×

‘5 โบรก’ ส่องเป้าดัชนีหุ้นไทยปี 64 มีลุ้นแตะ 1,650 จุด หวังกำไร บจ. ปีนี้โตเกิน 30%

11.03.2021
  • LOADING...
‘5 โบรก’ ส่องเป้าดัชนีหุ้นไทยปี 64 มีลุ้นแตะ 1,650 จุด หวังกำไร บจ. ปีนี้โตเกิน 30%

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ดัชนี SET ช่วง 7 วันที่ผ่านมาพุ่งขึ้นจากบริเวณ 1,500 จุด แตะระดับ 1,580 จุด เพิ่มขึ้น 5.4% ทำให้ช่วงต้นปี 2564 ดัชนี SET วิ่งขึ้นมาแล้วกว่า 9% อย่างไรก็ตาม หากดูจากค่า P/E อิงกำไรย้อนหลัง 12 เดือน จะสูงถึง 40 เท่า
  • บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าดัชนี SET ยังมีโอกาสวิ่งขึ้นได้ต่อด้วยแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน และฟันด์โฟลวที่มีโอกาสไหลกลับเข้าไทยในปีนี้ 
  • จากสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน ชี้ว่าในปีที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเกิน 30% มีโอกาสที่ดัชนี SET จะพุ่งขึ้นได้ถึง 20% และหากมองจากระดับ Earning Yield Gap ที่ 4% ในปัจจุบัน ก็มีโอกาสที่ตลาดจะซื้อขายกันในระดับ P/E ที่สูงกว่าปกติ
  • ในมุมของ บล.ทรีนีตี้ เชื่อว่า SET ในระดับปัจจุบันแพงเกินไปแล้ว แต่อาจจะยังไม่เห็นการปรับฐานแรงในครึ่งปีแรก ด้วยแรงหนุนของ ‘สภาพคล่อง’ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเลือกหุ้น Laggard ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า หากตลาดปรับฐาน 
  • บล.บัวหลวง แนะนำนักลงทุนเลือกใช้กลยุทธ์ Bottom Up โดยเน้นหุ้นที่ยัง Laggard และกำไรมีแนวโน้มจะฟื้นตัวในระยะถัดไปจากอานิสงส์ของการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีพุ่งขึ้นจากระดับ 1,503.36 จุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 มาแตะระดับ 1,580 จุด เพิ่มขึ้น 5.4% ส่งผลให้ตลอดทั้งปีนี้ดัชนี SET วิ่งขึ้นมาแล้วกว่า 9% 

 

ดัชนีที่วิ่งขึ้นมาใกล้ระดับ 1,600 จุดเรียกได้ว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับมุมมองของนักวิเคราะห์หลายราย และยิ่งดูแพงขึ้นไปอีกหากมองจากค่า P/E ของ SET ที่กว่า 40 เท่า (อิงกับผลประกอบการย้อนหลัง 12 เดือนล่าสุด) 

 

แน่นอนว่านักลงทุนในตลาดมักจะมองไปในอนาคตและคาดหวังกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่การคาดหวังในระดับนี้จะเป็นการคาดหวังที่ห่างไกลจากพื้นฐานมากเกินไปหรือไม่

 

ในมุมของ ภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่าสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเอื้อกับตลาดหุ้นให้ปรับตัวขึ้นต่อได้ ทั้งในส่วนของปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) และทิศทางเงินลงทุน (Fund Flow) ซึ่งทั้งสององค์ประกอบยังสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการที่จะทำให้ราคาหุ้นอยู่ในขาขึ้นต่อไป 

 

ในส่วนของ Fundamental เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจทั้งของโลกและไทย โดยล่าสุด OECD ปรับเพิ่มการเติบโตของ GDP โลกปี 2564 ขึ้นจาก 4.2% เป็น 5.6%

 

ส่วนภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ของไทยคาดว่าฟื้นตัวแรงถึง 32% จากปีก่อน โดยฝ่ายวิจัยประเมินกำไรปี 2564 อยู่ที่ 7.96 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 70.20 บาท ซึ่งหากพิจารณาจากสถิติในอดีตย้อนหลังตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน พบว่าปีไหนก็ตามที่ EPS Growth สูงเกิน 30% หุ้นจะขึ้นแรงเสมอ และมีโอกาสขึ้นเกิน 20% ต่อปี

 

‘5 โบรก’ ส่องเป้าดัชนีหุ้นไทยปี 64 มีลุ้นแตะ 1,650 จุด หวังกำไร บจ. ปีนี้โตเกิน 30%

 

“โดยปกติตลาดหุ้นจะเล่นตามการเติบโตเป็นหลัก หากปีไหนที่กำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวแรงก็มีโอกาสที่ดัชนีจะวิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในมิติของ P/E อาจจะใช้ประเมินในช่วงที่ตลาดฟื้นตัวได้ไม่ชัดเจนนัก ควรจะใช้ Market Earning Yield Gap น่าจะเหมาะสมกว่า” 

 

สำหรับตลาดการเงินไทยในปัจจุบันซึ่งอัตราดอกเบี้ยลดลงมาเหลือ 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ก็มีอัตราต่ำมาก ด้วยภาวะเช่นนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจาก ‘หุ้น’ ที่มากกว่า ‘ตราสารหนี้’ กว้างขึ้นไปอีก ทำให้นักลงทุนเลือกจะเข้ามาลงทุนในหุ้นมากขึ้น 

 

หากดูจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี Earning Yield Gap ของไทยอยู่ที่ 3.9% ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4% เมื่อคิดกลับเป็น P/E ก็ควรจะอยู่ที่ประมาณ 22.7 เท่า เมื่อคำนวณกับกำไรที่ 70.2 บาทต่อหุ้น ดัชนี SET ก็ควรจะอยู่ที่ 1,595 จุด แต่หากตลาดได้แรงหนุนจากฟันด์โฟลวเข้ามาเสริม Earning Yield Gap มักจะมีค่าลดต่ำลงจากค่าเฉลี่ย ซึ่งเราประเมินที่ 3.7% จะคิดเป็นค่า P/E 23.8 เท่า ทำให้เรามองว่าดัชนี SET ในปีนี้มีโอกาสจะขยับขึ้นไปได้ถึง 1,670 จุด เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน 

 

“ปีนี้มีโอกาสที่ฟันด์โฟลวจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยเริ่มเห็นสัญญาณของเงินไหลเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 8.8 พันล้านบาท (mtd) ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ต่างชาติซื้อสุทธิ” 

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยกำลังฟื้นตัว ขณะที่เงินลงทุนส่วนใหญ่กำลังไหลเข้าหุ้น Cyclical จึงมองว่านักลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นที่ยัง Laggard และมีพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยมีหุ้นเด่น 3 บริษัท ได้แก่ 

 

1. PTT ซึ่งได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทย่อยวิ่งนำไปก่อนแล้ว 

2. BBL ปัจจุบันซื้อขายที่มูลค่าทางบัญชีเพียง 0.5 เท่า และมูลค่าของบริษัทในปัจจุบันต่ำกว่า BAY แล้ว 

3. CPF ได้แรงหนุนจากแนวโน้มกำไรเติบโตดีตามราคาเนื้อหมูและไก่ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งได้ช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมจากการเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่าดัชนีที่พุ่งขึ้นมาระดับนี้เกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปแล้ว ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ให้ไว้ 1,550 จุด อิงจาก EPS ปี 2565 ที่ 92 บาทต่อหุ้น และค่า P/E 16.8 เท่า 

 

ส่วนปัจจัยที่เข้ามาหนุนให้ดัชนีวิ่งขึ้นมาได้ต่อเนื่องคือ ‘สภาพคล่อง’ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะยังไม่มีปัญหา และน่าจะยังดีต่อเนื่องไปจนกว่าที่ Fed จะเริ่มลดวงเงินการอัดฉีด ซึ่งคาดว่าอาจจะเริ่มเห็นการส่งสัญญาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดคืออัตราเงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะยังไม่เพิ่มขึ้นเร็วอย่างที่คาด ทำให้นักลงทุนอาจจะกลับเข้าไปในตลาดพันธบัตรอีกครั้ง ทำให้เราอาจจะเห็นบอนด์ยีลด์ปรับตัวลงในระยะถัดไป ขณะที่ตลาดหุ้นก็ปรับฐานพร้อมๆ กัน 

 

“โอกาสที่จะเห็นตลาดปรับฐานแรงในครึ่งปีแรกอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะความเสี่ยงที่สภาพคล่องจะหายไปฉับพลันยังไม่มี อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปอาจจะเห็นภาพของการสลับการลงทุนจากตลาดที่ร้อนแรงไปหาตลาดที่ปรับฐานลงมาบ้างแล้ว” 

 

สำหรับนักลงทุนที่พร้อมรับความเสี่ยงในขณะที่ดัชนีกำลังวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะนำว่าควรเน้นลงทุนกลุ่มหุ้นที่ยัง Laggard ซึ่งหากตลาดปรับฐานลงมา หุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด 

 

จากการคัดกรองกลุ่มหุ้นในดัชนี SET50 และ SET51-100 ในสองช่วงเวลา คือช่วงที่ SET เริ่มไต่จากจุดต่ำสุด โดยรอบแรกคือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่ SET ขึ้นจากระดับ 1,190 จุด และรอบสองคือตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ SET ขึ้นจากระดับ 1,390 จุด พบว่ามีหุ้นที่อาจเป็นเป้าหมายของการเข้าลงทุน ดังนี้

 

1. หุ้นในดัชนี SET50 ที่ปรับตัว Laggard มากที่สุดในช่วงแรก ได้แก่ TU, TOA, HMPRO, INTUCH และ BAM

 

2. หุ้นในดัชนี SET51-100 ที่ปรับตัว Laggard มากที่สุดในช่วงแรก ได้แก่ TVO, TQM, PRM, TTW และ WHAUP

 

3. หุ้นในดัชนี SET50 ที่ปรับตัว Laggard มากที่สุดในช่วงที่สอง ได้แก่ EGCO, BGRIM, RATCH, BTS และ ADVANC

 

4. หุ้นในดัชนี SET51-100 ที่ปรับตัว Laggard มากที่สุดในช่วงที่สอง ได้แก่ GFPT, JAS, TQM, CK และ ORI

 

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.บัวหลวง มองว่าหากมองจากเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ ทำให้ ณ ระดับปัจจุบันเหลืออัพไซด์อีกไม่มากแล้ว ขณะที่กลุ่มหุ้นซึ่งนำตลาดขึ้นมาก่อนหน้านี้อย่างกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีมีโอกาสจะพักตัวและกดดันดัชนีในระยะถัดไป 

 

อย่างไรก็ตาม โอกาสของการลงทุนด้วยกลยุทธ์ Bottom Up โดยเน้นหุ้นกลุ่มที่ยังปรับขึ้นไม่มาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้กำไรมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดี เช่น กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มธนาคาร กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 

 

“การลงทุนในจังหวะนี้ไม่ควรใช้ดัชนี SET เป็นจุดตัดสินใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโอกาสจากกลุ่มหุ้นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มากนัก ส่วนการวิ่งขึ้นของ SET จะทะลุ 1,600 จุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าในจังหวะที่หุ้นกลุ่มนำตลาดก่อนหน้านี้ปรับฐานจะรุนแรงเพียงใด และหุ้นกลุ่ม Laggard จะวิ่งขึ้นได้แรงเพียงใด” 

 

ทั้งนี้ บล.บัวหลวง ประเมินกำไรต่อหุ้นปีนี้ที่ 86 บาท สูงกว่า Consensus ที่ 77 บาท และประเมินเป้าหมายดัชนีในระดับปกติไว้ที่ 1,548 จุด อิงกับ P/E 18 เท่า ขณะเดียวกันได้ประเมินเป้าหมายดัชนีในระดับดีกว่าปกติที่ระดับ 1,629 เท่า อิง P/E 18.9 เท่า 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X