ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน BOT Symposium 2020 ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง โดยการบรรยายในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน: ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทาย’ กล่าวถึงงานวิจัยที่สะท้อนความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทย โดยรวบรวมและสร้างดัชนีบ่งชี้ความไม่แน่นอน 4 หลัก ได้แก่
- ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น สงครามการค้าระหว่างไทยและจีน (Trade War) วิกฤตโควิด-19 การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
- ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของไทย เช่น การเปลี่ยนแปลงทางขั้วการเมืองในการบริหารเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ความขัดแย้งในการออกมาตรการดูแลเงินบาท
- ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง 3 ช่วงคือ 3.1 ช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 3.2 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และ 3.3 วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นรุนแรงหลายครั้งระหว่างปี 2549-2557 และกำลังมีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2563
ทั้งนี้ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมายังพบว่า ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ GDP ไทยหายไปราว 4.9 ล้านล้านบาท (มากกว่างบประมาณปี 2564 ทั้งปี) โดยความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นส่งผลต่อ GDP และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการลงทุนและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ตามพบว่า ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลัง ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ตามลำดับ
ทั้งนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ยกเว้นการส่งออกที่พบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ภาคเอกชนมีการปรับเพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบของความต้องการในประเทศที่ลดลง ซึ่งภาคส่งออกยังได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกด้วย
ขณะที่การรับมือกับความไม่แน่นอนพบว่า การใช้นโยบายการเงินแบบเดิมๆ มีประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน ยิ่งเร่งให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว โดยงานวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลบริษัทกว่า 350,000 แห่ง พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นคือ ร้านอาหาร โรงพยาบาล บริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการขายและรับซ่อมยานยนต์ สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี ขณะที่อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
หากมองในมิติด้านการลงทุนพบว่า ความไม่แน่นอนทุกด้านส่งผลกระทบทางลบต่อการลงทุนของไทยทั้งหมด ซึ่งความไม่แน่นอนระหว่างประเทศที่สูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2551 คาดว่าจะทำให้การลงทุนของไทยหายไป 30,000 ล้านบาท แต่ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบรุนแรงที่สุด และยังพบว่าหากเศรษฐกิจอาเซียนมีปัญหากลับมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ในมิติด้านผลกระทบต่อสภาพคล่องพบว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีสภาพคล่อง 5 อุตสาหกรรมคือ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมนำเที่ยว การศึกษา และร้านอาหาร (แม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่มีเงินทุนไม่มาก เลยได้รับผลกระทบสูง)
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ข้อ
- การลดผลกระทบความไม่แน่นอนบางด้าน เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรจะมีการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เข้าใจ รวมทั้งต้องมีการประสานงานด้านนโยบายระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อลดความไม่แน่นอนนโยบายของรัฐบาล
- การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดาวรุ่ง พร้อมกับการดูแลการโยกย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน การเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของความไม่แน่นอนต่างๆ
- เอกชนต้องเตรียมพร้อมด้านเงินทุนเพื่อรองรับความไม่แน่นอน และขยายไปประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องช่วยให้เอกชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดความไม่แน่นอนขึ้น โดยรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับบริษัทที่ดี รวมทั้งช่วยกระจายความเสี่ยงเพื่อให้เอกชนสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
รายชื่อผู้นำเสนอบทวิจัย
ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.พิม มโนพิโมกษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ชัยธัช จิโรภาส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ทศพล อภัยทาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า