เปิดโผ 41 หุ้นใหญ่ใน SET 100 กำไรสะสมสูงเกินหมื่นล้านบาท พบเกินครึ่งเป็นหุ้นใน SETHD กูรูชี้ เป็นอีกทางเลือกลงทุนช่วงเศรษฐกิจขาลง อุ่นใจเรื่องจ่ายเงินปันผล หลังมองปีนี้กำไร บจ. ทรุดหนัก หลายบริษัทอาจพลิกขาดทุน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยสำรวจงบการเงิน บจ. ประจำปี 2562 พบว่า ปัจจุบันมี 41 บริษัท ที่มีกำไรสะสมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่
จากตารางทั้งหมดเป็นหุ้นใน SET 100 โดยมี 8 บริษัท ที่มีกำไรสะสมมากกว่า 1 แสนล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสะสมสูงสุดถึง 5.4 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสะสม 3.3 แสนล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสะสมเกือบ 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรของงบการเงินเฉพาะกิจการของแต่ละบริษัท ซึ่งสามารถนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลได้
21 บจ. เป็นหุ้นในดัชนี SETHD
ขณะที่ 21 จาก 41 บจ. ข้างต้น เป็นหุ้นในดัชนี SETHD (SET High Dividend) หรือหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดกลุ่ม 30 บริษัท ที่มีอัตราจ่ายผลปันผลย้อนหลัง 3 ปี อยู่ในเกณฑ์ดีและสม่ำเสมอ ประกอบด้วย
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจข้อมูลจาก IAA Consensus ณ วันที่ 16 เมษายน 2563 พบว่า มีถึง 15 บริษัทในกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยประจำปี 2563 มากกว่า 4% โดยธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ถูกคาดการณ์ Dividend Yield เฉลี่ยถึง 10.6% สูงสุด 14.3% ต่ำสุด 7.4%
SPRC-THCOM-IRPC โชว์จ่ายปันผลจากกำไรสะสม
นอกจากนี้พบว่า งวดงบการเงินปี 2562 มี 3 บริษัท ที่ผลประกอบการขาดทุน แต่ใช้นโยบายนำกำไรสะสมมาจ่ายเป็นเงินปันผล ได้แก่ 1. บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ซึ่งขาดทุน 2,809 ล้านบาท แต่ประกาศจ่ายปันผลจากกำไรสะสม 0.1827 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงิน 792 ล้านบาท 2. บมจ. ไทยคม (THCOM) ขาดทุน 2,250 ล้านบาท แต่ใช้กำไรสะสม 219 ล้านบาท จ่ายเงินปันผล 0.20 บาทต่อหุ้น และ 3. บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) ขาดทุน 1,174 ล้านบาท แต่ใช้กำไรสะสม 2,043 ล้านบาท จ่ายปันผล 0.10 บาทต่อหุ้น โดยทั้ง 3 บริษัท มีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 6,167 ล้านบาท, 873.56 ล้านบาท และ 30,970 ล้านบาท
วงการคาด หลาย บจ. อาจพลิกขาดทุน
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า นักวิเคราะห์ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2563 ลงต่อเนื่อง จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น ภัยแล้ง และราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำไร บจ. อย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดทุนได้
ทั้งนี้ บล. เอเซีย พลัส ได้ปรับลดกำไร บจ. รวมปีนี้เหลือ 7.8 แสนล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ 8.97 แสนล้านบาท และจากช่วงปลายปี 2562 ที่ประเมินไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำไร บจ. ลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
ด้าน มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล. เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ปรับลดกำไร บจ. ปีนี้เหลือ 7.81 ล้านบาท จากเดิม 9.8 แสนล้านบาท เพราะธุรกิจหลายกลุ่มหยุดชะงักจากโควิด-19 ซึ่งมีโอกาสเห็น บจ. บางแห่งพลิกขาดทุนได้ในปีนี้ สะท้อนจากงบไตรมาส 1/63 ที่ทยอยออกมา พบว่า หุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มเห็นบางบริษัทพลิกขาดทุนแล้ว
หุ้นกำไรสะสมสูง อุ่นใจปันผล
นักวิเคราะห์กล่าวต่อไปว่า การลงทุนระยะยาวในหุ้นปันผลยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับลงทุนในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยมีความผันผวนสูง ซึ่งราคาที่ปรับตัวลดลงจะทำให้อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยในภาวะแบบนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาเป็นปัจจัยในการเลือกหุ้นปันผลคือ กำไรสะสม ซึ่ง บจ. ที่มีกำไรสะสมสูงจะมีความเสี่ยงการงดจ่ายเงินปันผลต่ำ เพราะแม้ธุรกิจจะพลิกขาดทุน ก็ยังสามารถจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมเป็นครั้งคราว
เช่นเดียวกับ คณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล. โนมูระ พัฒนสิน เผยว่า การประกาศงบการเงินปี 2562 ที่ผ่านมา มีหลาย บจ. ที่ใช้วิธีการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสม เพราะกำไรสุทธิประจำงวดมีผลขาดทุน โดยบริษัทที่มีกำไรสะสมสูงจะมีความได้เปรียบในประเด็นนี้ ซึ่งการที่ใช้นโยบายดังกล่าวถือเป็นการปลอบขวัญและกำลังใจให้ผู้ถือหุ้น ชดเชยกับราคาหุ้นถือครองที่ถดถอยลงจากการขาดทุน
ขณะที่ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เสริมว่า หุ้นที่มีกำไรสะสมต่ำ อาจจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ หากผลประกอบการปีนี้เกิดพลิกขาดทุน เพราะจะส่งผลไปหากำไรสะสม ซึ่งหากติดลบ ตามกฎหมายไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ www.efinancethai.com