วันนี้ (12 กรกฎาคม) พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. และ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมแถลงข่าวสรุปสถานการณ์การชุมนุมที่เมื่อวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2564
พล.ต.ต. ปิยะกล่าวว่า ข้อมูลการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ในวันที่ 9-11 กรกฎาคม ได้แก่
- วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม กลุ่มอาชีวะปกป้องประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศนัดชุมนุมเวลา 16.35 น. บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และเสร็จสิ้นการชุมนุมเวลา 17.00 น. กลุ่มนี้นำโดย ธนเดช ศรีสงคราม
- วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการนัดหมายชุมนุมกัน 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. กลุ่มประชาชนคนไทยนำโดย ทนายนกเขา หรือ นิติธร ล้ำเหลือ มีการนัดหมายชุมนุมเวลา 09.30 น. จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเคลื่อนตัวไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสร็จสิ้นการชุมนุมเวลา 12.10 น. กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 มีการรวมตัวกันได้แก่ กลุ่มของ สมบัติ บุญงามอนงค์ และกลุ่มไทยไม่ทนของ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ มีการนัดจัดกิจกรรมคาร์ม็อบตั้งแต่เวลา 13.00 น. และประกาศยุติการชุมนุมเวลา 16.30 น.
- วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม กลุ่มไทยไม่ทนของอดุลย์ มีการนัดหมายชุมนุมกันที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเช่นเดิม มีการจุดเทียนและประกาศยุติการชุมนุมเวลา 21.30 น.
สำหรับการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ในวันที่ 9-11 กรกฎาคม ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, พ.ร.บ. โรคติดต่อ, พ.ร.บ. จราจร, พ.ร.บ. ความสะอาด, พ.ร.บ. การใช้เครื่องกระจายเสียง ซึ่งมีผู้กระทำความผิดราว 70 ราย บช.น. ได้เรียกประชุมพนักงานสืบสวนสอบสวนทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำชับให้ดำเนินการโดยเด็ดขาดและรวดเร็ว พล.ต.ต. ปิยะกล่าว
พล.ต.ต. ปิยะกล่าวต่อไปว่า สำหรับการเชิญชวนมาชุมนุมผ่านโซเชียลมีดียหรือช่องทางต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการบิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ในส่วนนี้จะมีการดำเนินคดีในส่วนของกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อีกส่วนหนึ่งแล้ว สำหรับในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการชุมนุมกัน ได้มีการประชุมและเรียกพนักงานสอบสวนทุกสถานีตำรวจ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดและอย่างรวดเร็ว
ด้าน พ.ต.อ. กฤษณะกล่าวว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมตั้งแต่กลางปี 2563 มาแล้วหลายคดี และในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรง ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความเป็นห่วง จึงได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยนำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ควบคู่กันไป โดยการบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่ได้เป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในภายหลัง
“หากมีการชุมนุมก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แม้ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายทันทีในขณะนั้น แต่จะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในภายหลัง ในสถานการณ์นี้หากมีการชุมนุมอีกก็จะมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้ต่อไป” พ.ต.อ. กฤษณะกล่าว