×

สว. เคาะ 5 รายชื่อผ่านด่านนั่ง ‘ตุลาการศาลปกครองสูงสุด’ พบมาจากอดีตผู้บริหารศาล รธน. 3 คน

โดย THE STANDARD TEAM
15.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (15 มกราคม) ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 15 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จำนวน 5 คน ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 5 คน ที่มี พล.อ. อู้ด เบื้องบน สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการประชุมและลงคะแนนลับ

 

ท้ายที่สุดหลังจากการลงคะแนนลับ ที่ประชุม สว. มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด 5 คน ตามรายละเอียดดังนี้

 

 

  • พรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ ได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ 182 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 คะแนน และไม่ออกเสียง 3 คะแนน
  • วรวิทย์ สุขบุญ ได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ 158 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 22 คะแนน และไม่ออกเสียง 9 คะแนน
  • เชิดชู รักตะบุตร ได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ 173 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 คะแนน และไม่ออกเสียง 5 คะแนน
  • บุญเสริม นาคสาร ได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ 169 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 14 คะแนน และไม่ออกเสียง 6 คะแนน
  • สมฤทธิ์ ไชยวงค์ ได้รับคะแนนให้ความเห็นชอบ 172 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 10 คะแนน และไม่ออกเสียง 7 คะแนน

 

สำหรับผลการออกเสียงลงคะแนนข้างตนปรากฏว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้ง 5 คน ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงข้างมาก จึงเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

 

5 ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นใครบ้าง

 

1. พรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) 

จบการศึกษา

  • ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) และนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

2. วรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

จบการศึกษา

  • ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • เนติบัณฑิตไทย

 

3. เชิดชู รักตะบุตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม และอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

จบการศึกษา

  • ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Master in International and Comparative Law จาก Vrije Universiteit Brussel

 

4. บุญเสริม นาคสาร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหาร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

จบการศึกษา

  • ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

5. สมฤทธิ์ ไชยวงค์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

จบการศึกษา

  • ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรัฐศาสตรบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เนติบัณฑิตไทย

 

ตุลาการศาลปกครองสูงสุดสำคัญอย่างไร

 

ศาลปกครองมีเขตอำนาจ (เขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง) และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรืออำนาจของศาลปกครอง (อำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีปกครองประเภทต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด)

 

สำหรับคดีที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครองจะเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

 

ศาลปกครองแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น

 

กล่าวเฉพาะศาลปกครองสูงสุด มีเพียงศาลเดียว จึงไม่มีข้อจำกัดด้านเขตอำนาจ ดังนั้นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่ามูลคดีจะเกิดที่ใด หรือผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เพียงแต่ต้องยื่นฟ้องให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

 

สำหรับตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

  1. ประธานศาลปกครองสูงสุด
  2. รองประธานศาลปกครองสูงสุด
  3. ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
  4. ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  5. ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ศป. ประกาศกำหนด

 

องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดต้องมีตุลาการอย่างน้อย 5 คน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา

 

นอกจากนี้ในวิธีพิจารณาคดีปกครองยังมีตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในกระบวนพิจารณาอีก 2 ตำแหน่งที่มีความสำคัญ แต่มิได้มีการกำหนดให้ผูกพันกับบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง คือตุลาการเจ้าของสำนวน ซึ่งแต่งตั้งโดยตุลาการหัวหน้าคณะจากตุลาการในองค์คณะนั้น และตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดจะแต่งตั้งจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือจะแต่งตั้งจากตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นก็ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X