×

ส่องผลประกอบการ 5 หุ้นบิ๊กเทค พร้อมมองอนาคตบริษัทผ่านมุมมองผู้บริหาร

08.02.2023
  • LOADING...

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลกถูกกดดันอย่างหนักเมื่อปีก่อน ทั้งจากประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจฉุดรั้งการจับจ่ายใช้สอยทั่วโลก นำไปสู่การเทขายหุ้น รวมไปถึงกระแสการปลดพนักงานของหลายบริษัท

 

ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ได้แก่ Apple, Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft ได้รายงานผลประกอบการของปี 2022 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการให้มุมมองต่อทิศทางของบริษัทโดยผู้บริหารแต่ละราย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


Apple 

ผลประกอบการประจำปี 2022 ของ Apple สร้างสถิติใหม่ของบริษัทด้วยยอดขาย 394,328 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 99,803 ล้านดอลลาร์ มีรายได้จาก iPhone ทะลุ 200,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ขณะที่รายได้จาก iPad เป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่มีรายได้ลดลง โดยเหลือ 29,000 ล้านดอลลาร์ จาก 31,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 

 

แม้ผลประกอบการรายปี 2022 ของ Apple จะดีขึ้น แต่เป็นผลประกอบการสิ้นสุดเดือนกันยายน ปี 2022 ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2022 ถือเป็นผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2023 มีแนวโน้มไม่สดใสนัก

 

ในไตรมาส 1 ปี 2023 ผลประกอบการของ Apple ผิดจากเป้าที่คาดไว้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ในไตรมาส 2 ปี 2016 โดยกำไรต่อหุ้นคิดเป็น 1.16 ดอลลาร์ ตํ่ากว่าที่คาด 0.05 ดอลลาร์ ขณะที่รายได้ลดลง 5% จากปีก่อน อยู่ที่ 117,150 ล้านดอลลาร์ ด้วยยอดขายของ iPhone ลดลง 8% และยอดขายตํ่ากว่าที่คาดการณ์ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์ มีเพียง iPad และผลิตภัณฑ์บริการที่ทำได้ตามคาด 

 

หากมองในแง่ดี Apple มีผู้ใช้อุปกรณ์อยู่กว่า 2,000 ล้านเครื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์บริการสร้างสถิติรายได้ใหม่ที่ 20,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6% จากปีที่แล้ว มียอดสมาชิกที่ชำระเงินมากกว่า 935 ล้าน เพิ่มขึ้นมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

 

ขณะที่ตัวชูโรงของ Apple อย่าง iPhone แม้ยอดขายจะหดตัวลง แต่ยังครองส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในจีนที่ยังครองสัดส่วนยอดขายสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 23.7% ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั้งหมดในจีน นอกจากนี้ยังสามารถรวบรวม 85% ของกำไรจากการดำเนินงาน และ 48% ของรายได้มาจากการขายสมาร์ทโฟนตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดตลอดกาลของบริษัท

 

ส่วนหนึ่งของความอ่อนแอทางรายได้ของ Apple มาจากข้อจำกัดด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ในประเทศจีนที่ขัดขวางการผลิต ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้จ่ายที่ร้านค้าน้อยลง

 

ทิม คุก ซีอีโอของ Apple กล่าวว่า 3 ปัจจัยที่ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในไตรมาสนี้หดตัวลงได้แก่ เงินดอลลาร์แข็งค่า, ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค เช่น ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ เป็นต้น และข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในประเทศจีน 

 

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าสถานการณ์ร้ายเริ่มผ่อนคลายลง หลังการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของจีน ช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง ขณะที่การแข็งค่าของดอลลาร์จะยังเป็นอุปสรรคต่อไป โดยคาดว่าจะส่งผลลบต่อรายได้ประมาณ 5% ต่อปี

 

Amazon 

สำหรับ Amazon รายงานผลประกอบการประจำปี 2022 มีรายได้ประมาณ 514,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปีที่แล้ว 9% แต่มีผลขาดทุนสุทธิถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของ Amazon นับตั้งแต่ปี 2014 และเป็นการขาดทุนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท 

 

ในส่วนผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2022 ของ Amazon แม้รายได้ดีกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 14,920 ล้านดอลลาร์ จาก 14,580 ล้านดอลลาร์ แต่กำไรต่อหุ้นยังตํ่ากว่าคาด ทำได้ 0.03 ดอลลาร์ เทียบกับ 0.17 ดอลลาร์ ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อ Amazon อย่างชัดเจน คือ AWS ที่มียอดขายสุทธิตํ่ากว่าคาดที่ 21,300 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 21,760 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากธุรกิจคลาวด์เติบโตมาอย่างยาวนานในฐานะธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่หดตัวลงเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้จากความต้องการใช้งานคลาวด์ที่ลดลงในองค์กร เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยลง

 

แอนดี้ แจสซี ซีอีโอของ Amazon กล่าวว่า ในระยะสั้นบริษัทต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน แต่ในระยะยาวบริษัทยังคงมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทกำลังตั้งเป้าไปที่การลดต้นทุนมากกว่าแสวงหารายได้

 

“หากลองคำนึงถึงการลงทุนและนวัตกรรมของเราในวงกว้าง เช่น ความบันเทิงแบบสตรีมมิง การดูแลสุขภาพที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก การเชื่อมต่อดาวเทียมบรอดแบนด์สำหรับชุมชนอื่นๆ ทั่วโลก จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รู้สึกในแง่ดีถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” แอนดี้กล่าว

 

ที่ผ่านมาในปี 2022 หุ้น Amazon ดิ่งลงไปแล้วกว่า 47% ท่ามกลางการชะลอตัวของโฆษณาดิจิทัลที่มีการพูดถึงกันมาก อัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤตโควิด ล่าสุดบริษัทปลดพนักงานไปกว่า 18,000 คน เป็นการปลดพนักงงานที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท

 

Alphabet

เหมือนบริษัทเทคยักษ์ใหญ่แห่งอื่นๆ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการออกมาไม่สดใสนัก โดยรายได้ประจำปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 282,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่เกือบ 60,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนกว่า 20%

 

ผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 อาจบ่งบอกอะไรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากยอดขายสุทธิที่ 63,100 ล้านดอลลาร์ ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 63,200 ล้านดอลลาร์ และกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 1.05 ดอลลาร์ เทียบกับประมาณการของวอลล์สตรีทที่ 1.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น 

 

หากลองแยกไปตามกิ่งก้านสาขาที่ Alphabet กำลังดำเนินธุรกิจ จะพบว่าธุรกิจเรือธงอย่าง Google มีรายได้ในไตรมาส 4 ปี 2022 ที่ 42,600 ล้านดอลลาร์ ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 43,300 ล้านดอลลาร์ ส่วน YouTube รายงานยอดขายโฆษณา 7,960 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ 8,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการใช้จ่ายของผู้ใช้งานมากที่สุด

 

ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Alphabet เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาสนี้ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายของผู้ลงโฆษณาที่ลดลง และผลกระทบของการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 

 

ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังของ Google ส่วนหนึ่งมาจากการคุกคามจากหลายด้าน ทั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ยุติธุรกิจเทคโนโลยีโฆษณาของ Google เนื่องจากกล่าวหาว่าผูกขาดตลาดอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งธุรกิจการค้นหาดิจิทัลของ Alphabet อาจถูกโจมตีจากผู้แข่งขันใหม่ โดยเมื่อปีที่แล้ว Google ได้ประกาศ ‘โค้ดแดง’ เพื่อตอบโต้ต่อแชตบอตยอดนิยมของ OpenAI อย่าง ChatGPT

 

แม้บริการคลาวด์ของ Google จะยังมีผลขาดทุนสุทธิ 480 ล้านดอลลาร์ และยังตามหลังคู่แข่งบริการคลาวด์อย่าง AWS และ Azure แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า Google Cloud ยังมีทิศทางที่ดี และน่าจะเป็นธุรกิจทางออกที่ดีที่สุดของ Alphabet ในยามที่ธุรกิจแพลตฟอร์มค้นหาอิ่มตัวแล้ว 

 

Alphabet กำลังมองหาแนวทางใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ซันดาร์ให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อปรับปรุงผลการค้นหาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เริ่มต้นปี 2023 บริษัทได้เปิดตัว DeepMind แผนกที่มุ่งเน้นการวิจัย AI ซึ่งจะรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายของ Alphabet

 

“การลงทุนระยะยาวของเราในวิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงลึกทำให้เราอยู่ในสถานะที่ดีอย่างยิ่งเมื่อ AI ถึงจุดเปลี่ยน และผมรู้สึกตื่นเต้นกับการก้าวกระโดดที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่เรากำลังจะเปิดเผย นอกจากนี้ยังมีโมเมนตัมที่ยอดเยี่ยมในระบบคลาวด์ การติดตามบน YouTube และอุปกรณ์ Pixel กำลังอยู่บนเส้นทางในการวางโครงสร้างต้นทุนใหม่ด้วยวิธีที่ทนทานขึ้น เพื่อสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน” ซันดาร์เผย

 

Meta 

ขณะที่ Meta แพลตฟอร์มโฆษณาดิจิทัลยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ออกมาประกาศปลดพนักงานและซื้อหุ้นคืนครั้งใหญ่ ท่ามกลางรายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

 

รายได้รวมในปี 2022 ของ Meta อยู่ที่ 116,610 ล้านดอลลาร์ ตํ่ากว่าปีที่แล้วเพียง 1% แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 87,660 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึง 22% ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาจากค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรมูลค่า 4,610 ล้านดอลลาร์ เพียงแค่ในไตรมาส 4 ไตรมาสเดียว มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,200 ล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นว่าผลประกอบการของ Meta ยังคงไม่สดใสเช่นเดิม

 

ล่าสุดผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2022 ออกมาดีกว่าที่คาด สำหรับรายได้อยู่ที่ 32,170 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 31,530 ล้านดอลลาร์ แม้จะตํ่ากว่าปีที่แล้ว 4% ก็ตาม

 

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ใช้งานรายวันมีจำนวน 2,000 ล้านคน ตัวเลขผู้ใช้งานรายเดือนอยู่ที่ 2,900 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 4% และ 2% ตามลำดับ

 

ด้าน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta แถลงว่า จากที่เคยกล่าวในไตรมาสที่แล้วว่าแนวโน้มผลิตภัณฑ์ของ Meta ดูดีกว่าที่หลายคนคาดไว้ ในไตรมาสนี้รายได้ของบริษัทอยู่ในระดับทรงตัว โดยคาดว่าต้นปี 2023 หรือหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นตัวเลขที่เป็นกำไรอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น จากแนวโน้มผู้ใช้งานบน Facebook, Instagram และ WhatsApp ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ใช้งาน Reels ใน Facebook และ Instragram เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว 

 

“ชุมชนของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผมพอใจกับการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งในแอปพลิเคชันของเรา” พร้อมทิ้งท้ายว่า ปี 2023 จะเป็น ‘ปีแห่งประสิทธิภาพ’ และจะมุ่งเน้นไปที่การเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งและคล่องแคล่วมากขึ้น

 

ในขณะที่ธุรกิจหลักอย่างโฆษณากำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูการเติบโต Reality Labs ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานสู่ Metaverse ของมาร์ก สร้างผลขาดทุน 4,280 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ทำให้ผลขาดทุนจากการดำเนินงานรวมสำหรับปีนี้อยู่ที่ 13,720 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมาร์กระบุว่า ผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ Reality Labs ในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่จะยังคงลงทุนต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสที่สมควรแก่การลงทุนระยะยาว

 

Microsoft

งบประมาณรายปี 2022 ของ Microsoft ซึ่งสิ้นสุดที่เดือนมิถุนายน ปี 2022 มีรายได้ 198,270 ล้านดอลลาร์ และกำไรสุทธิ 72,738 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 18% และ 19% ตามลำดับ ได้แรงหนุนจากการเติบโตในทุกภาคส่วนของบริษัท เช่น รายได้จากบริการคลาวด์ Azure เพิ่มขึ้น รายได้จากหน่วยกระบวนการทางผลผลิตและธุรกิจ เช่น Office 365, Linkedln เพิ่มขึ้น และรายได้จากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เช่น โฆษณาดิจิทัล และ Xbox เพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หากดูที่ผลประกอบการล่าสุดประจำไตรมาส 2 ปี 2023 พบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงไม่ต่างจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีอื่น โดยรายได้อยู่ที่ 52,747 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 2.32 ดอลลาร์ ตํ่ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เล็กน้อย นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรของ Microsoft ลดลง 6% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กำไรลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี นับตั้งแต่ปี 2017 

 

ในบรรดาสามกลุ่มธุรกิจหลักของ Microsoft บริการคลาวด์ดูมีแนวโน้มดีที่สุดในไตรมาสนี้ โดยรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบปีต่อปีเป็น 21,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หน่วยธุรกิจซึ่งประกอบด้วย Office 365 และ Linkedln มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% เป็น 17,000 ล้านดอลลาร์

 

ดังนั้นธุรกิจที่ฉุดรั้งผลประกอบการของ Microsoft คือธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มียอดขายลดลง 19% เป็น 14,200 ล้านดอลลาร์ ได้รับผลกระทบจากยอดขายพีซีที่ลดลงทั่วโลก ยอดขาย Windows ลดลง 39% ขณะที่ Xbox และบริการเกมมิงอื่นๆ มีรายได้ลดลง 12% ในไตรมาสนี้เช่นเดียวกัน

 

สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของ Microsoft ได้พูดถึงธุรกิจ Windows ว่า แม้จำนวนพีซีที่จัดส่งลดลงในระหว่างไตรมาส โดยกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่ความเข้มข้นของการใช้งาน Windows ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยเวลาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเกือบ 10%

 

ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ Microsoft ถูกปล่อยออกมาหลังจากบริษัทประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่และแผนการลดต้นทุน บริษัทกำลังเลิกจ้างงาน 10,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 4.5% ของพนักงานทั้งหมด อีกทั้งยังเตือนว่าลูกค้ากำลังลดการใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ยากลำบาก 

 

ในเวลาเดียวกัน Microsoft จะยังคงเพิ่มการลงทุนไปยังธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต เช่น ธุรกิจบริการคลาวด์และ AI เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทประกาศการลงทุนครั้งใหม่ซึ่งมีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์กับสตาร์ทอัพระบบปัญญาประดิษฐ์ OpenAI ผู้อยู่เบื้องหลังโปรแกรมแชตบอต AI อย่าง ChatGPT ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตอนนี้ โดยบริษัทมีแผนที่จะนำโมเดลของ OpenAI ไปสู่ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำหรับผู้บริโภคและองค์กรอีกด้วย 

 

สัตยากล่าวถึงประเด็น AI ว่า “ยุคสมัยของ AI ได้มาถึงแล้ว และ Microsoft กำลังขับเคลื่อนมันอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป ทุกแอปของบริษัทจะถูกทำงานโดย AI นั่นเป็นแผนที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้”

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising