สื่อมวลชนกับผู้นำรัฐบาล เป็นอาชีพที่ทำหน้าที่คนละบทบาท แต่ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ เพราะหนึ่งคือคนทำงาน อีกหนึ่งคือคนเผยแพร่ผลงาน
แต่การเปลี่ยนแปลงของสถานที่ทำงานย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อการทำงานในสถานที่ราชการที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในทำเนียบรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี
หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าสำรวจพื้นที่ทั้งห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการ 1-2 ตึกสันติไมตรี และบริเวณรังนกกระจอก 1-2-3 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีดำริว่าอยากใช้ห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 หรือ รังนกกระจอก มาเป็นห้องทำงานและห้องประชุมกับบรรดารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ก่อนจะสยบข่าวลือด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเพียงการดูแลความเป็นอยู่ของสื่อมวลชน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องดีขึ้น แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่ารังนกกระจอกเป็นอย่างไร
วันนี้ THE STANDARD ขอพาไปรู้จักกับประวัติรังนกกระจอก สถานที่ทำงานของเหล่าสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล
รังนกกระจอกชื่อนี้มีที่มา
รังนกกระจอก 1 คือสถานที่ปฏิบัติงานแห่งแรกของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลที่ผ่านมามากกว่า 10 รัฐบาล นับเป็นสัญลักษณ์คู่กับทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่สมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 โดย พล.อ. พร ธนะภูมิ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สร้างให้ผู้สื่อข่าวเนื่องจากเห็นการทำงานที่ต้องไปนั่งอยู่บริเวณพื้น และบันไดอาคารต่างๆ ไม่มีสถานที่ทำงานที่เป็นกิจจะลักษณะ มีเพียงศาลาพักคอยเป็นสถานที่รอแหล่งข่าวเท่านั้น เนื่องจากในอดีตสื่อมวลชนยังมีจำนวนไม่มาก
และเมื่อมีการสร้างตึกบัญชาการใหม่ รังนกกระจอก หรือห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนจึงเกิดขึ้น เดิมบริเวณนี้เป็นอาคารประกอบตึกบัญชาการ ตั้งอยู่ระหว่างตึกไทยคู่ฟ้า สถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และตึกบัญชาการ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี นับเป็นทำเลที่ดีในการที่จะเห็นแหล่งข่าวเดินผ่านไปมาหรือเข้าออกอาคาร
รังนกกระจอก เป็นตึกทรงแปดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งเป็นสมัยนิยมในขณะนั้น ปัจจุบันมีอายุการใช้งานประมาณ 44 ปี (ก่อสร้าง พ.ศ. 2522)
จากนิสัยโดยธรรมชาติของสื่อ ที่คล้ายนกกระจอก ซึ่งมักจะมีเสียงพูดคุยจอแจตลอดเวลา จึงถูกเรียกว่า ‘กระจอกข่าว’ เมื่อสร้างห้องทำงาน จึงทำให้เหมือนรังนกกระจอก มีชั้นวางของเป็นช่องเล็กๆ ใส่เอกสารข่าวแจกของหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีการขนานนามห้องพักสื่อมวลชนว่า ‘รังนกกระจอก’
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย
ปัจจุบันรังนกกระจอกได้ขยับขยายออกไปถึง 3 ห้อง เนื่องจากจำนวนสื่อมวลชนที่เพิ่มขึ้นจากหลักสิบกลายเป็นหลักร้อย
ขณะเดียวกันห้องทำงานของสื่อมวลชนแห่งนี้ผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้ง ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ต่อเติมชายคาโดยรอบเพื่อกันแดดและฝน และต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของหลังคา พื้นทางเดินให้สะดวก และสวยงามขึ้น อีกทั้งยังสามารถให้เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม ได้มานั่งพักคอยได้
นอกจากนี้ เจ๊ยุ-ยุวดี ธัญญสิริ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล เคยให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการยุบรังนกกระจอกในสมัย พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อป้องกันข่าวรั่วไหล แม้สุดท้ายจะไม่มีแนวคิดในการรื้อถอน เพียงแต่เป็นการปรับปรุง
“ปัญหาบ้านเมืองมีจำนวนมากที่รอให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไข มามัวกังวลทำไมกับเรื่องทุบห้องนักข่าว เข้ามาบริหารประเทศก็ควรคิดเรื่องใหญ่ในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ทั้งเรื่องข้าว เรื่องยางพารา เรื่องค่าครองชีพ รวมถึงเรื่องการขายลอตเตอรี่เกินราคา ที่จะเห็นว่าจะแก้ไขแต่ก็ยังแก้ไม่ได้ ขอให้เอาเวลาไปคิดเรื่องทำงานมากกว่า” ยุวดีกล่าว
อ้างอิง: