วันนี้ (2 พฤษภาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการกำหนดแนวทางจนเกิดเป็นผลความสำเร็จ โดยได้ประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้น เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567
ชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานจะนำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศนั้น กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อมต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือนในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการประเภท SMEs ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด
ขณะที่การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีผลบังคับใช้แล้วเป็นปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยรัฐบาลจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ ได้แก่
– ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท
– ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาทภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งทุกคนควรมีเงินเดือนและค่าแรงที่เป็นธรรม ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจดี รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอดคือ ความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงระบบสวัสดิการ การคุ้มครอง และหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม” ชัยกล่าว