×

45 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน: เข้าใจอดีต มองอนาคต ‘Rise with the Dragon โดยเน้น 2D’

30.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ตลอดช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนในด้านการทูต ด้านสังคม และด้านที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอื่นๆ จะมีความใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่อง หากแต่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่มี
  • จีนไม่เพียงมุ่งสร้างเส้นทางสายไหมยุคใหม่ในเชิงทางกายภาพ ด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางบก ทางรถไฟ หรือเส้นทางทะเลกับภูมิภาคต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งเชื่อมโลกด้วย ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road)’ เพื่อปูทางไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลกด้วยเทคโนโลยีของจีน
  • อย่างไรก็ดี การมุ่งทำ Digitalization ร่วมกับจีนให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย และมีโจทย์ที่สำคัญคือ ความพร้อมในด้านบุคลากรของไทยที่ยังมีจุดอ่อนในด้านทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะการสื่อสารภาษาจีนกลาง ดังนั้น การสร้าง ‘คน’ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ

นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1975 (พ.ศ. 2518) ที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ผ่านมา 45 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีนได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและฝ่าฟันวิกฤตสำคัญต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจอดีต เพื่อมองอนาคต พร้อมข้อเสนอ ‘เติบโตไปกับมังกรจีน (Rise with the Dragon)’ ด้วยการเน้น 2D คือ Digitalization และ Diversification

 

เข้าใจอดีต มองอนาคต

นับจากวันแรกที่เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในยุค เหมาเจ๋อตง เมื่อย้อนพินิจในวันนั้น จีนยังคงเป็นประเทศยากจนและปิดประเทศ ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งวุ่นวายในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนนานนับ 10 ปี (ปี 1966-1976) ในขณะนั้นจีนจึงอยู่ในยุคไร้เพื่อน และต้องการแสวงหามิตรผ่านการซื้อใจประเทศต่างๆ ด้วยการซื้อขายสินค้าใน ‘ราคามิตรภาพ’ เช่น ในช่วงนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมันขาดแคลน จีนก็เคยช่วยเหลือด้วยการขายน้ำมันดิบให้ไทยในราคามิตรภาพ 

 

มาจนถึงวันนี้เพียงแค่ 40 กว่าปี จีนเปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน เริ่มจากจีนในยุคปฏิรูปได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยกลไกตลาด ทำให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนมาถึงยุค สีจิ้นผิง ที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และใช้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อปูทางในการผงาดขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่เน้นสร้างแนวร่วมและพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จีนวันนี้จึงกลายเป็น ‘จีนในยุคสวยเลือกได้’ ด้วยตลาดขนาดใหญ่และพลังผู้บริโภคมหาศาลของจีนที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้ใครๆ ก็สนใจคบค้ากับจีน 

 

ดังนั้น ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคนี้ ซึ่งจีนมีเพื่อนเยอะ จึงย่อมจะแตกต่างไปจากความสัมพันธ์ไทย-จีนในอดีตยุค ‘ราคามิตรภาพ’ เราต้องไม่ยึดติดกับอดีตจนเกิดภาพลวงตาที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาดเชิงนโยบายในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีน

 

รากฐานความสัมพันธ์ไม่ใช่เพียงแค่ 45 ปี

หากย้อนไปดูรากฐานความสัมพันธ์ไทย-จีนในเชิงประวัติศาสตร์จะพบว่า ได้มีการติดต่อค้าขายและมีสัมพันธไมตรีทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน มาจนถึงขณะนี้ ไทย-จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตั้งแต่ระดับราชวงศ์ไปจนถึงระดับประชาชนทั่วไป ที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ไทย-จีนไม่เคยมีความขัดแย้งที่รุนแรงต่อกัน และไม่มีปมที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต เราไม่มีพรมแดนทับซ้อนกับจีน รวมทั้งไม่มีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ด้วย  

 

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า จีนแผ่นดินใหญ่ได้ประกาศสร้างชาติเป็นประเทศ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China)’ มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1949 แล้วทำไมเพิ่งจะเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปี 1975 เหตุผลเนื่องมาจากในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็น 2 สองขั้วอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนต้องชะงักงันไปนานเกือบ 30 ปี จนกระทั่งเกมการเมืองของโลกยุคสงครามเย็นได้เปลี่ยนไป สหรัฐฯ เริ่มปูทางหันมาคบหากับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในปี 1971 มีการยอมรับให้ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ เข้ามาเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ (เข้ามาแทนสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน) ทำให้ประเทศต่างๆ ในค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมเริ่มมีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างประชาชนกับจีนแผ่นดินใหญ่ จนในที่สุดมีหลายประเทศเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน และในกรณีของประเทศไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1975 

 

 

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีนยังต่ำกว่าศักยภาพ

อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนในด้านการทูต ด้านสังคม และด้านที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอื่นๆ จะมีความใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่อง หากแต่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่มี โดยสรุปได้ ดังนี้

 

ประการแรก ไทยยังไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของจีน แม้ว่าจีนจะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย หากแต่ในทางกลับกันไทยเป็นเพียงคู่ค้าอันดับ 12 ของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลก และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน (ไทยเป็นรองทั้งเวียดนามและมาเลเซีย) และตลอด 45 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าไทย-จีนไม่เคยทะลุหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในขณะที่เวียดนามก้าวขึ้นมากลายมาเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลก และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียนที่ค้าขายกับจีน โดยมีมูลค่าการค้าเวียดนาม-จีนที่ทะลุหลัก 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาตั้งแต่ปี 2017 ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจศึกษาว่าเวียดนามทำได้อย่างไร และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม-จีนแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร สามารถอ่านได้จากบทความนี้ของผู้เขียน ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-เวียดนาม

 

ประการที่สอง การค้าไทยกับมณฑลจีนยังกระจุกตัวอยู่ที่มณฑลหลัก คือ กวางตุ้ง  โดยการค้าระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้งมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของการค้าไทย-จีนทั้งหมด จึงค่อนข้างกระจุกตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกวางตุ้งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีน และไทยกับกวางตุ้งมีประวัติการติดต่อค้าขายกันมายาวนาน ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่วนใหญ่ก็มาจากมณฑลกวางตุ้ง เช่น ชาวจีนแต้จิ๋วในไทย จึงมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าขายระหว่างไทย-จีนมานาน 

 

ประการที่สาม การค้าชายแดนไทย-จีนยังมีมูลค่าต่ำ แม้ว่าไทยจะสามารถขนส่งสินค้าผ่านด่านชายแดนไปจีนตอนใต้ (โดยผ่านประเทศเพื่อนบ้าน) มีทั้งจากด่านการค้าในภาคเหนือของไทย (ผ่านลาวหรือเมียนมา) และด่านในภาคอีสานของไทย (ผ่านลาวและเวียดนาม) อย่างไรก็ดี การค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ยังมีมูลค่าไม่มากและไม่ใช่ช่องทางการค้าหลักระหว่างกัน โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 3.98 ของการค้ารวมไทย-จีนทั้งหมด

 

สำหรับด่านการค้าชายแดนที่นิยมใช้ในการส่งออกไปจีนก็เช่น ด่านศุลกากรมุกดาหารและด่านนครพนม โดยใช้เส้นทางถนนขนส่งผ่านไปยังประเทศลาว แล้วเชื่อมต่อกับเวียดนาม เพื่อขนส่งต่อจากชายแดนเวียดนามไปยังด่านต่างๆ ในกวางสีของจีน เช่น ด่านผิงเสียงหรือด่านตงซิน เพื่อขนส่งกระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของจีน 

 

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของการค้าไทย-จีน เนื่องจากสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแค่กลุ่มวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น สินค้าประเภทเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จึงไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภคในจีนโดยตรง แม้ว่าไทยจะส่งออกข้าวหรือผลไม้ เช่น ทุเรียน ไปจีนในปริมาณมาก แต่ก็ล้วนเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าต่ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มสินค้าทุนที่มีมูลค่าสูงและสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น ด้วยโครงสร้างการค้าเช่นนี้ จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด 

 

ที่สำคัญสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทยที่ส่งออกไปจีนส่วนใหญ่ จีนก็จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนหรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าหรือใช้ประกอบการผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ จีนจึงไม่ได้นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยเพื่อการอุปโภคหรือบริโภคในจีนโดยตรง ในแง่นี้ไทยจึงเป็นเพียงแค่โซ่ข้อหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน และการผูกติดกับภาคการส่งออกของจีนเช่นนี้ ทำให้การส่งออกจากไทยไปจีนถูกกระทบ หากเกิดสถานการณ์ต่างๆ เช่น สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้การส่งออกจีนลดลง และทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบจากไทยที่เกี่ยวข้องลดลงตามไปด้วย

 

New Chapter ก้าวต่อไปความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคหลังโควิด-19

จากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่เรียกว่า Covidization หลายคนมองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลก และจะเป็นจุดจบของกระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกที่จะถูกเขย่าจนอาจจะแตกแกน (Decoupling) แยกออกเป็น 2 ห่วงโซ่ที่แยกออกจากกัน ดังนั้น ทิศทางจากนี้เศรษฐกิจจีนจะลดการพึ่งพาสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างห่วงโซ่การผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา 

 

จากการแตกแกนโลกสองขั้วระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้จีนน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพสูงอย่างอาเซียนมากขึ้น เกิดการย้ายการผลิต (Relocate) และหันมาค้าขายลงทุนกันเองในภูมิภาค สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการค้าในไตรมาสแรกของปี 2020 อาเซียนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน แซงหน้าสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

 

ดังนั้น ในยุคหลังโควิด-19 ความสัมพันธ์ไทย-จีนจะก้าวต่อไปอย่างไร เราควรจะต้องตีโจทย์ให้แตก และขอเสนอแนะยุทธศาสตร์ ‘แปลงจีนให้เป็นโอกาส’ ด้วยนโยบายเติบโตไปกับมังกรจีน (Rise with the Dragon) มุ่งเน้น 2D คือ Digitalization และ Diversification ดังนี้

 

  1. Digitalization เรียนรู้เทคโนโลยีจีนและร่วมเส้นทาง Digital Silk Road แผนการใหญ่ด้านการต่างประเทศของจีนในยุค สีจิ้นผิง ที่เน้นขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ไม่ได้มุ่งเพียงแค่การสร้างเส้นทางสายไหมยุคใหม่ในเชิงทางกายภาพ ด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางบก ทางรถไฟ หรือเส้นทางทะเลกับภูมิภาคต่างๆ เท่านั้น หากแต่จีนยังได้คิดการใหญ่มุ่งพัฒนาไปสู่การเชื่อมโลกด้วย ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road)’ เพื่อปูทางไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลกด้วยเทคโนโลยีของจีน

 

ยุทธศาสตร์ Digital Silk Road ในยุค สีจิ้นผิง จึงไม่ได้เน้นเพียงแค่การส่งออกสินค้า หรือส่งออกนักลงทุนจีน รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีน หากแต่ยังเน้นส่งออก ‘แพลตฟอร์มจีน’ ในรูปแบบต่างๆ ไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ Lazada ที่คนไทยนิยมใช้ช้อปปิ้งออนไลน์ก็มี Alibaba ของจีนเป็นเจ้าของอยู่เบื้องหลัง หรือแพลตฟอร์มวิดีโอด้านความบันเทิงยอดฮิตในหมู่คนไทยอย่าง TikTok ก็เป็นฝีมือของสตาร์ทอัพจีน

 

อีกตัวอย่างสำคัญคือ จีนประกาศทดลองใช้เงินสกุลดิจิทัลเป็นประเทศแรกในโลก เพื่อปูทางให้ ‘เงินหยวนดิจิทัล (Digital Yuan)’ ได้กลายเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักที่มีการใช้ทั่วของโลกต่อไป 

 

ที่สำคัญนอกจากการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของจีน ในขณะนี้จีนยังได้เริ่มส่งออกระบบนำทาง BDS (Bei Dou System) ผ่านเครือข่ายดาวเทียมที่ล้ำหน้าของจีนเพื่อให้บริการไปทั่วโลก ดังนั้น ระบบ BDS ของจีนจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของระบบ GPS และยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกองทัพสหรัฐฯ ด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการมุ่งสู่ทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้ยุทธศาสตร์ Digital Silk Road ของจีนนั่นเอง 

 

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีล้ำลึกทะลุทะลวงของจีน เช่น ระบบ 5G และระบบ BDS นอกจากจะทำให้สหรัฐฯ หวั่นไหวแล้ว หลายคนยังคงมีความกังวลในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) จึงยังคงมีหลายประเทศที่ไม่ไว้วางใจระบบเทคโนโลยีของจีน   

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากเราอ่านเกมจีนและตีโจทย์เหล่านี้ได้อย่างรู้เท่าทัน ก็จะเข้าใจภาพของบริบทโลกที่จะเปลี่ยนไปมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จึงสะท้อนทิศทางก้าวใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-จีนจากนี้ และควรแปลงจีนให้เป็นโอกาสในการหันมาเน้น Digitalization เพื่อจับมือมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกัน โดยเฉพาะการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของจีน

 

ในขณะนี้รัฐบาลไทยก็เริ่มปรับนำระบบเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาใช้มากขึ้น เช่น กระทรวงการคลังออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. โดยจำหน่ายผ่านวอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง (วอลเล็ต สบม.) ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง และธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มศึกษาการออกเงินสกุลดิจิทัล (Central Bank Digital Currency) ผ่านโครงการอินทนนท์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทิศทางมุ่งทำ Digitalization ที่สอดคล้องกันระหว่างไทย-จีน  

 

ในปีนี้ผู้นำจีนและอาเซียนยังได้ร่วมกันกำหนดให้ปี 2020 เป็น ‘ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียน’ จึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกันมากขึ้น

 

ดังนั้น ในการแปลงจีนให้เป็นโอกาส เราควรเน้นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับจีน ซึ่งตอนนี้มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนหลายแห่งที่มองเห็นศักยภาพของไทย เช่น บริษัทเทคคอมชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ Xiaomi ที่เข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ รวมไปถึง Tencent และ Alibaba ที่เข้ามาตั้งสำนักงานและขยายธุรกิจในประเทศไทยเช่นกัน 

 

ในด้านของการลงทุน บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตจากจีนก็ได้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่จะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย-จีน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี การมุ่งทำ Digitalization ร่วมกับจีนให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย และมีโจทย์ที่สำคัญคือ ความพร้อมในด้านบุคลากรของไทยที่ยังมีจุดอ่อนในด้านทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะการสื่อสารภาษาจีนกลาง ดังนั้น การสร้าง ‘คน’ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากทำได้สำเร็จ ไทยกับจีนน่าจะสามารถจับมือกันในยุคดิจิทัลไปได้อีกยาวไกล

 

 

 

  1. Diversification สร้างความหลากหลายและลดการผูกโยงเศรษฐกิจกับจีนที่มากเกินไป

ไทยจำเป็นต้องสร้างสมดุลกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ (Diversify) เพื่อการเติบโตไปพร้อมกับจีนอย่างมีสมดุล ไม่พึ่งพาจีนมากจนเกินไป และจำเป็นต้องเน้นปรับโครงสร้างการส่งออกไปจีน 

 

จากการวิเคราะห์โครงสร้างสินค้าส่งออกไทยไปจีนที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ และจีนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเหล่านี้เพื่อไปแปรรูป/สร้างมูลค่าเพิ่มแล้วส่งออกต่อ ทำให้การค้าขายระหว่างกันยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่มี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยหันมาเน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการอุปโภคบริโภค ป้อนสู่ตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่มีรายได้มากขึ้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม หรืออัญมณีเครื่องประดับ รวมทั้งปรับรูปแบบการส่งออกผ่านช่องทางการค้าออนไลน์เจาะตลาดอีคอมเมิร์ซเพื่อคนจีนยุคใหม่ให้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ทิศทางในยุคหลังโควิด-19 จีนจะหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและลดการพึ่งพาต่างประเทศ ในกรณีของสินค้าเกษตร นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ของจีน ได้ประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ในปี 2020 ว่าจะเน้นสร้าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)’ โดยเน้นขยายพื้นที่ทางเกษตรและสนับสนุนเกษตรกรจีนให้มีการผลิตในประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จีนจะผลิตอาหารได้เองเพื่อเลี้ยงคนจีนทั้งประเทศ 1.4 พันล้านคนได้อย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงเป็นนัยสำคัญต่อภาคเกษตรไทยที่จีนอาจจะนำเข้าจากไทยน้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มปรับตัว และเกษตรกรไทยต้องเริ่มแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง (Diversify) และลดการพึ่งพารายได้หลักจากจีน เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้บริบทโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยที่เคยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนหรือทำธุรกิจกับจีนในรูปแบบเดิมๆ อาจจะต้องเริ่มทำใจและเลิกคาดหวังว่า หลังจากนี้ทุกอย่างจะกลับมาดีในเชิงปริมาณเหมือนเดิม โดยเฉพาะในปีนี้  คงยากที่จะให้ตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนฟื้นกลับมาโดยเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบหนัก และทำให้คนจีนส่วนใหญ่รายได้ลดลง ส่งผลให้ความต้องการออกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มรายได้สูง และเป็นกลุ่มที่เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องกฎเกณฑ์ของทางการจีนที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนจีน เช่น จะต้องถูกกักตัว 14 วัน หลังเดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (รัฐบาลจีนไม่จ่ายให้)  

 

สำหรับนัยต่อไทยและทิศทางในอนาคต จำเป็นต้องเน้นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหันมาเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีรายได้สูงในระดับพรีเมียม เช่น เศรษฐีจีนที่ต้องการพาครอบครัวมาพักผ่อนแบบส่วนตัว หรือกลุ่มผู้สูงอายุจีนที่มีรายได้สูงที่ต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นต้น  

 

นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนในยุคดิจิทัล เช่น การปรับปรุงแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวยอดนิยมของไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะการนำคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวของไทยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น Wongnai เพื่อมาแปลเป็นภาษาจีน หรือปรับรูปแบบเพื่อดึงดูดคนจีนโดยเฉพาะ และควรมีทีมงานที่พร้อมจะสื่อสารโต้ตอบภาษาจีนได้ หากมีชาวเน็ตจีนสนใจสอบถามผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ามา ทั้งหมดนี้เพื่อใช้แพลตฟอร์มและสื่อโซเชียลสมัยใหม่ในการเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวจีนยุคใหม่ที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับดิจิทัล และเพื่อเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวของไทยสู่ยุคดิจิทัลด้วย 

 

โดยสรุป ทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีนในยุคหลังโควิด-19 จะไม่ง่ายดังเดิม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนัก แม้จะมองจีนให้เป็นโอกาส แต่อย่าโลกสวย เน้นเติบโตไปด้วยกันอย่างรู้เท่าทันด้วยนโยบาย Rise With The Dragon ที่เน้น 2D คือ Digitalization และ Diversification และควรมองจีนให้รอบด้าน แต่อย่าเคลิ้มตามไปทุกเรื่อง ต้องรู้เขารู้เราในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กันจีน โดยเน้นรักษาสมดุลความสัมพันธ์อย่างมีศักดิ์ศรี และยึดผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising