×

พาณิชย์เผย 5 หมวดธุรกิจรับอานิสงส์หลังเข้าร่วม RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก

15.11.2020
  • LOADING...

15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ร่วมลงนามในความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) 

 

ทั้งนี้ GDP รวมกันของทั้ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามครั้งนี้คิดเป็นประมาณ 30% ของ GDP โลก คิดเป็นมูลค่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ และมีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน 

 

โดยในส่วนของไทย พล.อ.​ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ร่วมการประชุมและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงครั้งนี้ โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม

 

จุรินทร์กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP คือจะสามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ 

 

  1. หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น 
  2. หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ 
  3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์ 
  4. หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน
  5. การค้าปลีก

 

สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัวคือ เร่งศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้กลางปีหน้า โดยการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย

 

สำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมเจรจาในตอนแรก ได้ถอนตัวออกจากความร่วมมือในครั้งนี้ เนื่องจากความกังวลที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้หลังจากนี้ 

 

ส่วนจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 2 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชีย ความร่วมมือ RCEP นี้เป็นข้อตกลงทางการค้าแรกที่ทั้งสองประเทศทำร่วมกัน

 

สำหรับข้อตกลงในครั้งนี้ครอบคลุม 20 บทในหลายด้าน ทั้งการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า การลงทุน และ E-Commerce รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อของภาครัฐ 

 

ความร่วมมือ RCEP เริ่มต้นพูดคุยกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2555 แต่พัฒนาการในช่วงแรกค่อนข้างช้า ก่อนที่การเจรจาจะคืบหน้ามากขึ้นหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2560 ท่ามกลางกระแสการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ทำให้ประเทศต่างๆ มีความสนใจที่จะร่วมจัดตั้งเขตการค้าเสรีมากขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising