บล.เอเซีย พลัส คาดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจาก 4 ปัจจัยกดดัน ขณะที่ช่วงครึ่งแรกเดือนมิถุนายน ต่างชาติเทขายหุ้นไทยแล้ว 9.3 พันล้านบาท
สำรวจข้อมูลการซื้อขายแยกตามกลุ่มผู้ลงทุนในเดือนมิถุนายน (ณ 10 มิถุนายน) ปี 2565 พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,584.09 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 9,290.93 ล้านบาท ขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 1,183.83 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 9,691.20 ล้านบาท
ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 92,436.47 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 42,920.04 ล้านบาท ขณะที่บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 2,630.59 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิ 132,725.92 ล้านบาท
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในเดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่ Fed ใช้นโยบายตึงตัวแบบ New Normal ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล กดดัน Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 6 ใน 7 วันทำการ โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 9.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการไหลออกเดือนแรกของปี 2565
ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงคาดว่ายังมีโอกาสเห็น Momentum Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อ 4 ปัจจัย ดังนี้
- ตลาดคาด Fed มีโอกาสใช้นโยบายการเงินเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับดอกเบี้ยตามขึ้นไป เพื่อสกัดค่าเงินบาทอ่อนและเงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่กดดันตลาด เนื่องจากตามกลไกหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% กดดันเป้าหมาย SET ลง 88 จุด เหลือ 1,722 จุด และขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันเป้าหมาย SET ลง 240 จุด 1,570 จุด
- ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อกดดันให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น หาก Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น กดดันเม็ดเงินไหลกลับไปสู่ตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า กดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ จากล่าสุดอ่อนค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ เกือบสูงสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน
- การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดสินค้าราคาแพง ณ ปัจจุบัน อาจส่งผลให้ราคา Commodity ต่างๆ ทยอยย่อตัวลง แต่ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนหุ้นที่อิงกับราคา Commodity ถึง 1 ใน 3 ส่วน อาจกดดันให้ Fund Flow ที่เคยไหลเข้าหุ้นกลุ่มที่อิง Commodity ชะลอลง
- ความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วง Recession เริ่มเห็นโอกาสเกิด Inverted Yield Curve เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด Bond Yield สหรัฐฯ ระยะสั้นเร่งขึ้นมาเร็วจน Bond Yield 5 ปี ขึ้นแซง 30 ปี และ Bond Yield 2 ปี 3.06% เพิ่มเข้าใกล้ 10 ปี 3.16% (ห่างกันเพียง 10 bps) ซึ่งเวลาเกิด Inverted Yield Curve ทีไร Fund Flow มักจะไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดหุ้นไทยเสมอ
ปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาถือเป็นความเสี่ยงที่ Fund Flow มีโอกาสขายทำกำไรหุ้นไทยในบางช่วงเวลา และมีโอกาสพลิกกลับมาไหลออกเมื่อเทียบกับการไหลเข้าในช่วงต้นๆ ของปี
ด้านฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ในเดือนมิถุนายนนี้กลุ่มที่ต้องระวังผลจาก Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยคือ Commodity (ปิโตรเคมี, โรงกลั่นน้ำมัน) ธนาคาร และหุ้นที่ราคาขึ้นมามากๆ โดยเฉพาะหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อเข้ามามากในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเทขาย เช่น PTTEP, KBANK, ADVANC, BH, CPALL, BDMS, SCB และ BBL