การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตลอดจนส่งผลต่อตลาดรถยนต์กลุ่มอื่นที่ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยปัจจัยที่ทำให้รถ EV เติบโต ส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลผ่านโครงการสนับสนุนและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ดึงผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ผู้ผลิตจากประเทศจีนตบเท้าเข้ามาลงทุนปักฐานผลิตและวางตลาดในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก
ซึ่งหากย้อนดูแรงกระตุ้นจะมาจากโครงการระยะแรก (EV 3.0) รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์
- ส่วนลด 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 2,000,000 บาท
- ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 40%
- ผู้ผลิตต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1:1 คัน (ขาย 1 คัน ผลิตคืน 1 คัน) ในปี 2024 ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่ 2 (EV 3.5) เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา จึงจะได้รับการสนับสนุนลดลงเหลือ 100,000 บาท
- ปรับอัตราผลิตคืนเป็น 1:2 คัน (ขาย 1 คัน ผลิตคืน 2 คัน) ในปี 2026
เมื่อมีผู้เล่นมากขึ้น การแข่งขันจึงดุเดือด ท่ามกลางความท้าทายหลายปัจจัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน
- GAC และ Changan แบรนด์ยักษ์ EV จีน คลื่นลูกที่ 2 ที่หันมาบุกตลาดอาเซียน และอาจกำลังเข้ามาโค่นบัลลังก์ BYD ในไทย
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
ปัจจุบันข้อมูลการจดทะเบียนประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1) จากกรมการขนส่งทางบก พบว่าช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา
“ต้องยอมรับว่าการขยายเวลาจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าของโครงการ EV 3.0 ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนอยู่ที่ 30,840 คัน เติบโตขึ้นจากปีก่อน 31%”
แต่หากดูช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม กลับลดลงจากปีก่อน 20% โดยบางแบรนด์มียอดจดทะเบียนลดลงเกิน 50% จึงเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้อัตราการจดทะเบียนลดลง
อีกหนึ่งปัจจัยมาจาก ‘กำลังซื้อ’ ของลูกค้าครอบครองรถยนต์ไฟฟ้าผ่านโครงการ EV 3.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บางส่วนรอคิวจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ จึงต้องใส่ป้ายแดงเป็นการใช้งานชั่วคราว อีกทั้งการลดราคาของผู้ผลิตรถยนต์ทำให้ ‘ลูกค้าชะลอการซื้อ’
รวมถึงในปี 2024 ตามข้อกำหนดที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้เข้าร่วมโครงการ EV 3.0 จะต้องผลิตคืนในอัตรา 1:1 (ขาย 1 คัน ผลิตคืน 1 คัน) ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์ได้ทยอยเปิดโรงงานและเริ่มขึ้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
โดยในแง่ของการแข่งขันตลาดรถ EV สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มองว่า ขณะนี้สถานการณ์การแข่งขันราคาของรถยนต์ EV ในไทยร้อนแรงมาก หลายๆ ค่ายต่างปรับลดราคาลง ถามว่ามีผลต่อตลาดหรือไม่นั้น
สุรพงษ์บอกว่า “มีผลแน่นอน เพราะลูกค้าบางรายชะลอ ไม่ตัดสินใจซื้อในทันที หมายความว่าก็รอดูแบรนด์อื่นก่อน รอไปก่อนว่าจะลดตามหรือไม่ การตัดสินใจที่ช้าลงก็อาจมีผลต่อยอดขายที่ลดลงด้วย”
จึงสอดคล้องกับข้อมูลยอดจดทะเบียนกลุ่มรถ EV เดือนพฤษภาคมที่ 5,474 คัน แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 33% แต่ก็พบว่า 5 แบรนด์รถ EV ที่มียอดจดทะเบียนเดือนพฤษภาคม ‘ลดลงทุกแบรนด์’ ซึ่งเหตุผลหลักๆ มาจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น โดย 5 แบรนด์ ได้แก่
- BYD 1,939 คัน ลดลงจากปีก่อน 4%
- MG 781 คัน ลดลงจากปีก่อน 30%
- Changan 718 คัน (เริ่มส่งมอบเดือนมกราคม 2024)
- Tesla 384 คัน ลดลงจากปีก่อน 180%
- NETA 365 คัน ลดลงจากปีก่อน 88%
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูความคืบหน้าของการสร้างโรงงานที่แต่ละแบรนด์มีเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานผลิตอาเซียนเพื่อผลิตและส่งออกรถพวงมาลัยขวา
ปัจจุบันจึงมี 3 แบรนด์จากจีนที่เริ่มผลิตแล้ว นั่นคือ GWM, NETA และ MG พร้อมทั้งปรับอุปกรณ์ให้กับรถยนต์ที่จำหน่าย เพิ่มความสดใหม่มากขึ้น
วันนี้ THE STANDARD WEALTH จึงสรุปเปรียบเทียบตัวเลขยอดจดทะเบียนรถ EV สูงสุด 5 แบรนด์ (ยอด 5 เดือน เดือนมกราคม-พฤษภาคม) ในไทยปี 2024 เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว (YoY)
ท่ามกลางการแข่งขันลดราคารถ EV ในไทยอันร้อนแรงในขณะนี้ มาดูกันว่ามีแบรนด์รถ EV จีน แบรนด์ไหนที่เริ่มเดินสายพานผลิตในไทยแล้ว และภายในปีนี้จะมีแบรนด์ใดบ้างที่เปิดโรงงานในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคมนี้จะเป็นคิวของ BYD และ GAC AION ที่วางแผนเริ่มผลิต Q3-Q4 ส่วน Changan จะเริ่มการผลิตต้นปี 2025
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย