วันนี้ (22 สิงหาคม) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาโดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งในวันนี้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย
ที่ประชุมเริ่มเข้าสู่กระบวนการโหวตให้ความเห็นชอบ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ตั้งเวลา 15.00 น. จากจำนวนสมาชิกผู้ลงมติทั้งสิ้น 747 คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 498 คน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 249 คน โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้ ‘เศรษฐา’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สำหรับบรรยากาศก่อนการโหวตนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายและแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของ เศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างกว้างขวาง และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส. จังหวัดน่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวอภิปรายสรุปปิดท้ายก่อนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี
นพ.ชลน่าน กล่าวยืนยันถึงคุณสมบัติของเศรษฐาว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามอย่างถี่ถ้วน ข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี หรือแม้แต่การตั้งนอมินีรองรับการซื้อที่ดิน แต่เรื่องดังกล่าวไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า เศรษฐามีความไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีเพียงข้อกล่าวหาที่โน้มเอียง ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้
ส่วนข้อกังวลเรื่องพฤติกรรม อุดมการณ์ หรือจุดยืนทางการเมืองนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับฟังทุกเสียง และยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะระบบรัฐสภา สส. ทุกคนต่างมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านมาแน่นอนว่ามีการแบ่งแยกแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษนิยม ตลอด 2 ทศวรรษ โดยที่พรรคเพื่อไทยอาสาเข้ามาสลายความขัดแย้ง จัดตั้งรัฐบาลจากร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลที่มาจากพี่น้องประชาชน และการลงคะแนนเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำปัญหาเรื่องการเห็นต่างเพื่อหันหน้าเข้าหากันและทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสและความหวังที่ดีของประชาชนให้มากที่สุด
ช่วงหนึ่งของการลงคะแนนมีการพักการประชุม เนื่องจากพบว่ามี สส. จากพรรคก้าวไกลเกิดเป็นอาการเป็นลม หมดสติจนแพทย์ต้องช่วยกันปฐมพยาบาล ก่อนที่นำส่งโรงพยาบาล จากนั้นจึงกลับมาลงคะแนนจนแล้วเสร็จ
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ถูกจับตามองคือ การลงคะแนนของ สส. พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมติพรรคระบุว่า ให้งดออกเสียงให้กับเศรษฐา แต่พบว่าในช่วงท้ายของการโหวตนั้น สส. จากพรรคประชาธิปัตย์อย่างน้อย 15 คนได้โหวตเห็นชอบ ซึ่งถือว่าเป็นการสวนมติพรรค เช่น 1. เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา, 2. ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส. สงขลา 3. ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช, 4. พิทักษ์เดช เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช, 5. ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สส. นครศรีธรรมราช, 6. จักรพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส. ประจวบคีรีขันธ์, 7. สุพัชรี ธรรมเพชร สส. พัทลุง, 8. กาญจน์ ตั้งปอง สส. ตรัง, 9. สมบัติ ยะสินธุ์ สส. แม่ฮ่องสอน, 10. สุภาพร กำเนิดผล สส. สงขลา, 11. วุฒิพงษ์ นามบุตร สส. อุบลราชธานี, 12. ชาตรี หล้าพรหม สส. สกลนคร, 13. ทรงศักดิ์ มุสิกอง สส. นครศรีธรรมราช, 14. จักรพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส. ประจวบคีรีขันธ์