ในช่วง 100 วันแรกหลังทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น โจ ไบเดน ได้รับความนิยมจากคนอเมริกันอย่างมาก โดยเกือบๆ 60% ให้การยอมรับ (Approval Rating) ว่าเขาปฏิบัติงานในฐานะประธานาธิบดีได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป Approval Rating ของไบเดนนั้นกลับตกต่ำลงเรื่อยๆ จนมาเหลือแค่ประมาณ 40% หลังจากที่เขาทำหน้าที่ประธานาธิบดีได้ครบ 1 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระดับ Approval Rating ที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับ Approval Rating ครบรอบการปฏิบัติงาน 1 ปีประธานาธิบดีคนอื่นๆ (ยกเว้นแค่ โดนัลด์ ทรัมป์ เพียงคนเดียว)
เกิดอะไรขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา? บทความนี้จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาคะแนนนิยมที่หายไปของไบเดน
-
ไบเดนเคยถูกมองว่าจัดการกับโควิดได้ดีมาก
ในช่วงแรกของการทำงานในฐานะประธานาธิบดี ไบเดนถูกมองว่าเขาสามารถบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดีกว่าประธานาธิบดีคนก่อนอย่างทรัมป์มาก เพราะเขาเลือกที่จะใช้ยาแรงในการจัดการปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปิดเมือง (Lockdown) หรือการบังคับใส่หน้ากากอนามัย (Mask Mandate) และรวมไปถึงแผนการกระจายวัคซีนไปสู่ชาวอเมริกันที่มีประสิทธิภาพ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว จนไบเดนได้ Approval Rating ต่อการจัดการการระบาดของโควิดสูงถึง 70%
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา และดื้อต่อวัคซีนมากกว่าเดิม จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง (จนมากกว่าการระบาดในรอบก่อนๆ ด้วยซ้ำ) รัฐบาลของไบเดนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารับมือการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่พร้อมในการสต๊อกชุดตรวจโรค และการไม่กล้ากลับมาใช้ยาแรงทั้งๆ ที่การระบาดดูจะหนักหนากว่ารอบก่อนๆ
ซึ่งความล้มเหลวในการจัดการกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ก็ทำให้จุดแข็งของไบเดนในเรื่องการจัดการโรคระบาดกลับกลายมาเป็นจุดอ่อนแทน และนั่นก็ส่งผลให้คะแนนนิยมโดยรวมของเขาตกต่ำลง
-
ข้าวยากหมากแพง
ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลของไบเดนต้องเข้ามาแก้ไขต่อจากรัฐบาลของทรัมป์คือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงาน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด ไบเดนเลือกที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการอัดฉีดเงินมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปในระบบ เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินและก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ
แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของไบเดนดูจะได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะเงินที่เขาอัดฉีดลงไปกระตุ้นทำให้เกิดการจ้างงานได้จริง จนอัตราการว่างงานของชาวอเมริกันตกลงมาถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินมหาศาลที่ไบเดนอัดฉีดลงไปนั้นทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา เมื่อรวมกับปัญหาซัพพลายเชนที่เกิดจากตัวโรคระบาดเอง ก็ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายต้องทยอยพากันปรับขึ้นราคา ทำให้ชาวอเมริกันเกิดความรู้สึกว่าพวกเขากำลังเข้าสู่ภาวะ ‘ข้าวยากหมากแพง’ และพวกเขาก็โทษว่านโยบายของไบเดนเป็นต้นเหตุของปัญหา
-
อัฟกานิสถานสะท้อนภาพการบริหารจัดการที่โกลาหล
จุดขายหนึ่งที่ไบเดนหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในปี 2019 คือ เขาสัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ (Competent) ทุกๆ นโยบายจะต้องได้รับการไตร่ตรองมาอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ ต่างไปจากสมัยของทรัมป์ที่มักจะออกนโยบายต่างๆ อย่างหุนหันพลันแล่น
อย่างไรก็ดี ภาพที่ไบเดนพยายามจะวาดว่านักการเมืองที่ทำงานในกรุงวอชิงตันมากว่า 50 ปีอย่างเขา จะบริหารทำเนียบขาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับต้องมาทลายลงอย่างรวดเร็ว หลังการถอนทัพจากอัฟกานิสถานที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและสับสน จนนำไปสู่การยึดกรุงคาบูลของกลุ่มตาลีบันในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งภาพการหนีตายของประชาชนชาวอัฟกันและชาวต่างชาติจนเกิดความโกลาหลที่สนามบินในกรุงคาบูล ก็ได้ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกบนจอโทรทัศน์โดยสำนักข่าวทั่วโลก ก็ทำให้ชาวอเมริกันเริ่มไม่เชื่อว่ารัฐบาลของไบเดนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลของทรัมป์ และเหตุการณ์ที่อัฟกานิสถานนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ Approval Rating ตกลงต่ำกว่า 50%
-
ไบเดนไม่สามารถผ่านกฎหมายที่ฐานเสียงของพรรคต้องการ
ภายหลังจากการที่ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มลรัฐจอร์เจีย จนพรรคสามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้งที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายซ้ายในพรรคก็ได้วาดฝันไว้ว่าไบเดนจะสามารถผ่านกฎหมายที่ฐานเสียงในพรรคต้องการ อย่างเช่น สิทธิการได้เงินเดือนระหว่างที่เจ็บป่วย (Paid Medical Leave), ศูนย์ดูแลเด็กก่อนวัยฟรีโดยรัฐบาล (Free Childcare) และสิทธิในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (Tuition-Free College) ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งไบเดนเองก็เคยหยิบยกนโยบายเหล่านี้ออกมาใช้หาเสียงเป็นสัญญาประชาคมภายใต้ชื่อโครงการ Build Back Better
อย่างไรก็ตาม ไบเดนไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายนี้ตามที่เคยหาเสียงไว้ได้ เพราะ ส.ว. สายกลาง 2 คนของพรรคอย่าง โจ แมนชิน และ เคิร์สเตน ซินีมา ประกาศไม่โหวตให้ร่างกฎหมาย Build Back Better เพราะพวกเขากังวลว่ารัฐบาลจะต้องใช้เงินจำนวนมากเกินไปในการสนับสนุนโครงการเหล่านี้ อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะและเงินเฟ้อตามมา ถึงแม้ว่าไบเดนจะพยายามกดดันอย่างหนักให้แมนชินและซินีมาหันมาสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ฐานเสียงในพรรคมองว่า ไบเดนไม่สามารถคุมลูกพรรคได้ จนทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่สัญญาไว้ได้ ซึ่งนำไปสู่ความนิยมที่ตกต่ำลง แม้แต่ในหมู่ของฐานเสียงของพรรคเดโมแครตเอง
ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images