วันนี้ (12 กรกฎาคม) หน่วยงานท้องถิ่นมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน เผยการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์มากกว่า 4,300 รอย บนพื้นที่กว่า 9,000 ตารางเมตร ในเขตเซวียนฮว่า เมืองจางเจียโข่วของเหอเป่ย โดยชั้นหินที่ตั้งของฟอสซิลนั้นมีอายุราว 150 ล้านปี
ซุนเซียว หัวหน้าวิศวกรประจำสถาบันสำรวจทางภูมิศาสตร์ของเหอเป่ย กล่าวว่า ค้นพบซากดึกดำบรรพ์กลุ่มนี้ในเดือนเมษายน 2020 บนเนินเขาท้องถิ่น ซึ่งมีหินแข็งปกคลุมด้วยรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยบางส่วนมีรูปร่างทรงกลม ขณะบางส่วนมีรูปร่างราวกับกรงเล็บสัตว์ รอยเท้าเหล่านี้เป็นของไดโนเสาร์ 4 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้มีหนึ่งสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบใหม่
สิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวว่า ชั้นหินข้างต้นมีความเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคจูราสสิกสู่ยุคครีเทเชียส ขณะการสันนิษฐานเบื้องต้นระบุว่า รอยเท้าดังกล่าวบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชอาจมีลำตัวยาวกว่า 15 เมตร ส่วนไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้ออาจมีลำตัวยาว 4-5 เมตร
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว