วันนี้ (14 กรกฎาคม) ที่พรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกครั้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว พรรคเพื่อไทยได้ยื่นการแก้ไขในมาตรานี้มา 2 ครั้งแล้ว และไม่ผ่านการพิจารณาของสภา เพราะฉะนั้นการที่พรรคก้าวไกลได้เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา ต้องเข้าใจว่าเป็นการทลายกำแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มีการโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ เพราะ ส.ว. ได้ตั้งกำแพงเรื่องมาตรา 112 เอาไว้ ฉะนั้นทางก้าวไกลอยากจะหยิบยกประเด็นนี้เพื่อที่จะให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องเฉพาะของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
เมื่อถามถึงการหารือกับพรรคก้าวไกลวันนี้ ประเสริฐเปิดเผยว่า การหารือร่วมพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มีการนัดหมายในเวลา 17.00 น. ซึ่งจะมีการพูดคุยในแนวทางเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เมื่อสักครู่ได้สอบถามไปยังประธานสภาว่า จะเป็นวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะพูดคุยกันภายในก่อน เพื่อนำข้อเสนอของเพื่อไทยไปหารือกับก้าวไกลอีกครั้ง
เมื่อถามว่า จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในสมัยนี้ได้เลยหรือไม่ ประเสริฐกล่าวว่า ถ้าทำได้เป็นเรื่องดี แต่ข้อเท็จจริงการแก้ไขมาตรา 272 ต้องใช้เสียงของรัฐสภาเกินกว่าครึ่งหนึ่ง และในกลุ่มหนึ่งนั้นต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 84 เสียงด้วย ซึ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยดำเนินการมาแล้ว ไม่ง่าย ไม่เคยได้เสียงของสมาชิกวุฒิสภา ครั้งนี้ยังก็เชื่อว่า ส.ว. จะตั้งกำแพงสูงในเรื่องนี้
ส่วน 13 เสียงที่ ส.ว. โหวตให้พิธา เมื่อมีการโหวตครั้งที่ 2 เชื่อหรือไม่ว่าจะยังคงโหวตให้ ประเสริฐเชื่อว่า ส.ว. ทั้ง 13 คน น่าจะยังอยู่ และจะโหวตให้ในรอบ 2 ซึ่งคงมีความตั้งใจและเจตนาที่มองการเมืองอีกมุมหนึ่ง
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยต้องออกแรงเพื่อให้ได้เสียง ส.ว. เพิ่มเติมหรือไม่ ประเสริฐกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าก้าวไกลพยายามทำเต็มที่แล้ว เพราะฉะนั้นขอคุยกับทางก้าวไกลก่อนว่าวันนี้แนวทางจะเป็นอย่างไร และหากไม่มีข้อมูลใหม่หรือไม่มีอะไรเพิ่มเติม การโหวตในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้คงจะใกล้เคียงกับการโหวตวันที่ 13 กรกฎาคม
เมื่อถามว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 จะมีการปรับท่าทีเพื่อให้ได้เสียงมากขึ้นหรือไม่ ประเสริฐไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะพูดแทนก้าวไกลไม่ได้ และทางพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ก้าวไกลต้องคิดเอง ตอบแทนไม่ได้ ซึ่งวันนี้การพูดคุยกับพรรคก้าวไกลจะคุยในหลายประเด็น และคิดว่าพรรคก้าวไกลรู้โจทก์แล้ว โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 112
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าอาจจะมีการเสนอชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐเข้ามาแข่ง ประเสริฐระบุว่า เป็นเรื่องที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะต้องนำมาประเมินร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีความเคลื่อนไหวในการรวบรวมเสียงอยู่ จึงประมาทไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน หลังจากที่สองพรรคได้คุยกันก็จะต้องหารือใน 8 พรรคอีกครั้ง
เมื่อถามว่า การเสนอรอบสองยังคงเป็นชื่อของพิธาคนเดียวหรือไม่ หรือมีการเตรียมมุมอื่นไว้อีก ประเสริฐกล่าวว่า ขอให้ได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ก่อน ส่วนจะต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นเพื่อเป็นทางรอดให้กับ 8 พรรคร่วมหรือไม่ ขอให้พูดคุยกับพรรคก้าวไกลก่อน ยังเร็วเกินไปที่จะแสดงความเห็น
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำจะไปขัดกับข้อบังคับการประชุม ประเสริฐกล่าวว่า หากดูข้อบังคับดีๆ จะมีข้อท้ายที่ระบุว่าเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาในการวินิจฉัย หากการเสนอญัตตินั้นมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป ตนเชื่อว่าอำนาจประธานชี้ได้ ไม่น่าเป็นอุปสรรค การเสนอชื่อพิธาซ้ำได้หรือไม่นั้น ถือเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภา
เมื่อถามถึงกรณีที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ในลักษณะที่ว่า พรรคก้าวไกลควรไปเป็นฝ่ายค้าน มีนัยอะไรหรือไม่ ประเสริฐกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นและส่งผลต่อพรรคก้าวไกล ดังนั้น คำพูดของปิยบุตรก็ควรที่จะรับฟัง แต่เขาก็ไม่ได้อยู่ในพรรคก้าวไกล ถ้าจะให้แน่นอนต้องฟังความคิดเห็นของหัวหน้า เลขาฯ และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไร หากพรรคก้าวไกลยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้าน ประเสริฐกล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่มีแผน 2 แต่ทุกความเห็นที่เกิดขึ้นตอนนี้ต้องนำไปหารือกับพรรคก้าวไกล และต้องแจ้งกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
เมื่อถามว่า ส.ว. ติดใจเรื่องมาตรา 112 ซึ่งไม่มีใน MOU พรรคก้าวไกลจะไปดำเนินการของเขาเอง เรื่องนี้กังวลหรือไม่ ประเสริฐกล่าวว่า MOU มี 2 ฉบับ แบบ 2 พรรคกับ 8 พรรค แบบ 8 พรรค เท่าที่จำได้คือหากเป็นเรื่องที่นอกเหนือจาก MOU ให้ถือว่าเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลที่จะไปเสนอเอง ไม่เกี่ยวกับ 8 พรรค เป็นเรื่องเฉพาะที่พรรคก้าวไกลจะไปดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับพรรคอื่น พรรคอื่นจะขอสงวนสิทธิ์ไม่ร่วมด้วย ก่อนจะย้ำว่า กำแพงที่พรรคก้าวไกลต้องข้ามให้ได้คือ มาตรา 112 เพราะ ส.ว. และพรรคเสียงข้างน้อยก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน พรรคก้าวไกลต้องกลับไปทำการบ้าน