วันนี้ (30 ส.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรใหม่ (Red Light Camera System)
โดยเปิดเผยว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ เกิดปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการกวดขันกันอย่างเต็มที่ เฉพาะสถิติการจับกุมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ฝ่าสัญญาณไฟกว่า 1,932 ราย แต่นอกจากนี้ยังมีผู้ฝ่าฝืนอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกจับ และทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุและรถติด ตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 จึงได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับ
Red Light Camera System เป็นระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ ที่แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ประสิทธิภาพในการตรวจจับยังไม่มากพอ ไม่สามารถตรวจจับเวลากลางคืนได้ ซึ่งมีผู้ฝ่าฝืนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก จึงมีการพัฒนาใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยได้ติดตั้งไว้กว่า 30 จุดตามแยกสำคัญในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนถึงจุดตรวจจับจะมีป้ายแจ้งเตือน 2 ระยะคือในระยะ 100 เมตร และ 50 เมตร แต่ละแยกจะมีกล้อง 2-3 ตัวทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง มีความชัดและความละเอียดสูงด้วยกล้อง Overview ความละเอียด 4K หรือ 12 ล้านเมกะพิกเซล และมีกล้องตรวจจับความละเอียด 2 ล้านเมกะพิกเซล รวมทั้งติดตั้งอินฟราเรดที่สามารถตรวจจับได้ทั้งกลางวันและกลางคืนในทุกสภาพอากาศ โดยกล้องจะบันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จากนั้นจะส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนรถ ยี่ห้อ รุ่น และสีของรถ จากนั้นก็จะออกใบสั่งแบบอัตโนมัติไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อส่งใบสั่งไปยังบ้านของผู้ฝ่าฝืนภายใน 7 วัน
ระบบดังกล่าวได้ทำการทดลองติดตั้งตามแยกใหญ่ๆ แล้ว โดยสถิติจากการทดลองตรวจจับใน 30 จุดตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคมที่ผ่านมา พบผู้ฝ่าฝืนจำนวนทั้งสิ้น 22,260 รายต่อเดือน เฉลี่ย 890 รายต่อวัน ส่วนใหญ่ฝ่าฝืนในช่วงกลางวัน โดยแยกรัชดา-พระรามสี่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุดจำนวน 3,082 ราย สำหรับความผิดข้อหาฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22(2) ประกอบมาตรา 142 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ในเบื้องต้นกองบังคับการตำรวจจราจรจะทำการเปรียบเทียบปรับ 500 บาท โดยสามารถชำระค่าปรับผ่านเคาน์เตอร์และตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือบริการ KTB netbank ซึ่งหากไม่จ่ายค่าปรับ ผู้ที่กระทำผิดก็จะถูกตัดคะแนนใบอนุญาตได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์