×

กรณ์ เสนอ 4 มาตรการสกัดพิษ ก่อนเศรษฐกิจโคม่า ชี้ช่องวิกฤตที่มาพร้อมโอกาสของไทย

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2020
  • LOADING...
กรณ์ จาติกวณิช

วันนี้ (19 สิงหาคม) กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทย ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 (YoY) ติดลบ 12.2% เทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งทำให้ตัวเลขทั้งปีอาจติดลบ 7-9% 

 

ทั้งนี้ เมื่อลองมองเทียบเศรษฐกิจประเทศใหญ่ (YoY) สหรัฐอเมริกาติดลบ 32.9%, ญี่ปุ่นติดลบ 27.8%, อังกฤษติดลบ 21.7%, จีนบวก 3.2% ในขณะที่เมื่อลองเทียบเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน (YoY) สิงคโปร์ติดลบ 13.2, มาเลเซียติดลบ 17.1%, ฟิลิปปินส์ติดลบ 16.5%, อินโดนีเซียติดลบ 5.32%, เวียดนามบวก 0.36% (ได้อานิสงส์จากจีนโดยตรง) ซึ่งจากตัวเลขเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศจะเหมือนว่าอาการของเรายังไม่ป่วยหนัก แต่ถ้าดูในเชิงลึกแล้วนั้น ปกติช่วงไตรมาส 2 จะเป็นโลว์ซีซันของการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงยังไม่ส่งผลทางลบกับเศรษฐกิจเท่ากับไตรมาสอื่น

 

กรณ์กล่าวว่าคำถามที่สำคัญหลังจากนี้ คือปีนี้จะมีการท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือไม่ หากไม่ ผลกระทบต่อ GDP จะแรงกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน อีกสาเหตุที่การปรับลดลงของเราไม่แรงเหมือนหลายประเทศ ก็เพราะเศรษฐกิจเราไม่ดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ฐานเปรียบเทียบค่อนข้างต่ำ (GDP ปี 2019 โตเพียง 2.4%) จากนี้ไปตนมองว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่องสำคัญทันที ไม่เช่นนั้นพิษบาดแผลทางเศรษฐกิจอาจลุกลามจนประเทศโคม่าได้

 

โดย 4 เรื่องสำคัญประกอบด้วย 1. ‘ผ่าตัด’ งบประมาณรัฐ โดยหากตนเป็นรัฐบาล จะรื้อแผนการใช้เงินพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทเข้าสู่ระบบ ซึ่งหมายถึงทำให้เงินอยู่ในมือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ตรงที่สุด และเร็วที่สุด โดยจะยิงเงินส่วนที่เหลือให้ผู้เดือดร้อนโดยตรง โดยเฉพาะแรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ ประชาชนที่ตกงาน ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อน คนพิการ ฯลฯ) นอกจากนี้ ตนจะอัดเม็ดเงินช่วยเหลือทั้งทางตรง และวงเงินกู้ด่วนแก่กลุ่มธุรกิจ SMEs พร้อมมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย (เงินเดือน ค่าเช่า ดอกเบี้ย) รวมถึงต้องปรับเกณฑ์แบงก์ชาติให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้จริง เพิ่มความเชื่อมั่นโดยการเปลี่ยนจากเงินกู้เป็นเงินลงทุน และปรับการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาทใหม่ทั้งหมด เพราะที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นโครงการจิปาถะ ใช้เงินไม่ตรงจุด เบิกจ่ายล่าช้า ขัดกับเป้าหมายการกู้แต่แรก อัดฉีดเงินฉุกเฉินไม่เข้าเป้า 

 

  1. ‘ฉีดยาแรง’ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเราพึ่งพาการค้าการลงทุนกับต่างประเทศได้ยากในช่วงที่ทั้งโลกยังถดถอย เราต้องเน้นโครงการ ‘พึ่งพาตัวเอง’ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐบาลลังเลมายาวนาน โครงการนี้เปิดโอกาสให้มีการกระจายการผลิตไปที่ผู้ประกอบการรายเล็กทั่วประเทศ เป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และที่สำคัญเป็นแหล่งรายได้ยั่งยืนให้กับเกษตรกร การเร่งช่วยประชาชนต้องนึกเสมอว่า “นโยบายที่ดีจะต้องเป็นกุศโลบายที่ยิงกระสุนนัดเดียว ช่วยคนได้หลายกลุ่ม” 

 

ทีมเศรษฐกิจใหม่ควรถือโอกาสในการทบทวน ‘ปัญหาการทำมาหากิน’ ของคนไทยหลากหลายอาชีพ เนื่องจากนโยบายและข้อกฎหมายของรัฐบาลในอดีต ไม่ว่าจะเป็นประมงชายฝั่ง ผู้ค้า สตรีทฟู้ด สุราพื้นบ้าน ฯลฯ เหล่านี้ถูกจำกัดด้วยกฎหมายล้าสมัย ซึ่งหากกฎหมายทันสมัยเพียงพอ ประชาชนจะมีช่องทางทำกินอีกมาก

 

  1. ‘สร้างภูมิต้านทาน’ ในการดำรงชีวิต จัดสวัสดิการดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เพราะสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน เราต้องปรับการดูแลความอยู่รอดของประชาชนอย่างเป็นระบบ ใครว่างงานหรือรายได้ตํ่ากว่ามาตรฐาน ควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงด้วยหลัก Universal Basic Income (UBI) 

 

  1. เสริมจุดแข็งของประเทศ โดยกรณ์มองว่าประเทศไทยมีทุนหลายด้านที่เข้มแข็งมาก ตอนนี้ที่เด่นชัดที่สุดคือ ทุนจากความเป็นมืออาชีพในวงการสาธารณสุข เราควบคุมโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม รัฐบาลควรส่งเสริมแนวคิด Work from Thailand ดึงกลุ่ม Expat แรงงานต่างชาติกำลังซื้อสูงเข้าประเทศ ด้วยการกักตัวใน State Quarantine หากปลอดโรคก็ให้ทำงานต่อ ด้วยการขยายวีซ่าเป็น 1-2 ปี เล็งเป้าเมืองที่มีความพร้อม ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ หรืออุบลราชธานี เป็น Official State Quarantine Zone 

 

“ทั้งหมดนี้ล่าช้าไม่ได้ครับ ในวิกฤตมีโอกาส และโอกาสครั้งนี้ไทยเรายังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ต้องรีบคว้าไว้ ขอให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เตรียมพร้อม แล้วนำพาประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” กรณ์กล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising