การเดินทางคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง และในประเทศไทย หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนหลักก็คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ที่ปีนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 32 ของการดำเนินงาน
ภารกิจของ รฟม. คือการพัฒนาและขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง ยกระดับการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้แก่คนเมือง ปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าในการกำกับดูแลที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) รวมถึงรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และสายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาคารจอดรถ และจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รฟม. ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและกำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตอีกหลายสาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571
และอีกหนึ่งในโครงการที่น่าจับตามองของ รฟม. ในขณะนี้ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้วงเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นตัวแปรสำคัญที่จะพลิกโฉมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ หรือ New CBD
เชื่อมโยงพื้นที่สำคัญต่างๆ และมีความโดดเด่นด้วยเส้นทางที่พาดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าในแนวตะวันตก-ตะวันออก วิ่งทั้งแบบยกระดับและลอดใต้ดิน/ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นรถไฟฟ้าและโครงการในอนาคตที่สำคัญ โดยจะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางหนักที่มีศักยภาพในการขนส่งผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะทางรางของคนเมือง
โดย รฟม. ได้แบ่งการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่ง รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานเร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในปี 2571
ระยะที่ 2 การดำเนินงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการสำรวจสาธารณูปโภคต่างๆ
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก จะควบคู่งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า งานให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทางของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการทั้งเส้นทางได้ในปี 2573
รฟม. ยังมีแผนขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Go Green Grow Together ทุกการเติบโตอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการเดินทาง ควบคู่ไปกับการดำเนินงาน
ด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านกระบวนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Construction โดย รฟม. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม โดยเริ่มใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ก่อนเป็นโครงการแรก เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด (Green Transportation) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างสังคมสีเขียว (Green Society) ที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน