เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้รวบรวมข้อมูลการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ของหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ประกาศผลดำเนินงานรอบผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ก่อนกลุ่มอื่นๆ โดยภาพรวมกำไรสุทธิ 3Q63 ของกลุ่มธนาคารลดลง 45% YoY และลดลง 1% QoQ ซึ่งสะท้อนว่าผลประกอบการกลุ่มธนาคารยังไม่ฟื้นตัว โดยยังถูกกดดันจากการตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อเพิ่ม LLR Coverage ให้สามารถรองรับทิศทาง NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
สำหรับยอดสินเชื่อในภาพรวมไตรมาส 3 ปี 2563 ขยายตัวระดับต่ำ 0.3% QoQ ซึ่งเกิดจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลง 20 Bps YoY และลดลง 6 Bps QoQ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงและการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้
สรุปกำไรสุทธิ 3Q63 ของธนาคารพาณิชย์
- BBL รายงานกำไรสุทธิที่ 4.02 พันล้านบาท ลดลง 57% YoY และเพิ่มขึ้น 30% QoQ
- KTB รายงานกำไรสุทธิที่ 3.06 พันล้านบาท ลดลง 52% YoY และลดลง 20% QoQ
- SCB รายงานกำไรสุทธิที่ 4.64 พันล้านบาท ลดลง 69% YoY และลดลง 44% QoQ
- KBANK รายงานกำไรสุทธิที่ 6.68 พันล้านบาท ลดลง 33% YoY และเพิ่มขึ้น 207% QoQ
- BAY รายงานกำไรสุทธิที่ 6.11 พันล้านบาท ลดลง 7% YoY และลดลง 6% QoQ
- TMB รายงานกำไรสุทธิที่ 1.62 พันล้านบาท ลดลง 23% YoY และลดลง 48% QoQ
- TISCO รายงานกำไรสุทธิที่ 1.61 พันล้านบาท ลดลง 14% YoY และเพิ่มขึ้น 21% QoQ
- KKP รายงานกำไรสุทธิที่ 1.35 พันล้านบาท ลดลง 16% YoY และเพิ่มขึ้น 14% QoQ
- LHFG รายงานกำไรสุทธิที่ 1.35 พันล้านบาท ลดลง 32% YoY และเพิ่มขึ้น 4% QoQ
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่เริ่มประกาศผลประกอบการ 3Q63 ของกลุ่มธนาคารจนถึงปัจจุบัน (2 สัปดาห์ที่ผ่านมา) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลง 2.56% โดยราคาหุ้น LHFG ลดลง 6.74% สู่ระดับ 0.83 บาท, TMB ลดลง 4.65% สู่ระดับ 0.82 บาท, KTB ลดลง 4.47% สู่ระดับ 8.55 บาท, SCB ลดลง 3.0% สู่ระดับ 64.75 บาท, BBL ลดลง 2.60% สู่ระดับ 93.75 บาท, KBANK ลดลง 0.67% สู่ระดับ 74.50 บาท, KKP เพิ่มขึ้น 1.33% สู่ระดับ 38.00 บาท, TISCO เพิ่มขึ้น 2.55% สู่ระดับ 70.25 บาท (ราคาปิดล่าสุดวันที่ 26 ตุลาคม 2563)
มุมมองระยะสั้น:
สำหรับแนวโน้มกำไร ไตรมาส 4 ปี 2563 ของกลุ่มธนาคาร SCBS คาดว่าจะยังคงปรับตัวลง QoQ ซึ่งเกิดจากการตั้งสำรองที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกราย (ซึ่งสิ้นสุดแล้ววันที่ 22 ตุลาคม) แต่อนุญาตให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เชิงรุกเป็นรายกรณี รวมถึงอนุญาตให้ผ่อนปรนการจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่สามารถชำระหนี้ (แต่ต้องอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างหนี้) ได้จนถึงสิ้นปี 2563 และอนุญาตให้ขยายการพักชำระหนี้ออกไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 สำหรับลูกหนี้บางรายที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ในระดับปกติ
มุมมองระยะยาว:
ด้านแนวโน้มกำไรในปี 2564 ของกลุ่มธนาคาร SCBS คาดว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของการตั้งสำรองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ Credit Cost จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 สำหรับแนวโน้มกำไรในปี 2565 จะเริ่มเห็นการเติบโตระดับปานกลางที่ 16% จากการตั้งสำรองที่ลดลง แต่จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะลดลงเพราะอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับขึ้น 23 bps สู่ระดับปกติที่ 0.46% โดย SCBS คาดว่าในปี 2566 ที่ทิศทางกำไรของกลุ่มธนาคารจะสามารถฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการตั้งสำรองที่ลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า