×

ส่อง 5 หมวดร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมและมาตรฐานสื่อฯ สถาปนาอำนาจใหม่ ผุด ‘สภาวิชาชีพ’ กำกับสื่ออยู่ในกรอบ

โดย THE STANDARD TEAM
13.01.2022
  • LOADING...
จริยธรรมและมาตรฐานสื่อ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

 

สำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มี 5 หมวด ประกอบด้วย 

  • หมวด 1 การคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 
  • หมวด 2 สภาวิชาชีพสื่อมวลชน 
  • หมวด 3 คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน 
  • หมวด 4 สำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน
  • หมวด 5 จริยธรรมสื่อมวลชน 

 

THE STANDARD ชวนสำรวจเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่กำลังเป็นที่ถกเถียง และถูกตั้งคำถามถึงการมีกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด

 

คุ้มครองเสรีภาพสื่ออย่างมีข้อยกเว้น

 

หมวด 1 การคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในมาตรา 5 ซึ่งเป็นเพียงมาตราเดียวที่อยู่ในหมวด แม้จะมีการรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น ‘ตามจริยธรรมสื่อมวลชน’ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ‘ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน…’ 

 

ปัจจุบัน —-> เป็นยุคที่เพดานในการแสดงความคิดเห็นหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป จึงยังมีข้อถกเถียงได้ว่า คำว่า จริยธรรมสื่อมวลชน หน้าที่ และศีลธรรมอันดี มีความหมายว่าอย่างไร หากต้องปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมีเสรีภาพ 

 

ผุดสภาวิชาชีพมีรายได้จากรัฐมากำกับดูแลจริยธรรมสื่อมวลชน 

 

หมวด 2 สภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่กำกับดูแล ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน รับจดแจ้งและเพิกถอนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 

 

รายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ในมาตรา 8 เงินจากรัฐบาล และมาตรา 9 เงินไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาทจากการพิจารณาจัดสรรเงินจากคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า —-> หากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมีลักษณะตรวจสอบความโปร่งใสภาครัฐแล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะแสดงบทบาทอย่างไร ในขณะที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีรายได้จากรัฐ 

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ

 

หมวด 3 คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

ตามมาตรา 13 ประกอบด้วย 

  1. กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน
  2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน 
  3. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 22

  • มาตรา 22 (2) กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนของสภา ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
  • มาตรา 22 (3) พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
  • มาตรา 22 (6) พิจารณารับรองหลักสูตร หรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง หรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า —-> หากการใช้เสรีภาพตามหลักสากล ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะได้รับความเป็นธรรมในการจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งหรือไม่  

 

หมวด 4 สำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

 

มาตรา 26 ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการของสภา ส่งผู้สอบบัญชีภายในเ 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

 

ทุกรอบปีงบประมาณให้ผู้สอบบัญชีอิสระที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแต่งตั้ง โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสภา โดยจัดทำเป็นรายงานและให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด  

 

หมวด 5 จริยธรรมสื่อมวลชน 

 

มาตรา 31 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน มีโทษดังต่อไปนี้

  1. ตักเตือน
  2. ภาคทัณฑ์
  3. ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน 

 

มาตรา 32 ให้มีคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน 

 

มาตรา 36 คณะกรรมการจริยธรรมมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและพิจารณา เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน และสั่งลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชนที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 31

 

มติในการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการจริยธรรมเท่าที่มีอยู่

 

มาตรา 44 ในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยจะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้ 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า —-> หากการทำงานของสื่อมวลชน อยู่ภายใต้กฎหมายอื่นที่ครอบคลุมอยู่แล้ว การมีคณะกรรมการจริยธรรมจะนำมาสู่การปกป้อง ส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชน หรือมาจำกัดกรอบการทำงานเพื่อคนกลุ่มใด 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X