×

เปิด 4 ปัจจัยหนุนทองคำทำสถิติใหม่ในปี 2567 ลุ้นไตรมาสแรกได้เห็นราคานิวไฮรอบใหม่ที่ 2,200 ดอลลาร์

20.12.2023
  • LOADING...

วายแอลจีเปิด 4 ปัจจัยหนุนราคาทองคำทะยานตลอดปี 2567 นำโดยปัจจัยบวกแรก อัตราดอกเบี้ยขาลง ตามด้วยธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำต่อเนื่อง ปัจจัยความไม่สงบระหว่างประเทศ และนักลงทุนโยกเงินลงทุนไปพักในตลาดทองคำ พร้อมคาดว่า ภายในไตรมาสแรกปีหน้ามีโอกาสเห็นทองคำทำราคาสูงสุดตลอดกาลรอบใหม่ที่ 2,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หลังตลาดคาดการณ์ว่าไตรมาสแรก Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ย พร้อมแนะนักลงทุนระยะสั้น หากราคาทองคำสามารถยืนเหนือ 2,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ได้ สามารถเข้าซื้อเก็งกำไรจากการแกว่งตัวในกรอบได้ ส่วนแนวต้านมองโซน 2,070-2,144 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ส่วนปี 2567 ระยะยาว รอย่อตัวก่อนค่อยทยอยเข้าซื้อสะสมที่แนวรับ 1,902-1,847 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ขณะที่แนวต้านรอทดสอบ 2,144-2,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ด้านราคาทองคำในประเทศ 96.5% ประเมินแนวรับที่ 31,500-30,600 บาทต่อบาททองคำ ส่วนแนวต้านประเมินที่โซน 35,500-36,400 บาทต่อบาททองคำ  

 

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ในปี 2566 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ถือว่าเป็นปีที่ตลาดทองคำคึกคักเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะได้รับปัจจัยกดดันจากนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ในไตรมาสที่ 4/2566 เป็นช่วงที่ Fed เริ่มหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาทองคำไต่ขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ถึงแม้ว่าล่าสุดราคาทองคำจะปรับลดลงมา แต่ระยะสั้นก็ยืนได้เหนือ 2,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งถือว่าราคายังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของทองคำในปี 2567 วายแอลจีมองว่า ตลาดทองคำจะกลับมาคึกคักมากกว่าปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ และราคาทองคำมีโอกาสสร้างสถิติใหม่ที่คาดว่าจะได้เห็นภายในสองไตรมาสแรกของปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักๆ ที่ต้องจับตา 4 ปัจจัย ดังนี้

 

  1. อัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ขาลง ปัจจัยนี้ถือเป็นประเด็นที่มีผลต่อราคาทองคำอย่างมาก เมื่อไม่มีปัจจัยกดดันจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว มองว่าในช่วงปลายไตรมาส 1/2567 ถึงไตรมาส 2/2567 จะได้เห็นราคาทองคำมีโอกาสแตะ 2,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่านโยบายดอกเบี้ยของ Fed จะเริ่มเป็นขาลงในช่วงดังกล่าวเป็นต้นไป ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อราคาทองคำในทันที เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจึงส่งผลให้ทองคำน่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

 

  1. ธนาคารกลางทั่วโลกยังสะสมทองคำต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงดำรงสถานะซื้อทองคำในปี 2566 นำโดยธนาคารกลางจีน โปแลนด์ สิงคโปร์ ลิเบีย และอินเดีย ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะทำการซื้อสุทธิทองคำรอบใหญ่อีกครั้ง จากผลสำรวจของสภาทองคำโลก (WGC) พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมเข้าซื้อทองคำเข้าสู่ระบบทุนสำรองเพิ่มอีก 24% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

 

  1. ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศจะเป็นที่รับรู้ของนักลงทุนมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่จะต้องจับตา เนื่องจากมีความขัดแย้งครั้งใหม่ๆ ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส โดยเป็นความรุนแรงในแถบทะเลแดง หลังกลุ่มฮูตีของเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ทำการโจมตีเรือที่แล่นผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบในทะเลแดง เพื่อตอบโต้กรณีที่อิสราเอลปฏิบัติต่อฉนวนกาซา ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจ 10 ประเทศเพื่อเตรียมตอบโต้ ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตาว่าจะเกิดเหตุลุกลามบานปลายหรือไม่

 

  1. นักลงทุนโยกเงินลงทุนเข้ามาพักในตลาดทองคำเพื่อหลีกหนีความเสี่ยงจากตลาดหุ้นที่มีโอกาสปรับฐาน โดยแม้ว่าในช่วงนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง แต่หากย้อนอดีตไปในช่วงเวลาที่เริ่มลดดอกเบี้ยจริงๆ แล้ว ในช่วงเวลานั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะมีการย่อปรับฐาน เนื่องจากการที่บรรดาธนาคารกลางรีบเร่งในการลดดอกเบี้ย มักจะสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการชะลอตัวลง แต่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อทองคำ

 

ส่วนปี 2567 ในภาพระยะยาว เนื่องจากราคาทองคำค่อนข้างเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงแล้ว จึงแนะนำให้รอการย่อตัวลงแล้วค่อยทยอยเข้าซื้อสะสม หากราคายืนเหนือโซนแนวรับ 1,902-1,847 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนกรกฎาคม 2023 และเดือนกันยายน 2023 ตามลำดับ) ขณะที่โซนแนวต้านรอทดสอบที่ 2,144-2,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศ 96.5% ประเมินแนวรับที่ 31,500-30,600 บาทต่อบาททองคำ ส่วนแนวต้านประเมินที่โซน 35,500-36,400 บาทต่อบาททองคำ (คำนวณด้วยค่าเงินบาท 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 12.00 น.)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X