“ก็ได้ไปหมดแล้วยังจะมาทำเป็นเหวี่ยงทำเป็นเรื่องยาก
..ถ้าบอกว่าเธอไม่เอาแต่ใจคงจะเชื่อมาก
สัญญาเอาไว้อะ เธอก็ยังเลื่อนนัด
อายุ 18 ปีมานานแล้วตอนไหนจะได้เลือกมั่ง..”
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากท่อนแรปของ NIL LHOHITZ แรปเปอร์หนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านรายการ Show Me The Money Thailand อาจหมายถึงภาพสะท้อนของคนรุ่นใหม่กับบทบาท และความอึดอัดของพวกเขา ที่ต้องโตมาในห้วงทศวรรษหนึ่งที่สถานการณ์การเมืองไม่ปกติ ซ้ำยังเป็นกลุ่มคนที่หลายครั้งถูกสบประมาทว่าอยู่ในวัยที่สนใจแต่ตัวเองไม่สนใจบ้านเมือง แต่ความจริงแล้วจะเป็นแบบนั้นหรือไม่
จริงอยู่ที่เวลานี้เรายังพอจะมองเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองบ้าง เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มีจ่านิว และรังสิมันต์ โรม เป็นแกนนำ กลุ่มของเนติวิทย์ซึ่งทำกิจกรรมการเมืองโดยอิสระ อย่างการเผยแพร่หนังสือหรือขายเสื้อเชิงสัญลักษณ์ ไปจนถึงแรปเปอร์หนุ่มขบถอย่าง Liberate P ที่ยังมีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจถึงความไม่ถูกต้องที่สังคมเป็นอยู่ และพยายามเป็นสื่อกลางสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก
เฉกเช่นเดียวกับโลกโซเชียลมีเดีย และศิลปินรุ่นใหม่อีกมากที่แสดงออกถึง Political Movement ทั้งทางตรงและเชิงสัญลักษณ์ มิใช่ด้วยความรุนแรง แต่เป็นการแสดงออกผ่านวัฒนธรรมต่างๆ
ถึงกระนั้นเสียงของพวกเขาก็อาจจะยังเบาบาง และแน่นอนว่าเสียงนั้นไม่ใช่เสียงทั้งหมดที่คนเจเนอเรชันใหม่ต้องการบอก แต่ที่เราพอบอกได้คือ มันเป็นเสียงหนึ่งที่เหมือนกับประชาชนทั่วไป เพราะคนรุ่นใหม่เองก็มีสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร และสังคมก็ควรมีโอกาสได้รับฟังด้วย
ความสำคัญของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง
จะบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองคงไม่ได้ เพราะการเติบโตมาในยุคที่ข่าวสารไหลบ่า มีโซเชียลมีเดียเชื่อมโยงความคิดของคนในวัยเดียวกัน ได้แชร์ ถกเถียง แบ่งปันความสนใจที่มีร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ การมีม็อบหลากสี ม็อบนกหวีด การเข้ายึดอำนาจ และแน่นอนการถูกจำกัดสิทธิในการเลือกตั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่กับการเมืองแยกกันไม่ขาด ผลลัพธ์คือบางคนอาจเพิ่มความสนใจในเรื่องการเมือง ขณะที่บางคนพยายามตีตัวออกห่าง
จากผลการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองจากนักศึกษามหาวิทยาลัย ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2,715 คน 19 มหาวิทยาลัย โดยตั้งคำถามว่าอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร ส่วนอีกร้อยละ 35 ระบุว่าเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พลเอก ประยุทธ์
ขณะที่นักศึกษาร้อยละ 72.6 คิดว่ารัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ และกว่าร้อยละ 75.4 ชี้ว่าหมดหวังกับอนาคตประชาธิปไตย ส่วนในอนาคตหากมีการเลือกตั้ง ร้อยละ 72.9 บอกว่าจะไป ร้อยละ 21.6 บอกว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 4.2 บอกว่าไม่ไป
ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะเมื่อนับเวลาจากการรัฐประหาร 4 ปีของ คสช. มีการประเมินกันว่าหากเกิดการเลือกตั้งขึ้นจริงในปี 2562 จะมีกลุ่ม New Voter หรือกลุ่มที่มีอายุครบ 18 ปีแต่ยังไม่เคยเลือกตั้งสูงถึง 7 ล้านคน
ซึ่งหลายพรรคการเมืองให้ความสนใจเหล่า New Voter เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญต่อผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน คล้ายกับการเลือกตั้งมาเลเซียที่หลายฝ่ายบอกว่าการโหวตของคนรุ่นใหม่คือส่วนสำคัญที่ทำให้มหาเธร์ได้รับชัยชนะ
หลายพรรคทั้งเก่าใหม่ที่มีโอกาสเข้าร่วมการบรรยายหรืออภิปรายที่จัดขึ้นต่างก็ส่งนักการเมืองรุ่นใหม่ออกมาเป็นหน้าตาหรือเป็น ‘ตัวเชื่อม’ ที่จะสื่อสารกับเหล่า New Voter ทั้งหลาย โดยผลลัพธ์คือ ‘ตัวแทน’ ของหลายพรรคก็ได้รับความนิยมไม่น้อย
หรือแม้แต่ทางฝ่ายรัฐบาลเองที่มีการทำประชานิยมต่อฝั่งคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน เช่นการจัดทำรายการ เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน หรือการเชิญสมาชิกศิลปินกลุ่มยอดนิยมอย่าง BNK48 เข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรต่อคนรุ่น New Voter เช่นกัน
เสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้ง
เพราะต้องการรับรู้ถึงความสนใจทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ THE STANDARD จึงลงพื้นที่ไปสำรวจทัศนคติทางการเมืองของคนหนุ่มสาว 5 คน เพื่อรับรู้ถึงแง่มุมตะกอนความคิดต่างๆ ที่เราอาจเคยได้ยิน ไม่เคยได้ยิน หรือบางเรื่องก็เผลอพยักหน้าตามไปโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว โดยคำถามที่เราถามได้แก่ คิดอย่างไรกับการเมือง คิดอย่างไรกับ 4 ปีที่ผ่านมา และคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งที่อาจจะมาถึง
เราอินกับการมีส่วนร่วม คืออย่ารังเกียจความคิดเห็นของเราเลย เราแค่พยายามจะเรียนรู้พยายามจะช่วยแก้ปัญหาเท่านั้นเอง แต่เราขออยู่ในจุดที่เราแพ้ดีกว่าต้องโดนบังคับ
เอ้ อายุ 23 ปี: สถาปนิก ยังไม่เคยเลือกตั้ง
คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมาตลอด เพิ่งมาสนใจตอนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะสังคมในมหาวิทยาลัยมีการพูดถึงการเมืองมากขึ้น พูดแบบนี้ ในแง่หนึ่งเรารู้สึกว่าถ้าเราเลือกตั้งตั้งแต่อายุ 18 เราอาจจะไม่พร้อมนะเพราะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย
คิดว่ารัฐบาลในปัจจุบันนั้นไม่ใช่นักบริหาร เราคิดว่านักการเมืองกับการทหารเป็นคนละศาสตร์กัน เราไม่มั่นใจในรัฐบาลว่าจะสามารถบริหารได้ไหม เรารู้สึกว่ายิ่งอยู่ไปนานๆ เขายิ่งไม่ค่อยรู้ศาสตร์พวกนี้เลย
คิดว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในทันที แต่เราก็รู้สึกยอมรับได้ถ้าแพ้ คือเรามีส่วนร่วมกับการบริหารไง เรารู้สึกว่าเจเนอเรชันเราอินกับการมีส่วนร่วม คืออย่ารังเกียจความคิดเห็นของเราเลย เราแค่พยายามจะเรียนรู้พยายามจะช่วยแก้ปัญหาเท่านั้นเอง แต่เราขออยู่ในจุดที่เราแพ้ดีกว่าต้องโดนบังคับ
คราวนี้เรารู้สึกเหมือนโดนตัดแขนตัดขาในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน พอเป็นแบบนี้เรายิ่งห่างจากการติดตามการเมืองเลย จริงๆ เราเพิ่งรู้ว่าจะครบสี่ปีแล้วตอนที่มีอีเวนต์คอนเสิร์ตจะ 4 ปีแล้วนะ…
บูม-ดลยกฤติ วงศ์ก้อม อายุ 23 ปี: นักศึกษาปริญญาโท ยังไม่เคยเลือกตั้ง
มองการเมืองเป็นบริบทของสังคมที่ส่งผลถึงสังคมนั้นๆ ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหนังสือ จนได้เจอคอนเทนต์การเมืองเช่นหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ เรารับรู้ถึงอุดมการณ์ต่างๆ แต่เราก็ไม่ได้สนใจมากนัก เราเคยพยายามทำความเข้าใจมันตอน 17-18 แล้ว
คราวนี้พอมาถึงวัยที่ต้องเลือก เรารู้สึกว่ามันเป็นเช็กพอยต์หนึ่งในการเป็นผู้ใหญ่นะ แต่เราโดนเทไง คราวนี้เรารู้สึกเหมือนโดนตัดแขนตัดขาในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน พอเป็นแบบนี้เรายิ่งห่างจากการติดตามการเมืองเลย จริงๆ เราเพิ่งรู้ว่าจะครบสี่ปีแล้วตอนที่มีอีเวนต์คอนเสิร์ตจะ 4 ปีแล้วนะ…
เราแทบไม่ได้สนใจในรัฐบาลชุดนี้เลย เพราะเราพอนึกภาพออกตั้งแต่วันนั้นแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราก็เป็นห่วงนะ ประเทศเรากำลังจะเข้า AEC เราอยู่ในยุคที่ต้องมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือปานกลางก็เถอะ เราไม่ได้บอกว่าในโลกนี้ไม่เคยมีพรรคการเมืองจากทหารที่ทำงานได้ดี แต่สำหรับเรารัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขนาดเราว่าเราพอเข้าใจถึงเหตุผลในการซื้อเรือดำน้ำ เข้าใจนโยบายต่างประเทศที่เขาทำ แต่ก็คิดว่าเขาแก้ปัญหาไม่ตรงจุดอยู่ดี
แน่นอนว่าเราอยากเลือกตั้ง เราโตขึ้นก็มีวุฒิภาวะมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นก้าวของความเป็นผู้ใหญ่ รู้สึกว่าคนรุ่นเรามีความรู้สึกร่วมกันเรื่องความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เราก็เลยอยากได้แขนขาเราคืนมาบ้าง พูดตรงๆ ส่วนตัวผมเองอ่านมามากอยู่ พอเข้าใจและไม่ได้ต้องการเสรีภาพ 100% หรอกครับ เราแค่อยากมีส่วนในการหาตรงกลางเท่านั้นเอง
เราหมดความสนใจในการเมือง เพราะช่วงหนึ่งสังคมเหมือนบังคับให้เราต้องเลือกข้าง แล้วพอมีการเลือกมันก็กลับไปเป็นสถานการณ์เดิมๆ อีก เราก็เลยรู้สึกหมดหวัง หลายๆ คนน่าจะเป็นแบบเราคือรู้สึกว่าเรียกร้องไปก็เท่านั้น เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า
น้ำฝน อายุ 24 ปี: ทนายความ เคยเลือกตั้งหนึ่งครั้งแต่เป็นโมฆะ
เห็นว่าการเมืองเป็นสิ่งควรมีนั่นแหละ ไม่อย่างนั้นใครจะบริหารประเทศล่ะ เมื่อก่อนไม่รู้สึกว่าไกลตัวเท่าตอนนี้ เพราะเราเลือกจะถอยไปเอง เรารู้สึกว่ารับรู้มากๆ แล้วมันเหนื่อย มันไม่เป็นตามทฤษฎีที่ควรจะเป็น บางทีเราก็อยากให้เขาบอกไปเลยว่าจะนิยามการปกครองของเราเป็นระบอบไหน เราจะโอเคถ้าเขาพูดตรงๆ
เรารู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีศักยภาพมากพอ อันนี้เราพูดแบบคนที่เกือบไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจะขึ้นมาได้ยังไง แต่เรารู้แค่ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐในตอนนี้ รู้สึกว่าเขาเห็นว่าประชาชนไม่รู้เรื่องมากเกินไป ซึ่งเราไม่ชอบ
เราย้ำอีกทีว่าเราเป็นคนที่ไม่สนใจ แต่เราเชื่อในการเลือกตั้ง เหมือนเป็นการเริ่มต้นในสิ่งที่ถูกต้อง เราเชื่อในระบบใครจะเข้ามาคุณก็ทำให้มันถูกต้อง ให้ระบบของมันทำงานของมันไป เราหมดความสนใจในการเมือง เพราะช่วงหนึ่งสังคมเหมือนบังคับให้เราต้องเลือกข้าง แล้วพอมีการเลือกมันก็กลับไปเป็นสถานการณ์เดิมๆ อีก เราก็เลยรู้สึกหมดหวัง หลายๆ คนน่าจะเป็นแบบเราคือรู้สึกว่าเรียกร้องไปก็เท่านั้น เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า
เอาเข้าจริงๆ มันเป็นการวางแผนที่นานมากนะครับ ถ้าคุณคิดจะทำจริงๆ คุณก็ควรจะดึงคนที่เขาต้องมีส่วนร่วม และต้องใช้แผนนี้จริงๆ มีโอกาสได้กำหนดอนาคตตัวเองบ้าง วันนี้เขาอายุ 20 อีก 20 ปีเขาอายุ 40 เป็นวัยกลางคนเขาก็ควรจะได้กำหนดว่าเขาอยากได้อะไร
ณัฐ-ณัฐภัทร เนียวกุล อายุ 25 ปี: นักวิเคราะห์นโยบาย เคยเลือกตั้งหนึ่งครั้ง
ส่วนตัวผมคิดว่าเอาจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมค่อนข้างน้อยนะครับ ทั้งเรื่องแสดงความคิดเห็น และยิ่งทำกิจกรรมยิ่งทำไม่ได้เลยด้วยนโยบายของ คสช. แต่ว่าเรามีความกระตือรือร้นมากขึ้นแน่นอน ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 54 เพราะโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กทำให้เรามีอิสระในการแสดงความเห็นมากขึ้นมาทดแทน ถึงแม้จะออกมาไม่ได้แต่ก็ยังมีทิศทางที่ดีมากขึ้น
ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสทำงานกับคนรุ่นใหม่ด้วยกัน หลายๆ ครั้งเวลาที่ถามหรือพูดคุยด้วย ผมว่าการที่เขาจะกลับมาสนใจ เราต้องมีพื้นที่ให้เขาแสดงออก หรือง่ายๆ คือทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดไปมีคนรับฟังเท่านั้นเองครับ คือถ้าพูดไปแล้วไม่มีใครฟัง เขาก็เลือกไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อเขามากกว่าครับ
ผมรู้สึกว่าการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นบางอย่างครับ คือเราไม่สามารถบอกได้หรอกว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาทุกอย่างของประเทศ มันไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นบางอย่างให้กับสังคม อย่างน้อยก็ให้เราสามารถกำหนดอนาคตบางอย่างเองได้ เป็นการแสดงออกช่องทางหนึ่งที่เราทำได้ เป็นการทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นด้วย ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐบาลในตอนนี้สร้างความเชื่อมั่นด้วยการกำหนดทิศทางหรือระบุให้ชัดเจนว่าประเทศจะเข้าสู่การเลือกตั้งเมื่อไร จากนั้นเราก็เข้ามาดูกันว่าเราได้รัฐบาลที่ออกมาหน้าตาเป็นยังไง มีช่องทางที่ให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นมากแค่ไหน เพราะที่สุดแล้วการเลือกตั้งที่ไม่อยู่ในสภาวะปกติมีสิทธิ์ที่จะทำให้เราได้รัฐบาลที่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าที่ควรครับ
สำหรับ 4 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารหรอก แต่ในเมื่อเกิดไปแล้วโดยรัฐอ้างถึงการปฏิรูป สิ่งที่เห็นในปัจจุบันเราก็ได้กระดาษที่เป็นแผนมาหลายฉบับ แต่เราก็ยังไม่เห็นในแง่การกระทำที่มีทิศทางชัดเจนนะครับ อย่างเรื่องคอร์รัปชันก็ยังมีให้เห็นอยู่ เราไม่ได้บอกว่ามันจะแก้ได้ภายในรัฐบาลเดียวหรอก แต่ก็เห็นว่ามันไม่ได้เกิดจากที่คนบอกว่าเป็นเพราะการเมืองในอดีตอย่างเดียว ภายใต้ข้าราชการของรัฐบาลชุดนี้มันก็ยังมีการทุจริตไงครับ ความหวังในการปฏิรูปที่คนคาดหวังหลายๆ เรื่องที่ท่านอยู่ในบริบทที่จะเข้าใจและแก้ได้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
ขณะเดียวกันเมื่อมองถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราควรจะให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการออกแบบหรือวางแผนมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ มันเป็นการวางแผนที่นานมากนะครับ ถ้าคุณคิดจะทำจริงๆ คุณก็ควรจะดึงคนที่เขาต้องมีส่วนร่วม และต้องใช้แผนนี้จริงๆ มีโอกาสได้กำหนดอนาคตตัวเองบ้าง วันนี้เขาอายุ 20 อีก 20 ปีเขาอายุ 40 เป็นวัยกลางคนเขาก็ควรจะได้กำหนดว่าเขาอยากได้อะไร เขาต้องการความมั่นคงในเรื่องใดบ้างครับ
คนรุ่นใหม่กำลังจะกลายเป็นคนรุ่นเก่าในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะมีคนที่ใหม่กว่าคุณโตขึ้นมา แล้วเขาอาจจะด่าคุณก็ได้ว่าคุณไม่เห็นสนใจประเทศเลย หรือคุณนี่หัวโบราณมากๆ เราเองก็ต้องตัดสินใจกันเองว่าอยากให้เขาด่าเราแบบนั้นหรือเปล่า
แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อายุ 21 ปี: นักศึกษา ยังไม่เคยเลือกตั้ง
ผมมองการเมืองไทยเป็นเรื่องน้ำเน่าอย่างหนึ่ง อย่างที่หลายคนคงเชื่อแบบนั้น และเป็นจริงๆ ด้วย คือเราสามารถมองย้อนกันไปตั้งแต่ปี 49 ถึง 57 บทก็คือมีความขัดแย้ง แล้วก็จบด้วยการรัฐประหาร ก่อนหน้านี้เราอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมายาวนานพอๆ กับรัฐบาลประชาธิปไตยหรือมากกว่า สิ่งที่น่าเสียดายคือ ตอนนี้เราอาจจะมีโซเชียลมีเดีย มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มีความตื่นตัวกันมากขึ้น แต่พอมีการรัฐประหาร มีการควบคุมจากรัฐ เราก็ไม่ได้เห็นการรวมกลุ่มหรือแสดงความเห็นทางการเมืองมากนัก เราก็ไม่เห็นการเมืองใหม่สักที เหมือนเราพายเรือวนในอ่างในวังวนเดิมๆ
ผมว่า 4 ปีที่ผ่านมาเราเห็นกันแต่ความฉลาดของรัฐบาลนะครับ คือท่านนายกสามารถให้คีย์เวิร์ดใหม่ๆ กับเราตลอด แล้วเราก็ต้องวิ่งไปตีความกันว่ามันคืออะไรเช่นคำว่า คืนความสุข ไทยนิยม 4.0 พลังดูด เราก็ต้องมาแสดงความคิดเห็นมาเถียงกันถึงเวิร์ดดิ้งของท่านว่ามันผิดนะ เถียงกันว่ามันล้มเหลวหรือได้ผลต่างๆ นานา โดยที่เราอาจจะลืมไปว่าตามหลักการจริงๆ แล้วหัวข้อที่เราต้องคุยกันจริงๆ คือที่ท่านเข้ามามันผิดจากระบบปกติไปแล้ว เราควรโฟกัสตรงนั้นแต่เราก็ไปมองกันผิดจุดซะส่วนมาก ท่านก็ยิ่งรักษาตำแหน่งสบายๆ ใครที่บอกว่าท่านไม่รู้ผมว่าท่านรู้ว่าท่านกำลังทำอะไร ผมก็เลยบอกว่า 4 ปีที่ผ่านมาผมเห็นแต่ความฉลาดของพลเอก ประยุทธ์ ครับ
ผมคิดว่าการเลือกตั้งก็แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เราจะได้เห็นตัวละครใหม่ๆ เห็นบทใหม่ๆ เราไม่รู้ว่าจะมีพระเอกนางเอกใหม่ๆ หรือเปล่า จริงๆ เป็นเรื่องน่าสนุกเลยล่ะ เราเห็นการทำประชานิยมที่เข้าถึงและเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ที่หวังไว้มากกว่านั้นคือเราจะทำยังไงกับรัฐธรรมนูญปี 60 แล้วคนรุ่นใหม่น่าจะสามารถมองไปถึงการก้าวข้ามความนิยมตัวบุคคลได้ ไม่ใช่มองว่าตัวละครนี้ดี-เลวยังไง ผมคิดว่าไม่ว่าผลออกมาเป็นยังไงจะมีปัญหาอีกหรือไม่คนรุ่นใหม่น่าจะสามารถไปถึงการคุยกันเรื่องกติกาได้แล้ว คือสามารถมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้แล้วครับ
ความหวังของผมตอนนี้คือการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วย shape สังคมได้ครับ เราอยู่ในยุคที่รับรู้ข้อมูล และสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากมาย ทำให้มีความคิดที่หลากหลายซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ตอนนี้ส่วนตัวผมก็ขายหนังสือทั้งแปลและเขียนเองเพื่อให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงขายเสื้อด้วย ที่เราทำเพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาหาว่าเราไม่เข้าใจการทำงานกับคน ไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจหรือง่ายๆ ว่าไม่เข้าใจโลกนั่นแหละ ที่สำคัญเราต้องการให้ทุกคนที่ทำมีความภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ผมต้องการให้ทีมของเราทุกคนเริ่มจากความภูมิใจครับ แล้วทุกอย่างจะมีคุณค่า
สิ่งที่เราทำก็ต้องใช้เวลา เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ว่าคุณออกมาประท้วงแล้วจะเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ใช่ว่าการประท้วงไม่ดีนะ ทุกสังคมที่มีคนสนใจบ้านเมืองคือสังคมที่ดีทั้งนั้นแหละครับ แต่ผมต้องการอิสระในการสร้างสังคมที่ดีในระยะยาวในแบบของผมเอง ผมไม่อยากให้คนรุ่นใหม่หรือคนอื่นๆ อยู่ในภาวะที่มองอยู่แค่อนาคตหรืออุดมคติ คือคิดว่าสังคมไม่ว่ายังไงก็จะดีขึ้นเอง หรือยังไงก็ไม่ดีอยู่แบบนั้น โดยที่สักวันจะมีใครสักคนไปเปลี่ยนแปลงมัน ผมไม่อยากให้เราต้องคิดว่ารอคนออกมาเปลี่ยนแปลงเหมือน 14 ตุลาฯ ผมอยากให้มีสักคนที่มองปัญหาแบบที่มันเป็นจริงๆ ณ ปัจจุบัน และให้เราพยายามแก้ปัญหาบนพื้นฐานความจริงกันในตอนนี้ครับ
คำว่าคนรุ่นใหม่เนี่ย จริงๆ มีอายุสั้นมากนะครับ เรามีเวลาไม่กี่ปีหรอกที่จะเคลมว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่กำลังจะกลายเป็นคนรุ่นเก่าในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะมีคนที่ใหม่กว่าคุณโตขึ้นมา แล้วเขาอาจจะด่าคุณก็ได้ว่าคุณไม่เห็นสนใจประเทศเลย หรือคุณนี่หัวโบราณมากๆ เราเองก็ต้องตัดสินใจกันเองว่าอยากให้เขาด่าเราแบบนั้นหรือเปล่าครับ
ก้าวต่อไปของคนรุ่นใหม่ ก้าวต่อไปของประเทศไทย
จากการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งที่มีมิติความสนใจทางการเมืองต่างกัน คงไม่สามารถสรุปได้ว่านี่คือเสียงสะท้อนทั้งหมด แต่ที่พอจะบอกได้คือ ความตื่นตัวและความเข้าใจในภาคสังคมที่มากขึ้นจากทศวรรษแห่งความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
คำถามคือ เมื่อคนหนุ่มสาวหันมาสนใจบ้านเมืองมากขึ้น ด้วยประสบการณ์และวัยวุฒิ บวกกับความพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นกำลังและทรัพยากรของประเทศ สังคมจะมอบสิทธิในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองที่สง่างามให้พวกเขาเมื่อไร แล้วถ้ายัง บทบาททางการเมืองของคนที่ต้องอยู่กับผลลัพธ์ที่ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไร จะอยู่ตรงไหน?
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและอินเทอร์เน็ตเบิกทางปัญญา รวมทั้งความลวงให้คนเข้าถึงโดยง่าย ทุกการแสดงออกที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องก้าวร้าวหรือรุนแรงจนไปถึงหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่ในสังคมให้เสียงของคนหนุ่มสาวเหล่านั้นได้แสดงออก
สังคมไทยยังต้องค้นหาคำตอบต่อไป เพราะเมื่อมีคนรับฟัง พวกเขาก็ไม่ต้องตะโกนเสียงดังมากกว่าปกติ เมื่อมีคนรับฟัง พวกเขาก็ยังพบว่ามีความหวัง และอย่าลืมว่าสุดท้ายความหวังของคนหนุ่มสาวนั้น เท่ากับความหวังของประเทศชาติเอง หรือเราจะทำแค่ ‘ก่นด่า’ ความรุนแรงของเด็กสมัยนี้กันต่อไป
“สิ่งที่ประเทศกูไม่มี คนต้องจ่ายค่าอิสรภาพไม่ฟรี
แค่มึงยืนงั่งๆ แค่มึงนั่งก็โดนจับ
ถ้ามึงพูดไม่เข้าหูมึงก็เสี่ยงโดนปรับทัศนคติ”
ส่วนหนึ่งจากเพลง สิ่งที่ประเทศกูไม่มี จากศิลปิน Liberate P สะท้อนความอึดอัดต่อสังคมส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่
อ้างอิง: