×

4 วันหลัง ‘เรือหลวงสุโขทัย’ อับปาง และความหวังในการค้นหาอีก 23 กำลังพลที่ยังคง ‘สูญหาย’

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2022
  • LOADING...

เรือหลวงสุโขทัยที่อับปางหลงกลางทะเลอ่าวไทยในกลางดึกวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทย และเป็นเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายจับตาปฏิบัติการค้นหากำลังพลที่ยังนับเป็นผู้สูญหายอีก 23 นาย ซึ่งถือว่าทุกนาทีที่ผ่านพ้นไป คือเวลาที่มีค่าสำหรับคนที่รอคอยความช่วยเหลือและญาติพี่น้องของผู้สูญหาย

 

THE STANDARD พาย้อนเหตุการณ์เรือรบเจอกับพายุฝนที่โหมกระหน่ำจนต้องอับปางกลางอ่าวไทย

 

1. วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ราวเวลา 23.00 น. พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกข่าวชี้แจงกรณีเรือหลวงสุโขทัยมีอาการเอียง ตามที่ปรากฏข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ช่วงค่ำวันนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเรือหลวงสุโขทัยกำลังลาดตระเวนอยู่บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสบเหตุเรือมีอาการเอียงเนื่องจากขณะนั้นบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรง ทำให้มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ จนทำให้เครื่องไฟฟ้าดับ และส่งผลให้เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ และทำให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเอียงในเวลาต่อมา

 

กองทัพเรือระบุว่า ขณะนั้นได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้เรือรบและอากาศยานของกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงกระบุรี เฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดป้องกันความเสียหายและกู้ภัยเรือ เร่งให้การช่วยเหลือ และได้ประสานหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมให้การช่วยเหลือ

 

เรือหลวงกระบุรีได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุแล้ว อยู่ระหว่างเร่งให้ความช่วยเหลือกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยเป็นอันดับแรก

 

กองทัพเรือรายงานด้วยว่าขณะนั้นเรือหลวงสุโขทัยยังคงมีอาการเอียง แต่สามารถผนึกน้ำได้แล้ว ปริมาณน้ำภายในตัวเรือมีปริมาณคงที่ และยืนยันด้วยว่า ‘กำลังพลทั้งหมดปลอดภัย’

 

ทว่าผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง เวลา 23.30 น. กองทัพเรือรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เรือหลวงสุโขทัยได้จมลงใต้ผิวน้ำแล้ว เนื่องจากมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก และยืนยันอีกครั้งว่า ‘กำลังพลทั้งหมดได้รับความปลอดภัย’

 

2. เช้าวันต่อมา 19 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 08.00 น. พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า เรือหลวงกระบุรีได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุเมื่อเวลา 20.40 น. และพยายามเข้าเทียบเรือหลวงสุโขทัย เพื่อส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และช่วยเหลือกำลังพลจำนวน 106 นาย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากคลื่นลมยังคงรุนแรง

 

ต่อมาเรือหลวงสุโขทัยมีอาการเอียงมากขึ้นและได้จมลงในเวลา 00.12 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีเรือลากจูงเอกชนจากท่าเรือบางสะพานจำนวน 2 ลำ และเรือน้ำมัน Straits Energy ได้เดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุ เพื่อให้การสนับสนุนในการช่วยเหลือ

 

เวลา 01.04 น. เฮลิคอปเตอร์แบบ Seahawks จำนวน 2 ลำ ได้เดินทางมาถึง พร้อมทั้งทำการปล่อยแพช่วยเหลือลงทะเล จำนวน 8 แพ

 

และกองทัพเรือระบุในรายงานครั้งนี้ว่าสามารถให้การช่วยเหลือกำลังพลขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว 73 นาย โดยอยู่บนเรือหลวงกระบุรี จำนวน 47 นาย เรือลากจูง จำนวน 4 นาย เรือน้ำมันศรีวิชัย จำนวน 20 นาย และเรือน้ำมัน Straits Energy จำนวน 2 นาย ยังคงมีกำลังพลจำนวน 33 นายที่ลอยคออยู่ในทะเล ซึ่งเรือทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่กำลังเร่งดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือต่อ

 

โดยหลังจากนั้นได้นำกำลังพลที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วเดินทางไปยังท่าเรือบางสะพาน เข้าตรวจร่างกายและคัดแยกรับการรักษาอาการบาดเจ็บ

 

3. ผ่านไป 17 ชั่วโมงหลังเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ช่วงบ่ายวันที่ 19 ธันวาคม 2565 มีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งต่อมาเวลา 17.00 น. กองทัพเรือปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า จากการตรวจสอบขอยืนยันว่าไม่ใช่กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย แต่เป็นลูกเรือจากเรือสินค้าอนุภูมิ ซึ่งได้อับปางลงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา จากเหตุคลื่นลมแรงเช่นกัน

 

และสรุปจำนวนกำลังพลที่ได้รับการช่วยเหลือ ณ ขณะนั้น 75 นาย คงเหลือกำลังพลที่ยังต้องค้นหาและช่วยเหลืออีก 31 นาย หลัง​​เรือหลวงกระบุรีสามารถเข้าไปช่วยเหลือกำลังพลเพิ่มอีกจำนวน 1 นาย ขณะสวมชูชีพลอยคออยู่กลางทะเล

 

4. ผ่านไป 36 ชั่วโมงหลังเรือหลวงสุโขทัยอับปาง วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลา 12.00 น. กองทัพเรือจัดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงนเรศวร และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบดอร์เนีย 2 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ค้นหาผู้ประสบภัย 2 เครื่อง UAV 1 เครื่อง ร่วมกับเครื่องบินกองทัพอากาศ จำนวน 1 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ช่วยเหลือกำลังพล โดยขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้ มุ่งเน้นพื้นที่ชายฝั่ง

 

ซึ่งได้มีการคำนวณจากทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลม รวมทั้งบริเวณที่ตรวจพบและช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยล่าสุด นำมาพิจารณาพื้นที่ที่คาดว่ากำลังพลที่เหลือจะอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันเกิดเหตุ ล่าสุดจากกำลังพลบนเรือทั้งหมด 105 นาย สามารถให้การช่วยเหลือได้แล้ว 75 นาย และคงเหลือ 30 นายที่ยังหาไม่พบ เพราะจากการตรวจสอบรายชื่ออีกครั้งพบว่ามีกำลังพล 1 นายลากิจ ไม่ได้ขึ้นไปกับเรือหลวงสุโขทัยด้วย

 

5. ผ่านไป 40 ชั่วโมงหลังเรือหลวงสุโขทัยอับปาง วันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลา 17.00 น. พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.ร.อ. ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เปิดแถลงข่าวความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางที่กองบัญชาการกองทัพเรือ ใจความสำคัญคือการไล่เลียงเหตุการณ์และประเด็นที่สังคมตั้งคำถามดังนี้

 

  • เรือปฏิบัติภารกิจอะไร ภารกิจสนับสนุนการจัดงานกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ลาดตระเวนค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่าเป็นช่วงที่อ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-4 เมตร จากมรสุมที่มีกำลังแรง
  • เสื้อชูชีพไม่พอ ผู้บัญชาการกองทัพเรือยอมรับชูชีพไม่เพียงพอต่อกำลังพลบนเรือจริง เนื่องจากมีกำลังพลขึ้นเรือเพิ่มเติมอีก 30 นาย ซึ่งจะต้องตรวจสอบประเด็นนี้ต่อไป
  • การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย กองทัพเรือระบุ เรือหลวงสุโขทัยมีอายุ 36 ปี ซึ่งตามระเบียบและข้อกำหนดมีอายุใช้ราชการ 40 ปี อย่างไรก็ตาม สภาพและอุปกรณ์บนเรือหลวงสุโขทัยยังใช้งานได้ตามปกติ มีขีดความสามารถสูงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกองทัพเรือมีแนวความคิดว่าจะขยายอายุของเรือหลวงสุโขทัยไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี

 

โดยในช่วงเย็นวันนั้น กองทัพเรือรายงานการค้นหากำลังพลที่ค้นหาพบแล้ว 81 นาย เสียชีวิต 6 นาย และยังคงสูญหาย 23 นาย

 

6. กองทัพเรือเปิดปฏิบัติการค้นหากำลังพลที่สูญหายวันที่ 3 หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว วันที่ 21 ธันวาคม 2565 จัดเรืออากาศยานของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ รวมถึงศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมในการค้นหา ซึ่งพื้นที่ในการปฏิบัติการโดยคำนวณจากทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลม และจัดเรือในพื้นที่จำนวน 3 ลำ ทั้งเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงนราธิวาส และเรือหลวงนเรศวร เสริมกำลังด้วยเรือหลวงตากสิน และ ศรชล. ได้จัดเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเข้าร่วมในการค้นหา โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง และแจ้งไปยังสมาคมเรือสินค้า แจ้งให้เรือที่เดินทางในเส้นทางต่างๆ ช่วยตรวจสอบ และให้การช่วยเหลือกำลังพลที่อาจพบในพื้นที่เดินเรือ

 

ช่วงค่ำวันเดียวกัน ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ระบุว่า ภารกิจการค้นหาวันนี้ยังไม่พบผู้สูญหาย และปฏิเสธข่าวการพบผู้รอดชีวิต 1 นาย เสียชีวิต 18 นาย

 

7. ขณะที่ปฏิบัติการค้นหากำลังพลที่สูญหายวันที่ 4 ยังคงเดินหน้าต่อไป วันที่ 22 ธันวาคม 2565 ร่างกำลังพลที่เสียชีวิตถูกลำเลียงโดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ จากกองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มายังสนามบินอู่ตะเภา จากนั้นจะเคลื่อนศพไปยังฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

 

โดยกองทัพเรือจัดให้มีทหารกองเกียรติยศรับรถขบวนเคลื่อนย้ายร่างตลอดเส้นทางผ่านอย่างสมเกียรติ ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศลที่กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ

 

ซึ่งในเวลา 19.00 น. กองทัพเรือรายงานว่ายังไม่พบกำลังพลที่สูญหายเพิ่มเติม

 

โดยสรุปขณะนี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 90 ชั่วโมง กำลังพล 105 นายบนเรือหลวงสุโขทัยมีผู้ที่ปลอดภัยแล้ว 76 นาย เสียชีวิต 6 นาย และยังคงสูญหาย 23 นาย

 

THE STANDARD ร่วมเป็นกำลังใจให้ญาติที่ยังคงรอคอยกำลังพลที่สูญหายกลับมาสู่อ้อมกอด และขอแสดงความเสียใจกับญาติที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์นี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X