×

4 เมกะเทรนด์ ปฏิวัติเศรษฐกิจโลก: ความท้าทายที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องจับตา

25.06.2024
  • LOADING...

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับเชิญจากวารสารวิชาการ Economic Record ให้เขียนบทวิจารณ์หนังสือ (Book Review) เล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า The Future of the Factory: How Megatrends are Changing Industrialization แต่งโดย Jostein Hauge นักเศรษฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนังสือเล่มนี้พูดถึง 4 ความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ และอธิบายถึงนัยสำคัญต่อนโยบายอุตสาหกรรมในอนาคต แน่นอนว่าอุตสาหกรรมเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยมาหลายสิบปี หนังสือเล่มนี้จึงมอบบทเรียนและข้อคิดสำคัญให้กับรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการ นักธุรกิจ รวมถึงนักวิชาการที่ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐไทย

 

4 เมกะเทรนด์ (Megatrends) ที่ว่านี้ ประกอบด้วย 1. การเข้าสู่ยุคของภาคบริการ (The Rise of Services) 2. เทคโนโลยีแบบอัตโนมัติ (Digital Automation Technologies) 3. ห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก (Globalization of Production) และ 4. การล่มสลายของระบบนิเวศ (Ecological Breakdown) มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

 

เมกะเทรนด์แรกว่าด้วยเรื่องของภาคบริการ แน่นอนว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ได้นำพาประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้กลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ลาตินอเมริกา รวมถึงแอฟริกา ทำตามเพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศก็คือการเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) หรือเรียกว่า Manufacturing-Led Growth อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาคบริการกว่า 60% ของ GDP โลกมาจากภาคบริการด้วยกันทั้งสิ้น

 

บริษัทที่มีกำไรมากที่สุดอย่าง Amazon, Google และ Walmart ล้วนเป็นบริษัทที่ให้บริการในทางใดทางหนึ่ง ขณะที่กำไรของบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและผลิตสินค้าอย่าง Apple, Sumsung และ Toyato ก็มีสัดส่วนของกำไรที่มาจาก Research and Development การขายปลีก และการทำการตลาด หลายประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศใน Global South) เช่น อินเดีย เคนยา และฟิลิปปินส์ จึงใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Service-Led Growth หรือการพึ่งพาภาคบริการในการนำพาเศรษฐกิจให้เจริญรุดหน้า 

 

บทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาคบริการเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) สะท้อนจากความแพร่หลายของคอมพิวเตอร์และความเสถียรของระบบอินเทอร์เน็ต ที่ลดต้นทุนของการดำเนินกิจกรรมในภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินและการให้คำปรึกษา

 

เมกะเทรนด์ที่สองคือเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI (Artificial Intelligence-Related Technologies) ที่ทำให้เกิดระบบอัตโนมัติ (Automation) และมีผลกระทบสำคัญต่อตลาดแรงงาน ในช่วงก่อนโควิด-19 เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีข้อจำกัดเนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องอาศัยมนุษย์ในการบรรยายหรือกำหนดปฏิบัติการ (Operation) ซึ่งทำให้ไม่สามารถประยุกต์ใช้ในงานที่ต้องใช้ความคิดเชิงนามธรรม (Abstract Thinking) การปรับตัว (Adaptability) และการตระหนักรู้ตามสถานการณ์ (Situation Awareness) เช่น งานด้านการออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และงานบ้าน แต่ข้อจำกัดเหล่านี้กลับน้อยลงอันเนื่องมาจากความสามารถของระบบคอมพิวเตอร์และการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลว่างาน Routine ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในประเทศ Global South อาจถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ

 

เมกะเทรนด์ที่สามคือห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก (Global Value Chains) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไป แทนที่ทุกอย่างจะผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งทั้งหมด แต่เกิดกระบวนการแยกผลิตในหลายประเทศ (Global Production Sharing) เช่น การผลิต iPhone หนึ่งเครื่อง แม้จะประกอบในจีนและประทับตรา Made in China แต่มีอีกหลายสิบประเทศที่มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนของ iPhone แม้เราจะมองว่า iPhone นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ของ Apple แต่แท้จริงแล้วมีอีกหลายบริษัทที่มีส่วนในการผลิต iPhone ไม่ว่าจะเป็น Toshiba, Samsung, Intel, Sony รวมถึง LG บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ชำนาญในการผลิต iPhone ทั้งเครื่อง แต่ถนัดที่จะผลิตชิ้นส่วน (Parts and Components) ที่สำคัญ เช่น แบตเตอรี่, หน้าจอ และชิป สินค้าที่เข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลกมีตั้งแต่อาหารแปรรูป, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ยานพาหนะ รวมไปถึงเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม รูปแบบของการผลิตดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศใน Global South ที่จะช่วงชิงตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก

 

เมกะเทรนด์สุดท้ายเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการล่มสลายของระบบนิเวศซึ่งมีมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก อีกส่วนสำคัญคือการถลุงทรัพยากร (Resources) ของโลก ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล (Biomass), เชื้อเพลิงฟอสซิล, เหล็ก และแร่ธาตุต่างๆ แม้ว่าเราจะชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า, ความเสื่อมโทรมของดิน, การประมงเกินขีดจำกัด, การทำเหมืองที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ รวมถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่า 300 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเป็นอุตสาหกรรมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรของโลกไปอย่างมหาศาล ข้อถกเถียงที่ผ่านมาคือเรื่องของ Trade Off ระหว่างการเป็นอุตสาหกรรมและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ว่ามีอยู่จริงไหมและบทบาทของภาครัฐเป็นอย่างไร

 

Jostein Hague ยังคงมองว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ถูกแทนที่ด้วยภาคบริการ และจะยังคงเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจโลกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Transformation) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน (Job Creation) และงานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับระดับของทุนมนุษย์ นอกจากนั้น แม้จะมีความเสี่ยงว่าระบบ Automation จะมาแทนที่คนในสถานประกอบการ แต่นั่นจะก่อให้เกิดการปรับโครงสร้าง (Re-Organization) ของตลาดแรงงาน แทนที่จะเป็นการว่างงานอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

 

สิ่งที่ Jostein Hague มองว่าเป็นความท้าทายของประเทศ Global South คือผลกระทบของห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก (เมกะเทรนด์ที่สาม) ต่ออำนาจอันไม่สมมาตร (Power Asymmetries) ที่เพิ่มอำนาจให้บริษัทขนาดใหญ่ (Transnational Corporation) ในประเทศมหาอำนาจและลดอำนาจ รวมถึงกำไรของบริษัทและแรงงานในประเทศ Global South ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) สูงขึ้น และชะลอกระบวนการเข้าหากันของความกินดีอยู่ดีของโลก (Convergence) รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ Jostein Hague ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนามีทรัพยากรน้อยกว่าที่จะรับมือกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

 

ในภาพรวมผมเห็นด้วยกับเมกะเทรนด์ทั้ง 4 ที่ Jostein Hague ได้นำเสนอและวิเคราะห์ และมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากทั้ง 4 เมกะเทรนด์ ในเรื่องแรกนั้น จากสถิติของธนาคารโลก (2024) พบว่า กว่า 56% ของ GDP ไทยมาจากภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว, การค้าปลีกค้าส่ง, การเงิน และการขนส่ง ขณะเดียวกัน แรงงานจำนวนมากกำลังออกจากภาคเกษตรกรรมและตรงเข้าสู่ภาคบริการ สัดส่วนของแรงงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นจาก 28% ในปี ค.ศ. 2000 มาอยู่ที่ 47% ในปี ค.ศ. 2022 ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีสัดส่วนที่ 30% และ 22% ตามลำดับ โดยสัดส่วนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

 

หากภาคบริการสามารถดูดซับและสร้างการจ้างงานได้เฉกเช่นภาคอุตสาหกรรมในอดีต โมเดลพัฒนาประเทศแบบ Service-Led Growth ย่อมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของไทย แต่ความท้าทายของโมเดลดังกล่าวที่อยู่ในวงสนทนาของนักวิชาการคือผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เนื่องจากภาคบริการเป็นภาคที่มีความเหลื่อมล้ำภายในภาค (Within-Sector Inequality) สูง การโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรที่มีความเหลื่อมล้ำภายในภาคต่ำมายังภาคบริการย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำรวม (Total Inequality) สูงขึ้นในช่วงแรกของกระบวนการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจของ Kuznets (1954) นั้น ความเหลื่อมล้ำรวมจะค่อยๆ ลดลง อันเนื่องมาจากความแตกต่างของรายได้ระหว่างภาค (Between-Sector Differences) ลดลง เรื่องนี้รัฐบาลสามารถรักษาระดับความเหลื่อมล้ำรวมภายในประเทศไม่ให้สูงเกินไปผ่านนโยบายทางการคลัง เช่น ภาษีแบบก้าวหน้า และการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย/กลุ่มเปราะบาง

 

ในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น คนไทยและสถานประกอบการไทยมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความแตกต่างของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจและขนาดของสถานประกอบการที่มีขนาดที่ต่างกัน รวมถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงในประชากรที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2567) พบว่า ในปี พ.ศ. 2564 ภาคการผลิตมีการใช้คอมพิวเตอร์, อินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ ที่น้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจการค้าและธุรกิจทางการบริการ และสัดส่วนดังกล่าวยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่สำหรับสถานประกอบการขนาดเล็กและสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ 

 

สำหรับห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลกนั้น ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่เข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลกอย่างเหนียวแน่น จากข้อมูลของ ADB (2024) พบว่า กว่า 57% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็นการค้าที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก โดยมีสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลกมาอย่างยาวนาน ทำให้สถานประกอบการไทยกลายมาเป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย ทำให้เครือข่ายของบริษัท (Firm Network) ไปไกลกว่ารูปแบบของ Transnational Corporation กับบริษัทในเครือ (Affiliated Company) ของบริษัทข้ามชาติ และบริษัทของไทยไม่จำเป็นต้องป้อนสินค้าให้กับบริษัทขนาดใหญ่หรือเจ้าของเทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นต่างกับ Jostein Hague ว่าห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลกทำให้เสียดุลอำนาจของการต่อรองทางธุรกิจระหว่าง Global North และ Global South

 

ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐบาลปัจจุบันมีการผลักดันหลายนโยบาย เช่น การเลิกใช้ถ่านหิน, การใช้พลังงานสะอาด และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังเป็นโจทย์สำคัญคือฝุ่น PM2.5 ที่สร้างความเสียหายทางชีวิตและเศรษฐกิจแก่คนไทยมาระยะหนึ่ง จากข้อมูลของ UNEP (2023) พบว่า ในแต่ละปี คนไทยเผชิญกับค่า PM2.5 กว่า 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO กว่า 5.4 เท่า และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 32,211 คน หรือ 46 คนต่อ 100,000 คน โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ปัจจุบันยังไม่มีการประเมินอย่างจริงจังว่า Action ต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์ (Vehicle Emission Standards) การควบคุมคุณภาพของอากาศ (Air Quality Monitoring) และมาตรการจูงใจการผลิตที่สะอาด (Clean Production Incentive) ว่าส่งผลมากน้อยเพียงใดกับปัญหาสภาพอากาศ ดังนั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากแม้แต่อากาศบริสุทธิ์ยังไม่สามารถจัดหาให้ประชาชนได้ 

 

แม้เมกะเทรนด์ทั้ง 4 จะไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แต่ที่ผ่านมาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่จะศึกษาเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising