ถึงตอนนี้เราแทบจะไม่ได้สื่อสารผ่านทางจดหมายกันแล้ว แต่ ‘แสตมป์’ ก็ยังเป็นของสะสมที่ได้รับความนิยมอยู่ ในปัจจุบันมีผู้สะสมแสตมป์ราวๆ 60 ล้านคน และ 2 ใน 3 เป็นนักสะสมชาวเอเชีย โดยนักลงทุนชาวจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดสะสมแสตมป์ทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 9.74 หมื่นล้านบาท
ความพิเศษของตลาดแสตมป์อยู่ตรงที่เชื่อมโยงกับสภาวะเศรษฐกิจโดยตรง และเกิดจากความหลงใหลเฉพาะทางจริงๆ ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเท่าไร อย่างในปี 2008 แสตมป์ 30 ดวงที่แพงที่สุดในอังกฤษ ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 38% ใน 1 ปี อย่างไรก็ดี นักสะสมต้องยอมรับความเสี่ยงที่เงินจะจมอยู่กับแสตมป์เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หากไม่มีอุปสงค์เกิดขึ้นในตลาด
ถ้าคิดจะสะสมเพื่อทำกำไรก็ต้องมีความเชี่ยวชาญ เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปลอมแปลงมาหลอกขาย อีกทั้งแสตมป์หายาก ราคาแพงหลายๆ ดวงก็เกิดมาจากความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในการผลิต ซึ่งต้อง ‘ดูเป็น’ อย่างเช่น แสตมป์ The whole country is Red ในยุคประธาน เหมาเจ๋อตุง ตั้งใจลงสีแผนที่จีนทั้งประเทศให้เป็นสีแดง แต่พลาดไม่ได้ลงสีเกาะไต้หวัน ทำให้แสตมป์ดวงนี้ถูกเรียกเก็บคืนในทันที มีเหลือรอดอยู่ในปัจจุบันน้อยมาก ซึ่งลำพังแสตมป์จากยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนก็หายากอยู่แล้ว เพราะประธานเหมามีนโยบายห้ามให้ประชาชนสะสมสิ่งของเพื่อเก็งกำไร รวมทั้งแสตมป์ด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของนายทุน
ส่วนอีกหนึ่งความผิดพลาดที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับแสตมป์ก็คือ The Rose ที่ผลิตขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ของ Royal National Rose Society จนทำให้ต้องทำลายทิ้งแทบทั้งหมดเหลือไว้เพียง 3 ชุด ซึ่ง 2 ชุดเป็นของควีนเอลิซาเบธแห่งอังกฤษ ส่วนอีกหนึ่งชุดได้รับการประมูลไปในราคามากกว่า 3 ล้านบาท
นอกจากนี้เรื่องของสภาพและการเก็บรักษาก็สำคัญ อย่างเช่น Penny Black แสตมป์ดวงแรกของโลกตั้งแต่ยุคควีนวิกตอเรีย ผลิตออกมาจำนวน 68 ล้านดวง จึงเป็นแสตมป์ที่ยังพอหาได้ไม่ยากนัก มีราคาเฉลี่ยราวๆ 4,500 บาท แต่ถ้าอยู่ในสภาพดีและยังไม่เคยใช้งาน ราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
German Inflation ราคาเฉลี่ยประมาณ 11,500 บาท
หลักฐานทางประวัติศาสตร์จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเยอรมนีในช่วงทศวรรษ 1920 เมื่อรัฐบาลประสบปัญหาทางการเงินจากภาวะสงคราม จนต้องพิมพ์เงินมาร์คเยอรมัน (ค่าเงินของเยอรมนีในยุคนั้น) เข้าสู่ตลาด จนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและค่าเงินมาร์คก็ตกลงอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าเงิน 1 ล้านมาร์คยังซื้อแสตมป์ใช้ส่งจดหมายไม่ได้เลย ทำให้แสตมป์ในรุ่นนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสม และอาจจะเพิ่มมูลค่าได้ 10-20% ในระยะเวลา 5 ปี
Penny Black ราคาสูงสุดประมาณ 450,000 บาท
นี่คือแสตมป์ดวงแรกของโลกที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1840 ในรัชสมัยของควีนวิกตอเรีย รู้จักกันในชื่อ Penny Black จากราคาจำหน่ายเพียง 1 เพนนีในตอนนั้น และพิมพ์ด้วยสีดำ ความจริงแล้ว Penny Black อาจจะไม่ได้หายากมากเท่ากับแสตมป์ราคาแพงดวงอื่นๆ เพราะพิมพ์จำหน่ายถึง 68 ล้านดวง จึงมีราคาตั้งแต่ 4,500 บาทขึ้นไป แต่ถ้าอยู่ในสภาพดีและไม่เคยถูกใช้งาน ราคาอาจจะสูงขึ้นถึงราวๆ 450,000 บาทเลยทีเดียว คาดว่ามูลค่าของ Penny Black อาจพุ่งขึ้นถึง 20% หรือมากกว่านั้นในระยะเวลา 10 ปี
The Rose ราคาประมาณ 3.84 ล้านบาท
ในปี 1978 มีการออกแสตมป์ดอกกุหลาบมูลค่า 13 เพนนี เนื่องในวันครบรอบ 100 ปี ของ Royal National Rose Society แต่เกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ต้องทำลายแสตมป์ทั้งหมดทิ้งไป โดยปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียง 3 ดวงเท่านั้น 2 ดวงเป็นของควีนเอลิซาเบธของอังกฤษ ส่วนอีก 1 ดวง ได้รับการประมูลไปโดยนักสะสมนิรนามด้วยราคา 3.84 ล้านบาท
The Whole Country is Red ราคาประมาณ 26.5 ล้านบาท
ในช่วงปี 1966-1976 อันเป็นช่วงเวลาปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ประธาน เหมาเจ๋อตุง มีดำริให้ประชาชนห้ามสะสมสิ่งของต่างๆ เพื่อการลงทุน รวมไปถึงแสตมป์ เพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของนายทุน ทำให้แสตมป์จากยุคนั้นที่หลงเหลือถึงปัจจุบันเป็นของล้ำค่าหายาก มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 19,000 บาท และอาจเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นถึง 500% ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อชาวจีนคือกลุ่มนักสะสมหลักในแวดวงแสตมป์อย่างเช่นปัจจุบันนี้ ส่วนแสตมป์ The whole country is Red ที่เกิดข้อผิดพลาดไม่ได้ลงสีไต้หวันให้เป็นสีแดงแบบเซ็ต 4 ดวง ได้รับการประมูลไปในปี 2012 ในราคา 26.5 ล้านบาท
British Guiana 1c Magenta ราคาประมาณ 269.6 ล้านบาท
แสตมป์ที่ได้ชื่อว่ามีราคาแพงที่สุดในโลกมีประวัติย้อนไปถึงปี 1855 เมื่อสหราชอาณาจักรส่งแสตมป์ไปสู่ประเทศอาณานิคมอย่างบริติชกิอานาได้เพียง 5,000 ดวงในจำนวน 50,000 ดวง ทำให้แสตมป์ไม่เพียงพอสำหรับการสื่อสารในอาณานิคม ไปรษณีย์ท้องถิ่นจึงจัดพิมพ์แสตมป์เฉพาะกิจบนกระดาษสีบานเย็นเป็นรูปเรือใบสามเสา และข้อความภาษาลาตินที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘We give and we ask in return’ ออกมาใช้ในช่วงสั้นๆ ก่อนที่แสตมป์จากแผ่นดินใหญ่จะมาถึง หลังจากนั้นแสตมป์รุ่นนี้ก็ถูกลืมเลือนไป จนกระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งโดยเด็กชายชาวสกอต และขายไปอีกหลายทอดจากราคาหลักชิลลิ่ง จนปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงราวๆ 269.6 ล้านบาทจากการประมูล
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/business-36024614?fbclid=IwAR2UmwVSIQaVjRquhz2drvYiSqmJLfwlTAL4avMNMyZSEu2nBnq0M1v6Vpo
- https://www.businesstoday.in
- https://intelligent-partnership.com/chinese-lead-the-way-on-stamp-collecting/?fbclid=IwAR3qzFF6wRiqyTytxs8uETlXBdlqH5DPvRKjbLJmHJwokT4HxOQ7Xx4akgY
- https://www.catawiki.com/en/stories/5129-5-stamps-you-should-invest-in-today?fbclid=IwAR3I7g_ueocOFbDsSFGTKyO42PnHFJU70DiA97dMYY0Yn0j2R-Hla4ydal8