แม้ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง (SMEs) จะมีทรัพยากรน้อยกว่าบริษัทใหญ่ แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้บริษัทเล็กมีโอกาสแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต และการเกิดขึ้นของเครื่องมือต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในการทำการตลาดให้ตรงจุด เป็นต้น
THE STANDARD WEALTH ได้สัมภาษณ์พิเศษ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและเทคโนโลยี ที่จะมาอัปเดตเทรนด์ อุปสรรค และสิ่งที่ SMEs ต้องประเมินให้ดี เพื่อเคลื่อนตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน
เทรนด์เทคโนโลยีที่จะกระทบกับ SMEs ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้มีดังนี้
- Cloud Technology จะมาช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ให้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง เพราะธุรกิจสามารถจ่ายค่าบริการเท่ากับจำนวนที่ใช้ ซึ่งในสมัยก่อน SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันการทำงานบางอย่างได้เพราะต้นทุนที่สูง เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า บริหารทรัพยากรบุคคล และบริหารโปรเจกต์ เป็นต้น แต่การมาคลาวด์ได้ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านั้นไปได้อย่างมีนัยสำคัญ
- Low-code / Robotics Process Automation หรือแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยลดการทำงาน Manual และเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงาน ซึ่ง SMEs สามารถใช้พัฒนาได้โดยไม่ต้องพึ่งความรู้การเขียนโค้ดมากเท่ากับในอดีต ตัวอย่างแอปพลิเคชัน เช่น การสร้างเอกสารอัตโนมัติ, การเลือกส่งส่วนลดให้ลูกค้าบางรายผ่านอีเมล/SMS แบบอัตโนมัติตามเงื่อนไขต่างๆ หรือการใช้แชตบอตเพื่อตอบข้อสงสัยลูกค้าเบื้องต้น
- Data Analytics / AI ที่เข้าถึงง่ายและใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน จะมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ หรือสร้างงานครีเอทีฟที่รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ไปแล้ว และในอนาคตบริษัทอย่าง Microsoft ก็มีแผนที่จะรวม AI เข้าไปในผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น ในมิติของการสร้างสไลด์พรีเซนต์งาน ที่จะสามารถเขียนคำสั่งกำหนดรูปแบบให้ AI สร้างขึ้นได้แทนที่การนั่งทำทีละหน้าแบบเดิม หรือการดึงข้อมูลออกมาเป็นแผนภาพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม SMEs บางกลุ่มก็ยังคงลังเลที่จะเปิดรับเทคโนโลยี โดยเหตุผลหลักๆ มาจากความพร้อมของคนภายในองค์กร เช่น ความเข้าใจยังไม่เพียงพอ หรือการลดความสำคัญของผลตอบแทนระยะยาวแลกด้วยผลประโยชน์หรือความจำเป็นในระยะสั้น
สาเหตุดังกล่าวเป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่มักจะพบได้ในธุรกิจ SMEs ซึ่งพชรมองว่าธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับแนวคิดและเปิดรับเทคโนโลยี เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันที่มีคู่แข่งต่างชาติมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สุดท้ายแล้วคนที่ไม่ยอมปรับอาจจะไม่ได้ไปต่อ “ถ้า Productivity เราเท่าเดิม ต้นทุนเราไม่ลด แข่งอย่างไรเราก็แพ้”
แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและมักมีอุปสรรคในช่วงแรก ดังนั้นก่อนที่ SMEs จะปรับใช้เทคโนโลยีอะไรก็ตามในธุรกิจของตน มี 3 คำถามที่ต้องถามตัวเองดังนี้
- จุดแข็ง-จุดอ่อนของธุรกิจคืออะไร? และเราจะสามารถปรับใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนได้บ้าง?
- จังหวะของการลงทุนในเทคโนโลยีนั้นๆ ที่ SMEs จะนำมาใช้ว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ควรรอให้เทคโนโลยีนิ่งก่อนหรือไม่ และต้องหาอะไรมาใช้แทนได้ก่อนระหว่างรอ? พูดอีกอย่างคือ การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- แผนรับมือความเปลี่ยนแปลง จากวิถีการทำงานแบบใหม่และแรงต้านในองค์กรที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นอย่างไร?
สุดท้ายแล้วเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดการต่อต้านบ้าง ซึ่งพชรเผยแนวทาง 3 วิธีในการรับมือและลดแรงต้าน เพื่อสร้างวัฒนธรรมให้ส่วนต่างๆ ขององค์กรเปิดใจรับเทคโนโลยีมากขึ้น
- การเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงาน เช่น การตั้งให้เป็นหนึ่งใน KPI หรือทำให้พนักงานรับรู้และได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี
- การสนับสนุนที่เพียงพอ เช่น การเตรียมความพร้อมในด้านความรู้กับพนักงานด้วยการอบรมและเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานและเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น
- การให้เหตุผลของการเปิดรับเทคโนโลยี และผลกระทบที่อาจเกิดหากไม่เปลี่ยน ต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าการเปลี่ยนไม่ใช่เพียงเพราะการอยู่รอดขององค์กร แต่หมายถึงความมั่นคงของพนักงานเองด้วย