×

ชัยธวัชขอบคุณ ส.ว. คำนูณ เข้าใจ-เคารพการแก้ ม.112 ยืนยันต้องเดินหน้าต่อ เชื่อไม่ขัด รธน.

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2023
  • LOADING...
ชัยธวัช ตุลาธน

วันนี้ (13 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปราย 

 

ระบุว่า ก่อนอื่นต้องขอโทษสมาชิกทุกท่านในที่ประชุม ตนตั้งใจไว้ว่าจะอภิปรายเพียงครั้งเดียว แต่เนื่องจากมีสมาชิกได้อภิปรายโดยละเอียดถึงร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ในสมัยประชุมที่แล้ว 2564 ซึ่งเป็นการลงรายละเอียดพอสมควร มีการตีความ อธิบายความ ซึ่งตนเองในฐานะเลขาธิการพรรค มองว่าถ้าไม่มีการอธิบายในอีกด้านหนึ่ง จะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง

 

ประการแรกตนขอเอ่ยถึง คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขอบคุณที่เข้าอกเข้าใจ และไม่ได้ระบุว่าการเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้นมีเจตนามุ่งร้าย แต่เป็นความคิดเห็นในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ถือว่าท่านเคารพแนวทางของพวกเรา เพียงแต่ไม่เห็นด้วยและได้อภิปรายโต้แย้งมาว่าแนวทางแก้ไขปัญหาของพรรคก้าวไกลนั้นมีปัญหา

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า พวกตนคาดหวังว่าหากมีการเสนอแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ควรจะมีบรรยากาศเช่นนี้ในสภา และเราสามารถใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาหาข้อยุติตามกระบวนการประชาธิปไตยได้

 

ประการที่ตนอยากจะพูดถึง เรื่องแรกคือการตั้งคำถามว่า ทำไมพรรคก้าวไกลถึงลุกได้แต่ถอยไม่เป็น ในกรณีนี้เหตุผลที่เราลุกได้แต่ถอยไม่เป็นมาจากความคิดความเข้าใจสถานการณ์ที่มีการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 253 คนจาก 272 คดี เราไม่เคยเห็นการเกิดปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ในสถานการณ์เช่นนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ถึงได้หารือกันว่าเราในฐานะผู้แทนราษฎรจะทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ตนเองถูกโจมตีทางการเมือง หรือใช้สถานะการเป็นผู้แทนราษฎรกล้าหาญที่จะเสนอหลักการหลักคิดที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก่อนที่จะเป็นระเบิดทางการเมืองในอนาคต ที่มาที่ไปของการเดินหน้าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องสนุก 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า เรามีความสำนึกว่าถ้าเมื่อไรเกิดปัญหาขึ้นในสังคม แล้วผู้แทนราษฎรทำเป็นมองไม่เห็น เราอธิบายตนเองไม่ได้ว่าเรายังมีมโนธรรมสำนึกในฐานะผู้แทนราษฎรอยู่ได้อย่างไร

 

เมื่อท่านสมาชิกตั้งคำถามกับข้อเสนอของเราว่าถ้าพรรคเสนอให้มีการลดโทษ ยกเว้น เลิกโทษจำคุก ฐานความผิดหมิ่นประมาทอื่นๆ ทั้งหมด ต่อองค์พระมหากษัตริย์ราชินีและรัชทายาทจะเกิดปัญหา ความวุ่นวายในสังคมเต็มไปหมดหรือไม่ และตั้งคำถามว่านี่หรือคือหน้าตาของสังคมใหม่ที่คนรุ่นใหม่อย่างพวกตนอยากเห็น

 

ตนอยากจะอธิบายว่า มันไม่ใช่สังคมใหม่อันวุ่นวาย ที่จริงแล้วข้อเสนอนี้มาจากหลักการสากลในปัจจุบันในนานาอารยประเทศ เนื้อหาใจความสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายในสมัยประชุมที่แล้ว (2564) เป็นไปเพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อให้ได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

 

ท่านคำนูณได้ตั้งคำถามว่าการเสนอให้มีการยกเว้นความผิดบทยกเว้นโทษในกรณีฐานหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์นั้นเกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น ทั้งรุ่นของท่านและก่อนหน้าท่าน ตนจำเป็นต้องอธิบายเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า ถ้าท่านใดที่มีอายุย้อนหลังไปก่อนปี 2499 คือก่อนจะมีประมวลกฎหมายอาญาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน จะทราบเรื่องนี้ดีเมื่อปี 2476 เราได้ปรับปรุงกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

ประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขในปี 2478 มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมมาตรา 104 ให้มีบทยกเว้นความผิดต่อรัฐบาลรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วยในข้อหาหมิ่นประมาท

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า พวกเราไม่ได้เสนอร่างกฎหมายที่เป็นอะไรใหม่พิสดารแต่มันถูกอธิบายตีความซะดูน่ากลัวเกินจริงเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ตนเลยจำเป็นต้องมาอธิบาย

 

ทั้งนี้เรื่องมาตรา 112 มักถูกโยงไปหามาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ โดยมีการระบุว่าหากมีการยกเว้นความผิดแบบนี้แล้วจะทำให้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ต้องเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้กระทบกับมาตรานี้ ตนอยากจะอธิบายว่า

 

โดยข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์กฎหมายเรา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา ที่มีการกำหนดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ และมีบทยกเว้นความผิดไว้ในมาตรา 104 ที่บังคับใช้ตอนปี 2478 ในขณะนั้นเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีมาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า

 

องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ นั่นหมายความว่าประเทศมีกฎหมายอาญาที่มีฐานความผิดระบุโทษ ฉะนั้นร่างแก้กฎหมายนี้จึงไม่ได้เป็นการขัดแย้งหรือไปกระทบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่อย่างใด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X