×

สหัสวัตยินดี รัฐบาลเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่ฝากคุมภาคธุรกิจไม่ให้ขึ้นค่าครองชีพด้วย

โดย THE STANDARD TEAM
22.04.2024
  • LOADING...
สหัสวัต ยินดี ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่...

วันนี้ (22 เมษายน) สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการไตรภาคีเตรียมอนุมัติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รวมถึงจะมีการลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ. 1949 และอีกประเด็นคือการขยายเวลากู้เงินสำหรับแรงงานอิสระที่ทำงานจากที่บ้าน

 

สหัสวัตกล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและประกาศที่จะปรับขึ้น แต่มีข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้เป็นผลมาจากคณะกรรมการไตรภาคี หรือเป็นผลงานของรัฐบาลกันแน่ 

 

“ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ค่าแรงยังไม่ขึ้น รัฐบาลมักบอกว่าเป็นเพราะสูตรคำนวณและคณะกรรมการไตรภาคีที่ถ่วงไว้ รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่เมื่อขึ้นได้กลับจะเคลมผลงานเป็นของรัฐบาล สรุปแล้วแทรกแซงได้หรือไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไรหากท้ายที่สุดแล้วประชาชนได้ประโยชน์”

 

สหัสวัตกล่าวว่า ที่สำคัญกว่านั้น หลังจากขึ้นค่าแรง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อคือการพูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อควบคุมราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการขึ้นค่าแรงจะมีนายทุนจำนวนหนึ่งอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้นและฉวยโอกาสในการขึ้นราคาสินค้าเสมอ ส่งผลให้ท้ายที่สุดค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานก็จะยังสูงขึ้นอยู่ดี เพื่อให้ครอบคลุมจึงจำเป็นที่จะต้องมีทั้งการขึ้นค่าแรงและดูแลเรื่องค่าครองชีพไปพร้อมกัน 

 

สหัสวัตกล่าวต่อไปว่า ในประเด็นเรื่องการขยายเวลากู้เงินสำหรับแรงงานรับงานไปทำที่บ้านนั้น เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดี สมควรทำ แต่นอกจากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากของผู้ใช้แรงงานรับงานไปทำที่บ้านคือเรื่องความมั่นคงและสวัสดิการต่างๆ สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเงินกู้ แต่ต้องพยายามทำให้แรงงานเหล่านี้มีสวัสดิการที่ดี และได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ ไม่น้อยกว่าแรงงานในระบบ การทำงานใดๆ ต้องได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการเพื่อให้มีความมั่นคงมากขึ้น เพราะปัญหาของคนเหล่านี้คือเมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน สามารถถูกเลิกจ้างได้ง่าย ดังนั้น โจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้มีความมั่นคงในระยะยาวให้ได้

 

ประเด็นสุดท้าย เรื่องอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ. 1949 สหัสวัตกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเห็นด้วยและขอบคุณรัฐมนตรีที่นำข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานที่เรียกร้องกันมาเป็นสิบๆ ปีเข้าสู่การพิจารณาและจะรับรอง อย่างไรก็ดี อนุสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญลักษณ์ หากจะทำให้มีผลบังคับใช้จริงต้องมีกฎหมายของประเทศต้นทางที่รองรับอนุสัญญาดังกล่าวด้วย 

 

“ดังนั้น เพื่อจะให้อนุสัญญาดังกล่าวเป็นผลและทำให้พี่น้องแรงงานได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวจริงๆ ก็ต้องมีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใหม่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการรวมกลุ่มใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ยังมีจุดอ่อนอยู่มาก จึงต้องแก้ไขเพื่อให้ทันยุคทันสมัย สอดรับกับการลงนามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และสามารถบังคับใช้และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานจริง ไม่เป็นเพียงแค่การลงนามแต่บังคับใช้ไม่ได้” สหัสวัตกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X