การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ให้การรับรอง และลงนามในเอกสารสำคัญ ซึ่งจะกำหนดแนวทางการดำเนินการของประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคตจำนวน 17 ฉบับ โดยสามารถสรุป 10 ประเด็นความสำเร็จที่สำคัญได้ดังนี้
1. วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Vision Statement on Partnership for Sustainability) เพื่อเป็นการยืนยันว่า ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญอย่างยิ่งของการเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยมีประชาชนอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางในการวางแนวทางในการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับทุกภาคส่วน และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์โลก ตรงตามแนวคิดหลักที่ประเทศไทยวางไว้เป็นแนวทางในการจัดการประชุมอาเซียนในทุกมิติ และในทุกระดับที่ว่า ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnerships for Sustainability)’
2. แถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 หรือ Chairman’s Statement of the 34th ASEAN Summit ซึ่งเป็นการประมวลสรุปภาพรวมของการเจรจาในทุกมิติ และทุกระดับของการประชุมของประชาคมอาเซียนตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตลอดทั้งปี 2562 การประชุมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในทุกมิติและในทุกระดับ จะมีจำนวนครั้งของการประชุมมากกว่า 200 ครั้ง โดยจะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคและแทบจะในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยนับจนถึงเดือนมิถุนายน การประชุมได้เกิดขึ้นไปกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนการประชุมทั้งหมดแล้ว
3. เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก (ASEAN Indo-Pacific Outlook) เพื่อเป็นการยืนยันท่าทีที่ชัดเจนของประชาคมอาเซียน ท่ามกลางการขยายอิทธิพลทั้งในมิติเศรษฐกิจ และความมั่นคงเข้ามาในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ประชาคมอาเซียนกำหนดท่าทีอย่างชัดเจนในการพิทักษ์ผลประโยชน์ของอาเซียนและประเทศสมาชิก โดยยืนยันหลักการสำคัญในการวางตำแหน่ง อาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในระดับภูมิภาค ผ่านสถาปัตยกรรมที่อาเซียนได้สร้างสรรค์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเวที East Asia Summit ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับอีก 8 คู่เจรจาหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เวทีด้านความมั่นคง อันได้แก่ ASEAN Regional Forum ระหว่างอาเซียนกับอีก 17 ประเทศทั่วโลก ASEAN Defence Minister Meeting-Plus (ADMM-Plus) และเวทีในระดับภูมิภาคอื่นๆ
ซึ่งเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ที่ได้รับการลงนามโดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทย ในการเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ เพราะในร่างฉบับแรกของเอกสารนี้ ยังคงมีสมาชิกบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดท่าทีในแนวทางดังกล่าว แต่ในที่สุดด้วยการทำงานอย่างหนักของฝ่ายไทยในฐานะประธานในที่ประชุม ก็ทำให้ในที่สุดประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สามารถบรรลุผลสำเร็จในการกำหนดท่าทีร่วมกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจที่มีพลวัตยิ่งได้
4. อีกมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นการกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของไทยและอาเซียนในประชาคมโลก ที่กำลังซัดส่ายด้วยภาวะสงครามการค้า และแนวคิดการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน จนทำให้ทุกฝ่ายเสียประโยชน์ การประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN+6 (Special ASEAN Economic Ministers’ Meeting on RCEP) รัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้ง 10 ประเทศได้กำหนดท่าทีชัดเจนในการเร่งผลักดันให้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกฉบับนี้ ที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก รวมทั้งมีอัตราการขยายตัวที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่องเกินกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ต้องสำเร็จลุล่วงให้ได้ภายในปีนี้ โดยท่าทีของประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการเจรจาก็จะถูกส่งต่อไปยังคู่เจรจาอีก 6 ประเทศอันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
โดยความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจาคือ ทุกฝ่ายสามารถหาข้อสรุปได้แล้วใน 7 ข้อบทจากทั้งหมด 20 ข้อบท และในอีก 13 ข้อบทที่ยังต้องเจรจากันต่อไป ก็มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ ในทุกข้อบท และได้เห็นท่าทีที่ดีขึ้นจากประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาร่วมเจรจา รวมทั้งประเทศไทยในฐานะประธานการเจรจาก็มีการกำหนดแผนการทำงาน (Work Plan 2019) อย่างชัดเจน โดยกำหนดเป้าหมายในทุกครั้งที่มีการเจรจา และเพิ่มจำนวนครั้งในการเจรจาให้ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเกิดขึ้นทุกเดือน และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะเกิดการตัดสินใจมีจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้นจากปีละครั้ง เป็นการประชุม 4 ครั้งตลอดปี 2019
ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลง RCEP และมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิกจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการยืนยันกับประชาคมโลกว่า อาเซียนและคู่เจรจายังคงสนับสนุนและต้องการเดินหน้าแนวคิดการค้าที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรมสำหรับทุกประเทศทั่วโลก
5. ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล และกรอบปฏิบัติการ (Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region และ ASEAN Framework of Action on Marine Debris) เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีความยาวชายฝั่งรวมกันเป็นระยะทางยาวที่สุดในโลก มหาสมุทรเป็นทั้งแหล่งก่อกำเนิดวัฒนธรรม กำหนดแนวทางการพัฒนาทางสังคม และเป็นแหล่งรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ก็มีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับมหาสมุทร ดังนั้นการร่วมกันดูแลท้องทะเลของอาเซียนให้ปราศจากขยะทะเล จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะปัญหาขยะทะเลโดยเฉพาะขยะที่มีขนาดเล็กในระดับที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็น กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกประเทศสมาชิก เพราะเป็นปัญหาที่มีลักษณะข้ามพรมแดนโดยธรรมชาติของตัวปัญหา ดังนั้นการวางแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของอาเซียนร่วมกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งและตรงตามแนวคิดหลัก ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน
6. แถลงการณ์เชียงใหม่ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ที่ว่ามาตรการตอบโต้การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (Chiang Mai Statement of ASEAN Ministers Responsible for CITES and Wildlife Enforcement on Illegal Wildlife Trade) นอกจากปัญหาขยะทะเลแล้ว อาเซียนก็ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายด้วย เพราะภูมิภาคอาเซียนคือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มากที่สุดในโลก
7. ในมิติสังคมวัฒนธรรม ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year) มีการเปิดตัวศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Center) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป คณะศิลปินอาเซียน 10 ประเทศจะเริ่มต้นการเดินทางทั่วโลก เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ เก่าแก่ สวยงาม และเป็นภูมิปัญญาอาเซียน
8. ในเรื่องของการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอาเซียนให้ทันท่วงที ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน เปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) ซึ่งตั้งอยู่ ณ จังหวัดชัยนาท และศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine: ACMM)
9. ในมิติของคนทำงานในอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของอาเซียนได้มีแถลงการณ์ร่วมกันใน 2 เรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน: การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม (ASEAN Labour Minister’s Statement on the Future of Work: Embracing Technology for Inclusive and Sustainable Growth) และถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 108 (ASEAN Labour Ministers’ Joint Statement on Green Initiative to the 108th International Labour Conference)
10. การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีของประวัติศาสตร์อาเซียนที่ตลอดทั้งปี ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะนำแนวคิดเรื่องการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวคิดหลักในการจัดการประชุม (Green Meeting) ซึ่งวางอยู่ 5 หลักการสำคัญคือ 1) Green Venue ที่เริ่มจากการคัดเลือกสถานที่จัดประชุมที่มีมาตรฐานสูงทางด้านสิ่งแวดล้อม สามารถเดินทางเข้าถึงได้อย่างสะดวกด้วยระบบขนส่งมวลชน 2) Green Documents โดยการลดการใช้กระดาษในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกจดหมายเชิญ เอกสารประกอบการประชุม ที่เน้นการใช้ไฟล์ดิจิทัล และการส่งคืนเอกสารกระดาษเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม 3) Green Arrangement โดยการออกแบบประดับตกแต่งสถานที่ทั้งหมดเป็นวัสดุรีไซเคิล และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการใช้สถานที่การประชุมที่มีมาตรฐานสูงในการประหยัดพลังงาน 4) Green Catering การจัดเตรียมอาหารโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เตรียมอาหารในปริมาณที่พอดีไม่เหลือทิ้ง การเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 5) Carbon Footprint กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะถูกจดบันทึกคำนวณค่าคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม และต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนของก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยในระหว่างการประชุม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์