรมการ​นโยบาย​สถาบันการเงิน​คงต้องติดตามดูแลให้เหมาะสม​ และรายงานเรื่อง​ Spread​ ต่อสาธารณชน​อย่างสม่ำ​เสมอ

 

พร้อมทั้งได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาคือ​ ธปท. ​ต้องลดดอกเบี้ย​ และเพิ่ม​ปริมาณเงิน (QE)​ ในระบบเ​ศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเพิ่มการแข่งขัน​ในระบบธนาคารพาณิชย์จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน​ให้มีหลากหลายทางเลือกยิ่งขึ้น​ ไม่ขึ้นอยู่​กับธนาคารพาณิชย์มากเกินไปเฉกเช่นทุกวันนี้

 

ศ.ดร.สุชาติ​ ระบุอีกว่า การลดดอกเบี้ยลง​จะทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น​ และยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง​ มีผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น​ ซึ่งจะไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของชาติ​ (GDP Growth)​ เพิ่มรายได้ประชาชน​ ทำให้มีเงินมา​บริโภคและออมเพิ่มขึ้น​ ลดหนี้ครัวเรือน​ รัฐบาลก็จะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น​ ลดหนี้ภาครัฐบาล ตนเองจึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย​เร่งรีบพิจารณา​ลดดอกเบี้ยลง​

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีการรับรายงานสถานการณ์เงินฝืดเงินเฟ้อจากผู้ว่าการ ธปท. เป็นประจำอยู่แล้ว พร้อมทั้งยืนยันว่าจะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการ ธปท. เพื่อหาทางออกเรื่องนี้แน่นอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X