×

รำลึกครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา นายกรัฐมนตรี-พรรคการเมือง ร่วมวางพวงหรีด ชัยธวัชจี้ รีบตกผลึกนิรโทษกรรมเหตุประชาชนรออยู่

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2024
  • LOADING...
48 ปี 6 ตุลา

วันนี้ (6 ตุลาคม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ ‘6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2567 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ โดยในช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 19 รูป จากนั้นในช่วงเปิดงาน ผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและขานนามวีรชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา

 

โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งพวงหรีดมาร่วมงานดังกล่าว รวมถึงพวงหรีดของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และพรรคการเมืองอย่าง พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคประชาชน, คณะก้าวหน้า และเครือข่ายองค์กรต่างๆ

 

ภายในงานมีคนการเมืองและนักเคลื่อนไหวกิจกรรมมาร่วมงาน เช่น ญาติวีรชนคนเดือนตุลา, ชัยธวัช ตุลาธน แกนนำคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน, จาตุรนต์ ฉายแสง และ สส. พรรคเพื่อไทย, กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พันธุ์ใหม่ นำโดย นันทนา นันทวโรภาส, ธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช., วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกลุ่มเพื่อนของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง

 

ที่กำแพงบริเวณหอประชุมธรรมศาสตร์ มีการติดป้ายข้อความที่แสดงออกในความเห็นเกี่ยวกับการเมือง เช่น ป้ายโปสเตอร์รณรงค์การนิรโทษกรรมประชาชน, ข้อความ ‘48 ปีไม่มีแล้วอุดมการณ์’, ‘โฆษณาชวนเชื่อ โฆษณาชวนฆ่า’ และ ‘จากป่าสู่กลาโหม’

 

ด้านชัยธวัชกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของไทยที่จะต้องคำนึงระลึกถึงในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมและความรับผิดชอบของรัฐต่อการดำเนินการต่อประชาชนซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นอีกทั้งในอดีตและอนาคต

 

การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และในปี 2521 ได้มีการออกกฎหมายในนิรโทษกรรม แสดงให้เห็นว่าในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว ซึ่งขณะนี้มีนักการเมืองหลายคนที่เห็นว่าคดีทางการเมืองที่ร้ายแรงไม่เหมาะสมที่จะมีนิรโทษกรรม จึงขอย้ำว่าในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 มาแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่เกี่ยวอะไรกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี

 

ชัยธวัชระบุว่า ตนในฐานะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎรยังรอความชัดเจนว่าจะมีการพิจารณารายงานของกรรมาธิการเร็วที่สุดได้เมื่อใด หลังจากที่แกนนำรัฐบาลตัดสินใจเลื่อนการเสนอรายงานออกไปจากวาระพิจารณา อาจเพราะด้วยความกังวลว่าไม่ต้องการให้มีประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมืองไปกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ขณะเดียวกันมีร่างกฎหมาย การนิรโทษกรรมที่อยู่ในระเบียบวาระอยู่แล้ว 4 ฉบับ ไม่อยากให้รอช้า เพื่อให้พรรคการเมืองต่างรีบพิจารณาเพื่อยื่นกฎหมายของแต่ละพรรคเพิ่มเติม

 

“อยากจะเสนอความเห็นว่าจริงๆ แล้วไม่ควรกังวลจนเกินเลยเกินไป เรื่องนี้เป็นวาระปกติการทำงานของสภา การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองประชาชนจำนวนมากรอคอยอยู่ แน่นอนมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กรณีว่าจะนิรโทษกรรมคดีตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งในรายงานของกรรมาธิการก็เสนอไว้หลายทางเลือก ศึกษาไว้อย่างรอบด้านว่ากรณีที่นิรโทษหรือไม่นิรโทษจะมีผลดีผลเสียอย่างไร หรือพื้นที่ตรงกลางนิรโทษแบบมีเงื่อนไขมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อะไรเป็นประโยชน์ ถ้ากรรมาธิการเสนอรายงานต่อสภาเร็วที่สุด เพื่อทำให้พรรคการเมืองต่างๆ รับฟังความเห็นจากสภาและสังคมอย่างรอบด้าน จะได้ตกผลึก” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า พรรคการเมืองต่างๆ ควรรีบตกผลึกในเรื่องนี้ รายงานของกรรมาธิการเป็นเพียงข้อศึกษา ซึ่งเป็นทางเลือก ไม่ใช่ร่างกฎหมาย การพิจารณาจะเป็นประโยชน์ต่อแกนนำพรรคการเมืองและรัฐบาล และได้ฟังฟีดแบ็กจากสังคม

 

การนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขเป็นหนึ่งในทางเลือกข้อเสนอของรายงานกรรมาธิการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเห็นตรงกันจากหลายพรรคการเมือง ไม่ได้เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง ส่วนพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคใดจะเอาด้วยหรือไม่ ขั้นตอนแรกจะต้องมีการพิจารณารายงานของกรรมาธิการก่อน เพื่อฟังความเห็นของสมาชิกและสังคม ตนเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ง่ายขึ้นที่จะทำให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

ขณะที่ ศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเทียบเชิญเข้ามาเพื่อหารือในเรื่องการนิรโทษกรรม ส่วนการเตรียมการของพรรคประชาชนก็เป็นไปตามที่ชัยธวัชได้ให้ความเห็นไว้คือ รอนำรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้รายงานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจะนำความเห็นของสภาแจ้งให้ สส. ทราบ และจะยื่นร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมของพรรคประชาชนอีกฉบับ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X