×

จับประเด็นคำร้อง 40 สว. ถอดถอนนายกฯ หวังสร้างบรรทัดฐานให้ประเทศ

13.08.2024
  • LOADING...
ถอดถอนนายก

นับถอยหลังสู่วันชี้ชะตา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ในวันพรุ่งนี้ (14 สิงหาคม) ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมาลุ้นว่าเศรษฐาจะได้ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

หากยังจำกันได้ ชนวนเหตุของคดีนี้มาจากกลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมกันเข้าชื่อถึง 40 คน เพื่อส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญทิ้งท้ายก่อนหมดวาระ

 

THE STANDARD ชวนย้อนดูสาระสำคัญของคำร้องที่ 40 สว. ยื่นต่อศาล ว่ามีประเด็นใดบ้างที่เป็นหลักฐานมัดตัวนายกรัฐมนตรีในคดีนี้ พร้อมคุยกับ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม หนึ่งในแกนนำ 40 สว. ถึงความคาดหวังสุดท้ายก่อนคดีจะถึงจุดจบ

 

เปิดคำร้อง 40 สว. ประเด็นใดคือ ‘เงื่อนผูกตาย’?

 

หลังจากสาระสำคัญของคำร้องที่กลุ่ม 40 สว. ยื่นต่อศาลถูกเปิดเผยออกมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างแสดงความเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นคำร้องที่ ‘แข็งแรง’ จนแทบจะไม่มีทางหลุดจากข้อกล่าวหาได้โดยง่าย

 

ประเด็นหลักของคำร้องคือ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) (5) หรือไม่

 

ด้วยปรากฏว่า เศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า 

 

(4) รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

 

พิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คำร้องบรรยายต่อไปว่า นายกรัฐมนตรี ‘เลี่ยงและบิดเบือน’ ข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน ทำให้เข้าใจผิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 (4) และ (5) ด้วยตามความจริงแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2566 ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของพิชิต

 

ประกอบกับเศรษฐายังได้เข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพิชิตเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี จึงเชื่อได้ว่าเศรษฐาอาจมีเจตนาไม่สุจริตและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน

 

ทั้งนี้ เศรษฐารู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าพิชิตได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อพิชิตออกจากทะเบียนทนายความ แสดงว่าพิชิตเป็นบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

“การกระทำดังกล่าวของเศรษฐาจึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคบค้าสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่”

 

คำร้องดังกล่าวสรุปว่า ด้วยเหตุนี้เศรษฐาจึงขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

สว. พร้อม ‘จับมือยินดี’ หากนายกฯ บริสุทธิ์ พ้นมลทิน

 

THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีต สว. ในฐานะที่เป็นคนแรกที่เปิดเผยว่าได้ยื่นคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมสอบถามถึงความคาดหวังก่อนวันวินิจฉัย

 

เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้แล้ว” ดิเรกฤทธิ์กล่าว

 

อดีต สว. เผยว่า มีความมั่นใจว่าเศรษฐาสุ่มเสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง พร้อมยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา และเห็นว่าเรื่องนี้ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและให้ความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรีด้วย

 

“ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะหรือแพ้อย่างไร แต่สิ่งที่เราคิดว่าจะได้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยพรุ่งนี้คือ ประเทศไทยของเราก็จะได้บรรทัดฐานที่ดี”

 

ดิเรกฤทธิ์ขยายความว่า จะเป็นบรรทัดฐานทั้งสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ซึ่งต้องตรวจสอบ ขณะที่ฝ่ายบริหารเองไม่ใช่เพียงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่ต้องคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ด้วย

 

“สิ่งที่เราเน้นก็คือ เห็นความไม่สุจริตอยู่แล้ว เห็นคนไม่ดีแล้วไปตั้งคนไม่ดี ท่านมีความซื่อสัตย์อย่างไร ท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างไรจึงได้ตั้งคนนี้มาเป็นรัฐมนตรี”

 

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีต สว. 

หนึ่งในแกนนำกลุ่ม 40 สว. ยื่นคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรี

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

THE STANDARD สอบถามว่า หากในวันพรุ่งนี้ผลออกมาเป็นบวกกับเศรษฐา ทำให้หลุดพ้นจากบ่วงคดี กลุ่ม 40 (อดีต) สว. จะเคลื่อนไหวอะไรต่อหรือไม่

 

“ไม่ครับ เราไม่ได้มีอคติหรือเจตนาร้ายกับนายกรัฐมนตรี ผมชมท่านตลอด” ดิเรกฤทธิ์ปฏิเสธทันที  

 

“และถ้าพรุ่งนี้ผลออกมาว่านายกรัฐมนตรีบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหา ท่านมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ในการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ผมก็จะจับมือยินดีกับท่านเลย ท่านก็จะเป็นที่เคารพศรัทธา เป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนเราทั้งประเทศได้”

 

ดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าท่านถูกศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดและต้องพ้นจากตำแหน่ง “ท่านก็ต้องไม่โกรธพวกผม เราต่างคนต่างทำหน้าที่กัน”

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising