วันนี้ (2 กันยายน) มีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลในชื่อ ‘กลุ่มทำทาง’ ได้ตั้งแคมเปญผ่านเว็บไซต์ Change.org ในหัวข้อ ‘ยกเลิกความผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง กฎหมายอาญามาตรา 301 Decriminalize abortion Now!’ พร้อมระบุเหตุผลของแคมเปญว่า
“ตัวกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ไม่ว่ากรณีใดๆ มีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
“ทางผู้จัดแคมเปญมองว่า มาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มองไม่เห็นสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เป็นการซ้ำเติมผู้หญิงในทุกกรณี ทั้งๆ ที่การท้องนั้นเกิดจากทั้งหญิงและชายร่วมกัน และการตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีลูกตอนไหน เป็นสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นสิ่งที่พวกเธอควรเลือกได้เอง
“นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังการแท้งของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 พบว่าผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง 60% ทำด้วยเหตุผลทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะ 40% ทำด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย กฎหมายที่กำลังแก้จึงควรคำนึงถึงความจริงนี้ด้วย การทำแท้งจึงอาจเป็นทางเลือกของครอบครัวที่ลำบากอยู่แล้ว ไม่ให้ลำบากไปกว่านี้
“หากกฎหมายเอื้อ หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะสามารถประชาสัมพันธ์ และขยายบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยให้ครอบคลุมได้มากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น ไม่ต้องหาข้อมูลแบบหลบๆ ซ่อนๆ และใช้เวลานานจนอายุครรภ์เพิ่ม อีกทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งอาการแทรกซ้อนอักเสบ ติดเชื้อ ที่อาจทำให้เสียชีวิตจากการพึ่งพาวิธีทำแท้งไม่ปลอดภัยหรือการทำแท้งที่ไม่สำเร็จ
“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน หรือมาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
“เราจึงกังวลมากว่าเสียงของผู้หญิงอาจถูกมองข้าม จากการที่กระบวนการนี้เป็นการตัดสินใจของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อใช้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมไปว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระมากเพียงใดจากการมีมดลูกติดตัวแต่เกิด และยังจะจำกัดให้ผู้หญิงทำแท้งได้ยากภายใต้เงื่อนไขมากมาย ทำให้การท้อง การแท้ง กลายเป็นโลกอีกใบที่ผู้หญิงต้องแบกรับต่อไปไม่สิ้นสุด
“ทำให้ขณะนี้ กฎหมายนี้กำลังถูกปรับแก้อยู่ชั้นกฤษฎีกา โดยในคณะฯ ไม่ได้มีเสียงของผู้หญิงที่เคยทำแท้ง หรือหมอที่ยินดีให้บริการทำแท้งปลอดภัยให้กับผู้หญิงร่วมด้วย อีกทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระหว่างวันที่ 13-28 สิงหาคม 2563 โดยไม่ประชาสัมพันธ์ ทำให้มีคนมาลงชื่อเพียง 6 คน และปิดการรับฟังความเห็นไปแล้ว
“แม้แต่ทางภาคประชาสังคมที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้ รวมถึงหมอในเครือข่าย RSA (เครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์) ก็ไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันดังกล่าว…กว่าจะรู้จากข่าวในสื่อ ก็เป็นวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ปิดไปแล้ว
“เราจึงอยากไปยื่นรายชื่อในวันที่ 3 กันยายนนี้ ให้กฤษฎีกาฟังอีกครั้งว่า เรามี 15,000 คน และ 60 องค์กร ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายยกเลิกความผิดผู้หญิงทำแท้ง โดยผู้ที่สนใจสนับสนุนสามารถร่วมแชร์ และลงชื่อผ่านลิงก์เว็บไซต์
แคมเปญ http://chng.it/fyXfYmnk”
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.50 น. มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้ว 16,004 คน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์