×

‘36 ปี’ ซิตี้แบงก์กับธุรกิจรายย่อย เมื่อแม่สั่งขาย แล้วใครจะรับซื้อต่อ?

16.04.2021
  • LOADING...
‘36 ปี’ ซิติ้แบงก์กับธุรกิจรายย่อย เมื่อแม่สั่งขาย แล้วใครจะรับซื้อต่อ?

ข่าวใหญ่ของวงการธนาคารพาณิชย์ในวันนี้คงหนีไม่พ้น Citigroup ที่จะปรับทัพธุรกิจใหม่ และจะขายธุรกิจ Consumer Banking ถึง 13 ประเทศในยุโรป เอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ก็ทำให้ ‘ซิตี้แบงก์’ ในไทยต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

ด้าน เจน เฟรเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Citigroup ระบุว่า แม้ว่าจะติดสินใจขายธุรกิจ Consumer Banking ใน 13 ประเทศ ซึ่ง​อยู่ระหว่างหาผู้ที่ต้องการซื้อกิจการในแต่ละประเทศ และจะให้ความสำคัญกับธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) มากขึ้น โดยคาดว่าจะให้บริการกลุ่ม Wealth อย่างต่อเนื่อง โดยโฟกัสใน Wealth Centers 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลอนดอน

 

ไตรมาส 1/64 Citigroup มีรายได้จากธุรกิจในเอเชีย 4,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าสร้างรายได้รองจากอเมริกาเหนือที่อยู่ราว 9,326 ล้านดอลลาร์ (ลดลง 8%YoY)

 

อย่างไรก็ตาม การปรับพอร์ตโดยตัดขายธุรกิจบางส่วนของธุรกิจธนาคารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปี 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประกาศขายและโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) ให้ธนาคารทิสโก้ ประมาณ 200,000 บัญชี โดยสินทรัพย์ที่รับโอนมาอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงการรับโอนสาขาธนาคารและพนักงานราว 300 คน

 

ทว่าในเดือนมีนาคม 2561 ทางธนาคารทิสโก้ก็โอนขายพอร์ตสินเชื่อบางส่วน ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจบัตรเครดิตให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ โดยระบุว่ามีการโอนขายจำนวนลูกค้า 132,000 ราย มูลค่าของสินเชื่ออยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท โดยทิสโก้ระบุว่า การขายนี้เพื่อให้ตอบโจทย์กลยุทธ์ระยะยาวของทิสโก้ที่จะเน้นสินเชื่อมีหลักประกันเป็นหลัก

 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาดู ‘ดีลใหญ่’ ของซิตี้แบงก์ ที่จะขายพอร์ตสินเชื่อในไทยนี้ ทาง บล.เคทีบีเอสที ประเมินว่า เมื่อซิตี้จะออกจากธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan บัตรกดเงินสด) ถือเป็นพอร์ตใหญ่ของธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นการขายสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจ เช่น กลุ่มธนาคาร โดยมองว่าน่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะอาจต่อยอดไปลูกค้ากลุ่ม Wealth ได้

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบันมองว่า ธนาคารที่มีศักยภาพในการ ‘ซื้อ’ พอร์ตของซิตี้แบงก์ได้มากที่สุดคือ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ เพราะมีเงินสดเหลืออยู่หลังจากการขาย บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life)

อย่างไรก็ตาม ในตลาดยังมองถึงธนาคารขนาดใหญ่ในต่างประเทศอาจเข้ามามีส่วนในดีลนี้ ขณะที่ผลต่อลูกค้าของซิตี้ น่าจะเห็นโอกาสที่ย้ายไปสมัครบริการบริษัทบัตรเครดิตหรือสินเชื่ออื่นๆ เช่น KTC และ AEONTS ซึ่งอาจมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น

 

สุดท้ายนี้ หากย้อนดูเส้นทางธุรกิจของ ‘ซิตี้แบงก์’ ในประเทศไทย พบว่า Citi เข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อในไทยตั้งแต่ปี 2510 แต่ยกระดับขึ้นเป็นธนาคารหลังการเข้าซื้อกิจการจาก ‘ธนาคาร Mercantile สาขาประเทศไทย’ ในปี 2527 และปี 2528 จึงเริ่มให้บริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย ถึงปัจจุบันที่มีไลเซนซ์สาขาธนาคารในไทยกว่า 36 ปีแล้ว แต่เส้นทางของซิตี้แบงก์จะปรับไปทางใด ยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising