×

เปิด ‘5 ปัจจัย’ ที่ต้องจับตา เตรียมพร้อมก่อนลงทุน ‘ทองคำ’ ปี 2023

โดย
30.12.2022
  • LOADING...

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 17.16 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ -0.94% จากราคาเปิดที่ 1,828 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,810.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ปีนี้ทองคำจะมีผลตอบแทนเป็นลบ แต่หากเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก พบว่าทองคำเป็นสินทรัพย์หัวตาราง เพราะแม้จะปรับตัวลง แต่ก็ถือว่าปรับตัวลดลงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แม้จะเผชิญกับปัจจัยลบอย่างหนักก็ตาม

 

หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวของทองคำในปี 2022 พบว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงไตรมาส 1 ของปี ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ  และสงครามในยูเครนได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำทั้งในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและสินทรัพย์ปลอดภัย จนทำให้ราคาทองคำพุ่งทดสอบระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในเดือนมีนาคม  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลง 7 เดือนติดต่อกันในระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยออกมา และการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทั้งในแง่ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดงบดุล เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ทั้งในแง่ที่เป็นตัวเงิน (Nominal) และที่แท้จริง (Real) ให้ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี แรงกดดันดังกล่าวส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงจากระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์มากถึง 455 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ -22% จนแตะระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ 1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ราคาทองคำในตลาดโลกผันผวนอย่างมาก  

 

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำเริ่มฟื้นตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมาจนถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง บวกรวมกับการแข็งค่าของหยวนหลังจีนประกาศเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด ประกอบกับเยนแข็งค่าหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับแผนการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control Policy) ด้วยการขยายกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือ 1,800 ดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2022

 

สำหรับปี 2023 ยังมีหลายประเด็นที่นักลงทุนทองห้ามพลาด โดย YLG ได้สรุปเอา 5 ประเด็นที่นักลงทุนทองไม่ควรพลาดในปีหน้า ดังนี้

 

1. Fed Policy Mistake ทำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงถดถอย  

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้อในปี 2022 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เพิ่มความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดว่า มีความน่าจะเป็นราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ส่วนผลสำรวจล่าสุดของ Wall Street Journal บ่งชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า 63% เพิ่มขึ้นจาก 49% ในการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม นับเป็นครั้งแรกที่การสำรวจระบุความน่าจะเป็นที่สูงกว่า 50% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวหรือ ถดถอย ย่อมจะเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์และหนุนราคาทองคำ

 

2. Fed อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านนโยบายการเงินจาก ‘คุมเข้ม’ เป็น ‘ผ่อนคลาย’ ในช่วงปลายปี 2023

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังคงส่งสัญญาณในการประชุมเดือนธันวาคม ว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 สู่ระดับ 5.1% จากระดับปัจจุบันที่ 4.25-4.50% แต่จากความเสี่ยงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง หรือความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเลวร้ายถึงขั้นเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

 

หาก Fed ‘ยุติ’ วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือปรับ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2023 ตามการคาดการณ์ของตลาด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลหนุนราคาทองคำในปี 2023  

 

ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อสูงยังคงดำเนินต่อไป และทำให้ Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี นี่จะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำ ทำให้นักลงทุนต้องจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed อย่างใกล้ชิด

 

3. ดีมานด์ทองจีนฟื้นตัว แรงซื้อจากธนาคารกลางแกร่ง ส่วนแรงขายใน SDPR เริ่มชะลอ

ความต้องการทองในปีหน้าคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง นำโดยความต้องการบริโภคทองคำจากจีนที่อาจฟื้นตัวกลับสู่ระดับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2021 หลังจากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด 

 

ขณะที่แรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางน่าจะยังแข็งแกร่งในปีหน้า หลังจากในช่วงไตรมาส 1-3 ของปีนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำเพิ่ม 673 ตัน ซึ่งสูงกว่ายอดรวมทั้งปีของปีอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 1967 ท่ามกลางความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่งกลับมาเพิ่มทองคำสำรอง 32 ตันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการถือครองทองคำสำรองเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2019 ดังนั้น แรงซื้อจากธนาคารกลางจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับทองคำในระยะยาวได้ และทำให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจในปี 2023 เนื่องจากสะท้อนความเชื่อมั่นของเหล่าธนาคารกลางที่มีต่อทองคำได้เป็นอย่างดี

 

ด้านกองทุน SPDR ได้เริ่มชะลอแรงขายในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พร้อมกลับมาเริ่มถือครองทองคำเพิ่มในเดือนธันวาคม สะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนทองคำซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนราคาทองคำในปีหน้าได้

 

4. ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรงยังดำเนินต่อไป กระตุ้นกระแส Dollarization

ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกยังคงดำเนินต่อไป โดยความเสี่ยงสูงสุดคือ Russia-NATO Conflict ปัจจัยดังกล่าวจะกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยสลับเข้ามาเป็นระยะ แม้มีแนวโน้มส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำลดลง แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกอาจยิ่งกระตุ้นความร่วมมือระหว่างจีน-รัสเซียที่ไม่มีขอบเขต (China-Russia cooperation has no limits) และจะเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคและโลกในระยะข้างหน้าต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจนำมาซึ่ง De-dollarization ส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำ

 

5. ปัจจัยทางเทคนิค

กราฟรายสัปดาห์ในปัจจุบันเริ่มกลับมามีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม  หลังจากราคาลงไปทดสอบบริเวณ 1,616-1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือเป็น Bottom ที่ทองคำลงไปทดสอบถึง 3 ครั้ง (Triple Bottom) แล้วไม่ทำ Lower Low และเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ ก่อนที่จะทะลุ 1,729 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการ Confirm เบื้องต้นของการทำ Triple Bottom

 

ทำให้ YLG ขยับกรอบฐานแรกในระยะยาวมาเป็นบริเวณ 1,616-1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้ราคาทองคำยังมีโอกาสดีดตัวขึ้นได้ และจะคงมุมมองเชิง Bullish ไว้ได้ในปี 2023 โดยจะมีโอกาสที่ทองคำดีดขึ้นแนวต้านแรกบริเวณ 1,916-1,879  ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีกรอบแนวต้านถัดไปซึ่งเป็น High ของปี 2022 และ All Time High บริเวณ 2,069-2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากหลุดบริเวณ 1,616-1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะทำให้ทิศทางราคาในระยะยาวเปลี่ยนเป็นลบมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีโอกาสปรับฐานในรูปแบบที่ลึก และมีเป้าแนวรับถัดไปจะอยู่ในโซน 1,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ฐานของราคาทองคำในปี 2555) และ 1,488 ดอลลาร์ต่อออนซ์ตามลำดับ  

 

“จากพัฒนาการด้านปัจจัยทางเทคนิคในระยะยาว บวกรวมกับปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปัจจัยหนุนทองคำ ทำให้ทิศทางทองคำในปีหน้ามีแนวโน้มสดใส อย่างไรก็ดี YLG ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเน้นลงทุนในระยะสั้น และติดตามข่าวสารประกอบการลงทุนอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการใช้ปัจจัยทางเทคนิคประกอบการลงทุน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising