วันนี้ (14 กรกฎาคม) ประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นต่อกรณีการเสนอชื่อสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ว่า กรณีชื่อของพิธานั้นจบแล้ว เพราะพิธาได้เสียงเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสองสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงทำให้ญัตติดังกล่าวเป็นอันตกไป ดังนั้นกรณีจะเสนอชื่อพิธาให้โหวตอีกครั้งนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่าทำไม่ได้ เพราะญัตติตกไป ถือว่าจบแล้ว
ประพันธ์กล่าวด้วยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ไม่มีการลงมติหรือประธานสภาอนุญาต เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นหากจะนำญัตติเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีกลับมาอีกในสมัยประชุมปัจจุบัน ต้องมีเหตุเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 272 วรรค 2 เท่านั้น
ประพันธ์ขยายความมาตรา 272 วรรค 2 ว่า ตามหลักการหากโหวตครั้งแรกไม่สามารถได้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้มีการลงคะแนนใหม่เองได้ ต้องให้สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาตามมาตรา 272 วรรค 2 เท่านั้น และต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา หรือ 500 เสียง จึงจะทำให้พิธา ในฐานะผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกรัฐมนตรีกลับมาเสนอได้อีก หากดำเนินการใดๆ นอกจากแนวทางนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่เปิดช่องทางอื่นให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกเสนอชื่อกลับมาให้รัฐสภาโหวตโดยง่าย หรือโหวตเลือกพิธาซ้ำซากไปเรื่อยๆ เหมือนนักกฎหมายหรือพวกกุนซือสมองทื่อเสนอให้โหวตไปเรื่อยๆ จนสิ้นวาระของวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลและพิธาควรให้การศึกษาพวกด้อมส้มให้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย” ประพันธ์กล่าว
ประพันธ์กล่าวต่อว่า หากในระหว่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเสนอชื่อพิธาให้รัฐสภาพิจารณา ดังนั้นจึงไม่ควรไปปลุกให้ความหวังพวกด้อมส้มแบบผิดๆ ควรยอมรับและเคารพมติโดยชอบของรัฐสภา หยุดปลุกมวลชนเพื่อสร้างปัญหาให้บ้านเมือง เพราะความดื้อรั้นมีแต่เกิดหายนะกับตนเอง