วันนี้ (27 กันยายน) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร
นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า’ ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้เกิดภาพมากมาย ตนได้ยินนโยบายนี้มาตั้งแต่อายุประมาณ 8-9 ปี ผ่านมาแล้วหลายสิบปีก็ยังมีคนขอบคุณและพูดถึงนโยบายนี้เสมอ แพทองธารกล่าวว่า “ขอยกตัวอย่าง ตอนนั้นคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) เป็นนายกรัฐมนตรีกลับมาที่บ้าน คุณพ่อเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ไปต่างจังหวัดแล้วมีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาหาและเปิดเสื้อ เขามีแผลยาวตั้งแต่ด้านบนจนถึงช่วงท้อง เขาบอกว่าได้ผ่าตัดหัวใจมาด้วยบัตร 30 บาท”
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า แต่เบื้องหลังการทำงานยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ทำให้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ รวมถึงให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ 30 บาท ไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องจ่ายเงินมากมายหรือกู้หนี้ยืมสิน เรามีความภูมิใจอย่างมากกับนโยบายที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างที่สุดให้กับเรา เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต่อยอด 30 บาทรักษาทุกโรคให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เวลาผ่านไปมีนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น เราได้เก็บตัวอย่างทั้งข้อดีและข้อเสียพร้อมปรับปรุง วันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 23 ปี 30 บาทรักษาทุกที่มาถึงกรุงเทพฯ แต่วันนี้ถือว่ากรุงเทพฯ ยังขาดแคลนเรื่องบริการสาธารณสุขระดับต้นและระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ควรมีศูนย์บริการสาธารณสุข 500 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง
ต่อไปนี้คนเจ็บป่วยเล็กน้อยในกรุงเทพฯ ก็สามารถไปร้านขายยาใกล้บ้าน คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน หรือคลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน รถโมบายล์ตรวจเลือดที่บางครั้งอาจจะมีการเข้าไปถึงชุมชน และเวลาขอเบิกยาก็สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ถามอาการได้ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพกลับบ้าน ไม่ต้องเสียเวลาที่โรงพยาบาล ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญคือลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลใหญ่ๆ เหมาะสำหรับโรคเฉพาะทางและโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ หรือไต
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนผู้เข้ารับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้อย่างมาก 30 บาทรักษาทุกที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยตอนแรกเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่องและขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมไปอีก 41 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 45 จังหวัด และวันเดียวกันนี้จะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้ว่า เราทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ, รัฐบาล, สภาวิชาชีพทางการแพทย์, หน่วยบริการภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทำให้กรุงเทพฯ อยู่ในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
“อยากขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจได้ว่าภายในปี 2567 รัฐบาลจะสามารถขยาย 30 บาทรักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลและขอย้ำอีกครั้ง สำหรับคนกรุงเทพฯ สามารถดูสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่และเข้าไปใช้บริการได้ทันที” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในนามของกรุงเทพมหานคร ดีใจที่รัฐบาลมาสานต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ กทม. มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 10 ล้านคนที่มีปัญหาสาธารณสุขและไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นนโยบายนี้สำคัญมากๆ เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาลและระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง
ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มีเป้าหมายยกระดับบริการสุขภาพเพื่อให้คนไทยได้รับบริการที่ดี รวมถึงมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งกรุงเทพฯ ถือเป็นจังหวัดที่ 46 ที่จะเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปีนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ การคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ทั้งที่หน่วยบริการประจำตามเขตและหน่วยบริการระดับปฐมภูมิทุกแห่ง
สำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ, คลินิกเวชกรรม, คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น, คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น, คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น, คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
จากนั้นนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบูธเกี่ยวกับสุขภาพภายในงาน โดยเน้นย้ำให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษในพื้นที่น้ำท่วม